เอจนซี - ในที่สุด “เฉิน กวงเฉง” ทนายความตาบอด นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งตกเป็นข่าวหลบหนีออกจากบ้านคุมขังในมณฑลซานตง มาลี้ภัยที่สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงปักกิ่งเมื่อสัปดาห์ก่อน ก็ล้มเลิกความตั้งใจเดิม ที่จะอยู่ในประเทศจีน เพื่อต่อสู้ผดุงความยุติธรรมให้แก่พี่น้องร่วมชาติต่อไป
เมื่อวันพฤหัสฯ ( 3 พ.ค.) ในการประชุมพิจารณาไต่สวนเกี่ยวกับกรณีของเฉินโดยคณะกรรมาธิการรัฐสภาสหรัฐฯ นาย บ๊อบ ฟู่ ประธานกลุ่มไชน่าเอด (ChinaAid) ในรัฐเท็กซัส และเป็นพยานคนหนึ่ง ซึ่งต้องขึ้นให้การต่อที่ประชุม ได้โทรศัพท์เข้าไปยังโทรศัพท์มือถือของเฉิน ซึ่งขณะนั้นกำลังนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลที่กรุงปักกิ่ง
พยานผู้นี้ได้นำโทรศัพท์ของเขาจ่อที่ไมโครโฟน เพื่อให้ได้ยินเสียงทั่วกัน และเขาเป็นผู้แปลภาษาจีน
เฉิน วัย 40 ปี ได้วิงวอนขอความช่วยเหลือจากสมาชิกรัฐสภา และสื่อมวลชน เพื่อให้เขาและครอบครัวได้เดินทางไปอยู่ในสหรัฐฯ โดยกล่าวว่า เขาห่วงความปลอดภัยของครอบครัว ซึ่งมีทั้งภรรยา มารดา และน้องชายอีกหลายคน
ถ้อยคำของทนายความตาบอดสะเทือนอารมณ์ผู้อยู่ในที่ประชุม
การลี้ภัยในสถานทูตของสหรัฐฯ ทำให้ต้องมีการเจรจาทางการทูตระหว่างชาติทั้งสองเกี่ยวกับอนาคตของชายผู้นี้
การวิงวอนดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนใจอย่างกะทันหันเพียงไม่กี่ชั่วโมง หลังจากเพิ่งมีการทำข้อตกลงกับรัฐบาลจีน ซึ่งเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่า รัฐบาลจีนจะยอมให้เฉินและครอบครัวย้ายที่อยู่จากมณฑลซานตง เพื่อหนีการคุกคามของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และให้เฉินได้มีโอกาสเรียนต่อในมหาวิทยาลัย
อย่างไรก็ตาม การกลับลำอย่างฉับพลันนี้ก็เป็นการตัดสินใจ ที่ยากมาก เพราะจากปากคำของกลุ่มผู้สนับสนุน เฉินเคยบอกกับเพื่อน ๆ ว่า เขาตัดสินใจเด็ดเดี่ยวแล้วว่า จะอยู่ต่อสู้ในจีนต่อไป เพราะภารกิจยังไม่เสร็จสิ้น อันเป็นความมุ่งมั่น ที่นักเคลื่อนไหว ซึ่งผ่านประสบการณ์มาก่อนหลายคนระบุว่า ไม่มีทางเป็นไปได้
“คุณต้องไปสถานเดียวเท่านั้น เพราะไม่มีทางอื่นอีกแล้ว” ไฉ หลิง วัย 46 ปี อดีตผู้นำการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 2532 ระบุ
หวัง ตัน วัย 42 ปี อดีตผู้นำนักศึกษาในการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน และเคยลี้ภัยในสหรัฐฯ ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่ไต้หวันมองว่า หากอยู่ในจีนต่อไป เฉินจะไม่สามารถต่อสู้เพื่อเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนได้อย่างเต็มที่ เพราะจะถูกตำรวจห้อมล้อมตลอดเวลา และก็เช่นเดียวกันที่
“เรารู้ว่า ถ้าเราออกจากจีน การบรรลุความฝันในการส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในจีนจะทำได้ยากกว่าเดิม” หวัง ยอมรับ
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนเคยยอมผ่อนผันให้นักเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีหลายคน ออกนอกประเทศ โดยมักอาศัยเหตุผลว่า คนเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลในต่างประเทศ และในบางครั้งรัฐบาลจีนได้ใช้ข้อตกลงเหล่านี้เป็นเครื่องต่อรองในการเจรจาทางการทูตอื่น ๆ หรือเพื่อสยบเสียงวิพากษ์วิจารณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน
สำหรับกรณีของเฉิน ภายหลังการวิงวอน กระทรวงการต่างประเทศจีนได้แถลงเมื่อวันศุกร์ ( 4 พ.ค.) ว่า เฉินอาจยื่นใบสมัครขอไปศึกษาต่อในต่างประเทศก็ได้ อย่างไรก็ตาม นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนเตือนว่า รัฐบาลปักกิ่งอาจถ่วงเรื่องการอนุมัติให้เขาออกนอกประเทศ เนื่องจากกลัวว่า การใช้ไม้นวมอาจทำให้ฝ่ายต่อต้านได้ใจในสภาพการณ์ ที่จีนจะมีการถ่ายโอนอำนาจผู้นำบริหารประเทศในปลายปี
เฉิน กวงเฉิน ตาบอด ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เขาเรียนกฎหมายด้วยตนเองด้วยจุดมุ่งหมาย เพื่อเรียกร้องสิทธิให้แก่ตนเองในฐานะพลเมืองพิการ และผู้คนรู้จักเฉินกันไปทั่วทั้งประเทศ เมื่อเขาขยายข้อเรียกร้องในการต่อสู้ โดยรวมถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวนา โดยรับบทเป็นทนายความต่อสู้ในศาล
แต่ในที่สุดเฉินก็ถูกพิพากษาจำคุกสี่ปี ในปี 2549 โทษฐานปลุกระดมผู้คนให้ต่อต้านการบังคับการทำแท้งและการทำหมันภายใต้นโยบายการคุมกำเนิดของรัฐบาลจีน เฉินได้รับการปล่อยตัวในปี 2553 ทว่าไม่นานก็หมดอิสรภาพอีกครั้ง โดยถูกกักบริเวณภายในบ้านมาตั้งแต่เดือนก.ย.ปีที่แล้ว
จากประสบการณ์ของเหล่านักเคลื่อนไหว การออกไปจากจีนคือการถูกปลดอย่างกะทันหันจากการต่อสู้ ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพวกเขาไปแล้ว และนักเคลื่อนไหวหลายคนต้องพยายามฟันฝ่า เพื่อสร้างชีวิตใหม่ในต่างแดนให้ได้ นอกเหนือจากความคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอนแล้ว การละทิ้งครอบครัวญาติมิตร และผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลือไว้ข้างหลัง มันเป็นการตัดสินใจที่ปวดร้าวใจอย่างที่สุด
พวกนักต่อต้านรู้ดีว่า อิทธิพลในการต่อสู้เคลื่อนไหวของตนอาจจางหายไป เมื่อผละจากแดนมังกรไปแล้ว นักเคลื่อนไหวบางคนยังต้องขอร้องวิงวอนรัฐบาลจีน เพื่อขอโอกาสเดินทางกลับเยี่ยมมาตภูมิบ้างแม้เป็นเวลาสั้น ๆ ก็ยังดี
การทารุณข่มเหงจากทางการทำให้นักเคลื่อนไหวชื่อดังหลายคนจำต้องออกนอกประเทศ อาทิ
ฟาง ลี่จือ : นักดาราศาสตร์คนสำคัญของจีนต้องลี้ภัยในสถานทูตสหรัฐฯ หลังการประท้วงนองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 2532 โดยทางการกล่าวหาว่า การปราศรัยของเขาปลุกระดมให้เกิดการลุกฮือประท้วง ฟางและภรรยาอาศัยในสถานทูตสหรัฐฯ นาน 13 เดือนระหว่างที่จีนกับสหรัฐฯ เจรจาเกี่ยวกับอนาคตของเขา จีนอนุญาตให้ทั้งคู่ออกนอกประเทศได้ในปี 2533 ฟางสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยอะริโซน่า และเสียชีวิตเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ขณะอายุ 76 ปี
เว่ย จิงเซิง : อาชีพทหารและช่างไฟฟ้า ต้องโทษจำคุกทั้งสิ้น 17 ปี ฐานเรียกร้องการปฏิรูปประเทศ และได้รับการปล่อยตัวในปี 2536 ในช่วงที่จีนพยายามจะเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกปี 2543 ต่อมาถูกจับตัวอีกครั้ง กระทั่งสหรัฐฯ เจรจาขอปล่อยตัวในปี 2540 ปัจจุบันอาศัยในกรุงวอชิงตัน
เรบีย่า กอเดีย์ (Rebiya Kadeer) : เชื้อสายชาวอุยกูร์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้รับการยกย่องเป็นนักธุรกิจหญิงผู้ประสบความสำเร็จในยุคสมัยใหม่ของจีน ถูกจับกุมในปี 2542 และถูกตัดสินจำคุก 8 ปี โทษฐานส่งรายงานข่าวหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับการประท้วงต่อต้านจีนไปให้สามีในต่างประเทศ และพยายามให้รายชื่อนักโทษการเมืองของจีนไปให้แก่สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ จีนปล่อยตัวในปี 2548 ก่อนคอนโดลิซซ่า ไรซ์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯสมัยนั้นมาเยือนจีนไม่นาน ปัจจุบัน เรบีย่าอาศัยในสหรัฐฯ