xs
xsm
sm
md
lg

การเคลื่อนไหวของชาวนา และการตอบโต้จากภาครัฐ

เผยแพร่:   โดย: สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ที่ผ่านมาเรามักได้ยินข่าว การเคลื่อนไหวประท้วงของชาวนา ซึ่งถูกไล่ที่โดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและนายทุน รวมทั้งข่าวการจับเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริต เกี่ยวกับกรณีไล่ที่เพื่อพัฒนามากมาย กรณีข้างต้นที่ปรากฏอย่างดาบดื่นตามหน้าสื่อ ทำให้ชวนสงสัยไม่น้อยว่า รัฐบาลจีนมีมาตรการอย่างไรเพื่อระงับความตึงเครียดและความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและความชอบธรรมของพรรคคอมมิวนิสต์

นอกจากนี้ ในอีกด้านหนึ่งชาวนา มียุทธวิธีในการเคลื่อนไหวอย่างไร ที่จะทำให้เสียงของพวกเขา “ดัง” จนพอที่จะได้รับความสนใจจากสังคม ซึ่งจะช่วยสร้างแรงกดดันให้กับรัฐในการออกมาตรการเยียวยาหรือช่วยเหลือชาวนาที่เผชิญปัญหาได้ระดับหนึ่ง

รากของปัญหา
นับแต่ทศวรรษ 1990 หลังวิกฤตการณ์เทียนอันเหมินในปี 1989 ซึ่งทำให้จีนลังเลไม่น้อยว่าควรจะเดินหน้าปฏิรูปและเปิดประเทศต่อไปหรือไม่ เพราะผลพวงจากการปฏิรูปและเปิดประเทศในปลายทศวรรษ 1970 ส่วนหนึ่งนำไปสู่การเกิดวิกฤตการณ์เทียนอันเหมิน ซึ่งสั่นคลอนพรรคฯและรัฐบาล กระทั่งเมื่อเติ้ง เสี่ยวผิงเยือนเขตเศรษฐกิจพิเศษทางภาคใต้อันได้แก่ กว่างโจว จูไห่ เซินเจิ้น ฯลฯ ในช่วงปี 1992 เพื่อส่งสัญญาณต่อว่า จะดำเนินนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศต่อไป นโยบายดังกล่าวจึงได้รับการสานต่อ

อย่างไรก็ตามการตัดสินใจ สานต่อนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศนี้ ได้ก่อให้เกิดปัญหาประการหนึ่ง คือบรรดาพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งมองเห็นความสำเร็จของเขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก ก็พยายามทำตามบ้าง โดยลุกขึ้นมาประกาศให้พื้นที่ของตัวเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเสียเอง ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่ได้รับการหนุนจากรัฐบาลกลาง ทำให้ขาดแคลนงบประมาณในการพัฒนา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เขตเศรษฐกิจพวกนี้ก็คือ “เขตเศรษฐกิจเถื่อน”

ถึงตอนนี้บรรดาเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นที่หวังความร่ำรวยนั้น ก็หันมาให้สัญญากับชาวนาในท้องที่ให้เสียสละที่ดินมาเป็นพื้นที่เพื่อการพัฒนา โดยสัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนในอนาคตบ้าง ทว่า แม้เมื่อมีที่ดินแล้วก็ยังต้องระดมทุนจำนวนมหาศาล เพื่อนำมาพัฒนาที่ดินนั้น เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจึงเลือกที่จะเก็บภาษีจากชาวบ้าน หรือบางรายก็เลือกที่จะใช้อำนาจนำเงินที่แรงงานในเมืองส่งกลับมายังบ้านเกิดผ่านไปรษณีย์ออกมาใช้ โดยสัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีในอนาคต อย่างไรก็ตามการณ์ปรากฏว่าเขตเศรษฐกิจเถื่อนเหล่านั้นส่วนมากพากันล้มเหลวเป็นแถบ เนื่องจากการคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่ และการประเมินสถานการณ์ผิดพลาด

เมื่อไม่ได้รับผลตอบแทนใด ๆ ทั้งยังไม่ได้รับเงินต้นคืนมา ชาวนาในหลายพื้นที่จึงเริ่มเคลื่อนไหวประท้วงอย่างรุนแรง ดังปรากฏข่าวการประท้วงของชาวนาบ่อยครั้งนับแต่ ทศวรรษ 1990

อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหาข้างต้นแล้ว การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในจีน ทำให้อสังหาริมทรัพย์ราคาพุ่งกระฉูดอย่างรวดเร็ว จนที่ดินกลายเป็นทรัพยากรที่หลายฝ่ายต่างช่วงชิงเพื่อการพัฒนา จนนำไปสู่เหตุการณ์ไล่ที่เพื่อพัฒนาในหลายกรณี ซึ่งส่วนหนึ่งของการไล่ที่นั้น เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่หวังรวยทางลัด ได้ร่วมมือกับนายทุน และนักเลงในท้องถิ่น กระทำการไล่รื้อทั้งถูก/ผิดกฎหมายโดยใช้มาตรการที่หลากหลาย กระทั่งส่งผลกระทบต่อผู้ที่อยู่อาศัยเดิมอย่างรุนแรง
หน้าเวบซิ่นฝ่าง
การแก้ไขปัญหาของภาครัฐ
รัฐบาลและพรรคฯ เล็งเห็นผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว และพยายามแก้ไขด้วยการปิดเขตเศรษฐกิจเถื่อน และปรับปรุงระบบกฎหมายให้รัดกุมยิ่งขึ้น รวมทั้งสร้างช่องทางต่าง ๆ ที่จะทำให้ประชาชนสามารถต่อติดกับรัฐได้ เพื่อที่จะทำให้รัฐบาลสามารถทราบถึงปัญหาต่าง ๆ และสามารถใช้ระบบนั้นเป็นเครื่องมือในการกำกับควบคุมพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีจำนวนมหาศาล และอยู่ไกลหูไกลตา

สำหรับช่องทางสำคัญ 2 ช่องทางที่รัฐสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาในกรณีนี้ มีอยู่ 2 ช่องทาง ช่องทางแรกคือ สำนักงานร้องทุกข์ หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อว่า “ซิ่นฝ่าง” (信访-ย่อมาจาก 国家信访局 ) ซึ่งสามารถแปลเป็นไทยได้ว่า “จดหมาย และ การเยี่ยมเยือน” โดยหน่วยงานนี้ทำหน้าที่ รับเรื่องร้องเรียนทางจดหมาย และรับเรื่องที่ผู้ร้องเรียนเดินทางเข้ามาเยี่ยมเยือนเพื่อร้องเรียนด้วยตนเอง ระบบซิ่นฝ่างนี้จึงเป็นช่องทางหนึ่งให้ชาวนาที่ประสบปัญหาสามารถร้องเรียนกับรัฐได้ โดยช่องทางนี้เป็นช่องทางที่ค่อนข้างได้รับความนิยม เนื่องจากไม่นำไปสู่การเผชิญหน้าของคู่กรณีเช่นการขึ้นศาล

ส่วนอีกช่องทางหนึ่ง คือกฎหมายปกครอง ที่ประกาศใช้นับแต่ ปี 1990 แม้จะมีข้อจำกัดในเรื่องการฟ้องร้องคดีระดับหนึ่ง ทว่าการตรากฎหมายปกครองที่ เอื้อให้ประชาชนธรรมดาสามารถฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติ/ไม่ปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐนี้ นับว่ามีความสำคัญในฐานะการเปลี่ยนความคิดในสังคมที่มองว่า เจ้าหน้าที่มีอำนาจล้นเหลือ ประชาชนไม่สามารถฟ้องร้องได้ สู่การที่เจ้าหน้าที่ต้องมีความรับผิดชอบตามกฎหมาย ประเด็นกฎหมายปกครองนี้เริ่มมีการถกเถียงกันนับแต่ทศวรรษ 1980 และเมื่อเกิดวิกฤตการณ์เทียนอันเหมิน ซึ่งส่วนหนึ่งของการชุมนุมเกิดจากความไม่พอใจต่อการใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้นกล่าวได้ว่าวิกฤตการณ์เทียนอันเหมินเป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวเร่งให้มีการบังคับใช้กฎหมายปกครองในปี 1990
หนึ่งในภาพการประท้วงของชาวบ้าน
ความเคลื่อนไหวของประชาชน
กล่าวสำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนได้ใช้ทั้ง 2 ช่องทางที่กล่าวมาข้างต้นในการเคลื่อนไหว ซึ่งในส่วนช่องทางหลังคือการฟ้องร้องต่อศาลตามที่กฎหมายปกครองระบุนั้น แม้มีจำนวนไม่มาก เพราะโดยธรรมชาติประชาชนมักหลีกเลี่ยงการขึ้นโรงขึ้นศาล เพราะเสียทั้งเงินและเวลา แถมยังมีแรงกดดันจากการที่โจทก์อาจต้องเผชิญหน้ากับจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทรงอิทธิพล แต่กลับเป็นกรณีที่น่าสนใจ อาทิ กรณีเหอเปี่ยน ปี 1997

ในปี 1997 ชาวบ้านเหอเปี่ยน ในมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) โดนเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเก็บภาษีในอัตราที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด จนได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก จนในที่สุดชาวบ้านกว่า 2,164 คน ได้รวมตัวกันว่าจ้างทนายความส่งเรื่องฟ้องศาล อย่างไรก็ตาม การฟ้องร้องนั้นถูกขัดขวางจากเจ้าหน้าที่ ด้วยมาตรการต่าง ๆ อาทิ ขู่ทำร้าย จ่ายเงินปิดปาก หยุดรถบังคับชาวบ้านที่จะเดินทางไปฟ้องศาลลงจากรถ ซึ่งเท่ากับว่าหากพวกเขาตั้งใจจริงก็ต้องเดินทางไปอีก 5 ลี้ กระทั่งท้ายที่สุดเหลือชาวบ้านที่กล้าไปฟ้องจริงเพียง 22 ราย

อย่างไรก็ดี กรณีดังกล่าวย่อมสะท้อนความเปลี่ยนแปลงในเรื่อง “จิตสำนึกของชาวบ้าน” จำนวนมหาศาลที่กล้าตัดสินใจฟ้องร้องเจ้าหน้าที่แต่แรกเริ่ม พวกเขาเริ่มมองความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่แปรเปลี่ยนไปว่า “เจ้าหน้าที่” ไม่ใช่ “เจ้านาย”

นอกจากการฟ้องร้องแล้ว จะพบว่าชาวบ้านเองเริ่มที่จะจัดตั้งองค์กรที่ไม่เป็นทางการ รวมกลุ่มเพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องในประเด็นต่าง ๆ ที่กระทบต่อชีวิตของพวกเขาอย่างเป็นระบบ โดยส่วนหนึ่งก็มุ่งหวังอาศัยพื้นที่สื่อที่เสนอข่าวเกี่ยวกับพวกเขาดึงความสนใจประชาชนทั่วไป ให้เป็นแรงกดดันการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่

ชาวนาจีนเปลี่ยนไปแล้ว!
กำลังโหลดความคิดเห็น