รอยเตอร์ - หนังสือพิมพ์จีนเผย (4 พ.ค.) ขณะนี้ค่าเงินหยวนของจีนต่อดอลลาร์ปรับตัวเข้าสู่จุดดุลยภาพ ชี้การปรับตัวดังกล่าวจะช่วยลดความตึงเครียดกับสหรัฐฯ ในการเจรจาระดับสูงที่กำลังดำเนินอยู่ขณะนี้ได้
หนังสือพิมพ์พีเพิลเดลีของจีน กระบอกเสียงพรรคคอมมิวนิสต์ เผยว่า การเปรียบเทียบระหว่างผลิตภาพแรงงาน (labour productivity) คือจำนวนผลผลิตต่อแรงงาน 1 คน หรือต่อ 1 ชั่วโมง กับต้นทุนการดำเนินงาน (operating costs) ของมหาอำนาจเศรษฐกิจลำดับ 2 อย่างจีนที่สะท้อนผ่านค่าของเงินหยวนแล้ว ทำให้เห็นว่าขณะนี้ค่าเงินหยวนอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผลต่อค่าเงินดอลลาร์ของสหรัฐ
หลังจากที่รัฐมนตรีคลัง ทิโมธี ไกธ์เนอร์ ของสหรัฐฯ เดินทางมาเยือนจีน กับนางฮิลลารี คลินตันรัฐมนตรีต่างประเทศ เพื่อเจรจาประจำปีระดับสูงกับจีน เพียงวันเดียวหลังจากนั้นแถลงการณ์นี้ก็ออกมา ซึ่งชี้ให้เห็นว่า จีนได้ปรับตัวตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ที่ต้องการเห็นเงินหยวนแข็งค่า อันจะนำไปสู่การสร้างช่องทางเชิงนโยบายที่ยืดหยุ่นมากขึ้นต่อไป
“หากดูค่าเงินหยวนในระดับปัจจุบันและดุลยภาพระหว่างอุปสงค์-อุปทาน ทำให้เห็นว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างหยวนกับดอลลาร์ อยู่ในจุดดุลยภาพที่สมเหตุสมผลแล้ว” แถลงการณ์ของสำนักสังคมศาสตร์จีน อันเป็นแหล่งรวมนักคิดระดับแนวหน้าของจีนเผย
อย่างไรก็ดี แถลงการณ์ชี้ว่า ยังไม่มีความจำเป็นจำต้องปรับค่าเงินหยวนให้สูงค่าขึ้นไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเปรียบเทียบด้านแรงงาน วัตถุดิบ และต้นทุนสิ่งแวดล้อม พบว่าสิ่งเหล่านี้ในจีนนั้นยังต่ำกว่าในสหรัฐฯ อยู่มากโข
หากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศของเงินหยวนจีน ต่อ ปัจจัยทั้งสาม (แรงงาน วัตถุดิบ ต้นทุนสิ่งแวดล้อม) ยังอยู่ในระดับต่ำ หรือพูดง่ายๆ ว่า ต้นทุนการผลิตของจีนยังคงต่ำอยู่ ถ้าเช่นนั้นก็ยังถือว่าค่าเงินหยวนของจีนยังสูงอยู่ ไม่จำเป็นต้องปรับเพิ่มขึ้นไปอีก พีเพิลเดลีระบุ
การเปรียบเทียบผลิตภาพแรงงานยังทำให้เห็นว่า ค่าเงินหยวนอยู่ในระดับที่เหมาะสม พีเพิลเดลีเพิ่มเติมอีกว่า การเพิ่มขึ้นของค่าเงินจีนในช่วงระหว่างปี 2551-2553 ทำให้ความสามารถทางการผลิตจีนเพิ่มขึ้น
แถลงการณ์ชี้อีกว่า ความสามารถทางการผลิตของสหรัฐฯ มากกว่าจีนในปี 2553 อยู่ที่ 5.4 เท่า ซึ่งถือว่าลดลงจากปี 2551 ซึ่งมากกว่าจีนถึง 6.1 เท่า หากย้อนไปในปี 2543 สหรัฐฯ มากกว่าจีนถึง 12.6 เท่าทีเดียว
เงินหยวนของจีนเพิ่มขึ้น 10.5 เปอร์เซ็นต์ค่อค่าเงินดอลลาร์ ระหว่างปี 2551-2553 และหากวัดในรูปตัวเงิน (nominal terms) นับแต่ปี 2548 ที่จีนยกเลิกการตรึงค่าเงินหยวนกับดอลลาร์สหรัฐแล้ว ถือว่าเงินหยวนเพิ่มขึ้นราว 31 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว
ประเด็นค่าเงินหยวนของจีนเป็นสายล่อฟ้าในสัมพันธ์จีน-มะกัน ง่อนแง่น ซึ่งสหรัฐฯ มักประณามจีนว่า อยู่เบื้องหลังการปรับตัวขึ้นลงของค่าเงินหยวน เพื่อให้ได้เปรียบด้านการส่งออก
จีนปฏิเสธข้อกล่าวหา และว่า จีนต้องการให้ตลาดเป็นตัวกำหนดค่าเงินเอง แต่ก็ยืนกรานว่าจะค่อยๆ ปรับค่าเงินหยวนทีละน้อยเท่านั้น