xs
xsm
sm
md
lg

กะหล่ำสดปนน้ำพิษ จีนเร่งตรวจกันวุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลูกค้ากำลังเลือกผักตามแผงข้างถนนในมหานครเซี่ยงไฮ้ (2554) ขณะนี้เจ้าหน้าที่จีนกำลังตรวจสอบกรณีอื้อฉาวผักกะหล่ำฉีดสารฟอร์มาลดีไฮด์รักษาสภาพ (ภาพเอเอฟพี)
เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่จีน (8 พ.ค.) กำลังตรวจสอบเหตุผู้ขายผักฉีดพ่นสารฟอร์มาลดีไฮด์ซึ่งเป็นอันตรายต่อมนุษย์ ลงบนผักกะหล่ำ เพื่อให้สีสันสดใสรักษาสภาพผักไม่ให้เน่าไปตามกาล นับเป็นกรณีอื้อฉาวล่าสุดเกี่ยวกับความปลอดภัยในการบริโภคบนแดนมังกร

สื่อทั่วไปและออนไลน์เผยว่า กลุ่มผู้ทำธุรกิจปลูกผักรายใหญ่ในมณฑลซานตงหลาย 10 กลุ่มได้ใช้สารเคมีรักษาสภาพผักให้สดในช่วงการลำเลียงผักไปยังตลาด

สารฟอร์มาลดีไฮด์ โดยทั่วไปมักจะใช้ในการรักษาสภาพตัวอย่างในห้องทดลอง และใช้ดองศพ สารฯนี้หากกลืนกินเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เสียชีวิตได้ และถือเป็นสารก่อมะเร็งด้วย

เจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นคนหนึ่งยืนยันว่าเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นจริง และขณะนี้ภาครัฐฯได้เข้าไปตรวจสอบอยู่

“พวกเรากำลังตรวจสอบเรื่องนี้อยู่” เจ้าหน้าที่จากเมืองตงซย่าอันเป็นเขตพื้นที่แรกที่ค้นพบ ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี แต่ก็ไม่ได้เผยรายละเอียดอื่นใด

สำนักข่าวซินหวารายงานว่า การใช้สารฯ ฉีดผักให้สดนั้นกระทำกันกว้างขวางในมณฑลซานตงและมณฑลใกล้เคียงอย่างเหอเป่ย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนที่อากาศร้อน

ชาวนาในตงซย่าเผยว่า “ใคร ๆ ก็ทำกันทั้งนั้น เราต้องรักษาผักให้สด เพราะผักที่อัดรวมกันอยู่บนรถบรรทุกจะต้องเดินทางนาน 2-3 วันกว่าจะไปถึงตลาด”

ผักกะหล่ำเป็นสินค้าหลักของชาวจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางภาคเหนือของประเทศที่จะต้องมีอาหารกะหล่ำประดับโต๊ะ

สื่อจีนเผยว่า สารฟอร์มาลดีไฮด์ยังนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ด้วย เช่น อาหารทะเลและเห็ด เจ้าหน้าที่เผยว่า ผู้ขายบางคนจะไม่ยอมลงทุนใช้ตู้แช่แข็งบนรถบรรทุกในระหว่างการขนส่ง ก็จะใช้สารนี้เช่นกัน

รัฐบาลจีนได้ให้คำมั่นซ้ำ ๆ กันว่าจะยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหาร ขณะที่ประชาชนกำลังกังวลถึงความปลอดภัยในการบริโภค แต่อย่างไรก็ตาม กรณีอื้อฉาวอาหารปนเปื้อนสารก็ยังคงเกิดขึ้นให้เห็นบ่อยครั้ง เนื่องจากความอ่อนแอของการตรวจสอบและการบังคับใช้กฎหมายกับเหล่านักธุรกิจหัวใสไร้จรรยาบรรณ

นอกจากนั้นผลิตภัณฑ์นมยังเป็นหนึ่งในสินค้าที่มีปัญหาอื้อฉาวเรื่องความปลอดภัยในปี 2551 เมื่อโรงงานผลิตนมผงสำหรับเด็กใส่สารเมลามีนเข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อต้องการทำให้ดูเหมือนว่าผลิตภัณฑ์นมของตนนั้นมีโปรตีนในปริมาณที่สูง

เมื่อปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้จับกุมพ่อค้ากว่า 30 คนที่ขายอาหารโดยใช้น้ำมันจากเศษน้ำมันเหลือที่ปล่อยทิ้งตามท้องร่องมาปรุงอาหารขาย

ใกล้ที่สุดเห็นจะเป็นกรณีที่ลูกจ้างของบริษัทสัตว์ปีกชั้นนำของจีนขายเป็ดป่วยให้กับลูกค้า และยังมีกรณีผู้ผลิตนมสำหรับเด็กขายนมที่มีสารพิษก่อมะเร็งในปริมาณที่สูง ซึ่งนมดังกล่าวเกิดจากวัวที่กินอาหารปนเปื้อนเชื้อราเข้าไป
กำลังโหลดความคิดเห็น