เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - จีนกำลังเผชิญปัญหาหนัก การขยายเมืองและการเติบโตทางเศรษฐกิจทำแผ่นดินมังกรทรุดตัวในอัตราที่น่าตกใจ
จากข้อมูลของสำนักสำรวจทางธรณีวิทยาของทางการจีน ซึ่งนำมาเผยแพร่เพืยงบางส่วนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ระบุว่า เมืองกว่า 50 แห่ง ซึ่งเศรษฐกิจกำลังเฟื่องฟูบนแผ่นดินใหญ่กำลังประสบปัญหาแผ่นดินทรุดตัวเป็นบริเวณกว้าง แม้มีการยุบตัวลงอย่างช้า ๆ แต่ก็พบว่า มีเมืองที่ทรุดตัวอย่างรวดเร็วที่สุด ซึ่งเป็นนครใหญ่ เช่น เซี่ยงไฮ้ กรุงปักกิ่ง และซีอาน โดยมีการทรุดลงมากถึง 2-1/2 เมตรในช่วงหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา
นายเต้า ชิงฝา รองอธิบดีกรมสิ่งแวดล้อมทางธรณีวิทยาในสังกัดของกระทรวงที่ดินและทรัพยากร ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการสำรวจกล่าวว่า พบการทรุดตัวบนแผ่นดินใหญ่เป็นบริเวณกว้าง 79,000 ตารางกิโลเมตรเมื่อสิ้นปี 2552 มากกว่าเกือบ 2 เท่าของการทรุดตัวในสหรัฐฯ ซึ่งกินบริเวณกว้าง 44,030 ตารางกิโลเมตร จากข้อมูลของสำนักสำรวจทางธรณีวิทยาสหรัฐฯ
การทรุดตัวที่น่ากลัวสุดเกิดขึ้นในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี , เขตที่ราบจีนทางภาคเหนือ และเขตลุ่มน้ำเฝินเว่ย โดยรัฐบาลปักกิ่ง ซึ่งได้ประกาศโครงการป้องกันแผ่นดินทรุดเมื่อเร็ว ๆ นี้ หวังว่า จะยับยั้งการทรุดตัวในเขตทั้งสามนี้ได้ภายในปี 2558
นอกจากนั้น ยังเกิดความเสี่ยงว่า จะเกิดแผ่นดินทรุดตัวมากขึ้นในอีกหลายมณฑล เช่น ก่วงตง จี๋หลิน ซินเจียง และไห่หนาน รัฐบาลจึงกำลังพยายามหยุดยั้งปรากฏการณ์นี้ในทั่วประเทศให้ได้ภายใน2563 โดยนายเต้าระบุว่า ในช่วงทศวรรษ 1920 แผ่นดินทรุดเคยเกิดอยู่ที่เมืองเทียนจิน และนครเซี่ยงไฮ้เท่านั้น แต่ภายในช่วงทศวรรษ 1970 ก็ได้ขยายไปยังเมืองอื่น ๆ และขณะนี้ หลายพื้นที่ในเขตชนบทก็เริ่มทรุดตัวลงแล้ว
ท่ามกลางความวิตกกังวล ที่เพิ่มขึ้นทุกทีของประชาชนเกี่ยวกับปัญหาดินทรุด การเกิดรอยร้าวของตึกระฟ้า รอยร้าวในอุโมงค์รถไฟใต้ดิน การบิดตัวของรางรถไฟความเร็วสูง การเกิดหลุมบ่อบนทางหลวง รัฐบาลปักกิ่งรับมือกับวิกฤตการณ์นี้ด้วยการวางแผนอัดฉีดมวลน้ำมหาศาลลงไปในชั้นใต้ดินในหลายเมืองภายในสิบปีนี้ ขณะที่ทางการเซี่ยงไฮ้ทุ่มงบประมาณประจำปีหลายพันล้านหยวนในการอัดน้ำลงใต้ดิน เพื่อสู้กับดินทรุดตัว
นายเต้าชี้ว่า การก่อสร้างตึกระฟ้า และการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้คือสาเหตุสำคัญของดินทรุดตัวในพื้นที่เมือง และจะส่งผลให้อาคารสิ่งก่อสร้างพังเร็วขึ้น อีกทั้งสูญเสียค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในการบำรุงรักษาสิ่งสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่นทางรถไฟ ระบบระบายน้ำเครือข่ายการจ่ายกระแสไฟฟ้า และการโทรคมนาคมสื่อสาร
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมศาสตร์ของจีนบางคนไม่เห็นด้วยกับแผนการรับมือของรัฐบาล โดยศาสตราจารย์ เฟิง จื้อหมิง แห่งสถาบันวิจัยภูมิศาสตร์และแหล่งทรัพยากรธรรมชาติของสถาบันการศึกษาวิทยาศาสตร์ของจีนระบุว่าแผนการอัดฉีดน้ำลงสู่ใต้ดินสำหรับเมืองส่วนใหญ่เป็นเรื่องสิ้นเปลืองงบประมาณมากเกินไป โดยเมืองมากมายทรุดตัว เมื่อเศรษฐกิจบูม ไม่ว่าจะเป็นมหานครนิวยอร์ก กรุงโตเกียว และกรุงเม็กซิโกซิตี้ แผ่นดินจะยังคงทรุดตัวไปจนกว่าเราจะหยุดการก่อสร้างตึกระฟ้า และการสูบน้ำบาดาล
ขณะที่ศาสตราจารย์เจียง หมิงจิง ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมใต้ดิน แห่งมหาวิทยาลัยถงจี้ ในนครเซี่ยงไฮ้ ระบุว่า การก่อสร้างอาคารควรคำนึงเรื่องการทรุดตัวของดิน และสิ่งที่เขาวิตกก็คือการทรุดตัวของดินในย่านใกล้เคียวกัน แต่ด้วยอัตราความเร็ว ที่ต่างกัน
"ตึกระฟ้าอาจเกิดการเอียงตัวไปหาอีกตึกหนึ่ง" เขาอธิบาย
ศาสตราจารย์เจียงแนะว่า ภารกิจเร่งด่วนที่สุดของรัฐบาลปักกิ่งในตอนนี้ไม่ใช่การหยุดแผ่นดินทรุดตัว แต่คือการจัดตั้งเครือข่ายคอยตรวจสอบพื้นที่เสี่ยง และตึกอาคาร
"เมืองอาจใช้เวลาหลายร้อยปีกว่าจะจม แต่ตึกระฟ้าอาจพังถล่มในชั่วข้ามคืนก็ได้ " เขาเตือน