xs
xsm
sm
md
lg

แบงค์ชาติจีนลดเงินสำรองของธ.พาณิชย์ ขยายเพดานปล่อยกู้ถึง 400 ล้านหยวน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพสำนักงานใหญ่ธนาคารประชาชนจีน ซึ่งเป็นธนาคารกลาง ในกรุงปักกิ่ง ปี 2554 (แฟ้มภาพเอเอฟพี)
เอเอฟพี-ธนาคารประชาชนจีนซึ่งเป็นธนาคารกลางแถลงเมื่อวานนี้(18 ก.พ.) ปรับลดอัตราเงินสดสำรองของกลุ่มธนาคารปล่อยกู้ ลง 0.5 เปอร์เซนต์ โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันศุกร์หน้า(24 ก.พ.) เป็นการผ่อนปรนข้อจำกัดในการปล่อยกู้

เอเอฟพีอ้างรายงานข่าวของสำนักข่าวซินหวา ระบุการตัดลดอัตราเงินสดสำรองครั้งนี้ ทำให้อัตราเงินสดสำรองที่กลุ่มธนาคารปล่อยกู้รายใหญ่ของจีน ต้องกั้นสำรองไว้ที่ธนาคารกลาง ปรับลงมาอยู่ที่ 20.5 เปอร์เซนต์

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวบ่งชี้ว่ารัฐบาลจีนยังเดินหน้าที่จะลดข้อจำกัดการปล่อยกู้ต่อไป หลังจากที่เพิ่งประกาศการตัดลดฯไปเมื่อวันที่ 30 พ.ย.ปีที่แล้ว ทั้งนี้ ก่อนหน้าธนาคารกลางมังกรได้คุมเข้มการปล่อยกู้ของธนาคารฯโดยเพิ่มอัตราเงินสำรองฯเพื่อเพลาเงินเฟ้อและราคาอสังหาริมทรัพย์

“การหั่น RRR เป็นข่าวดีสำหรับตลาด โดยจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องและบรรดาธนาคารได้ขยายการปล่อยสินเชื่อ” หม่า เสี่ยวผิง นักเศรษฐศาสตร์แห่งธนาคาร HSBC บอกกับดาวโจนส์นิวส์ไวร์ พร้อมกับประมาณว่าการตัดลดฯนี้จะช่วยปล่อยเงิน ราว 400 ล้านหยวน หรือ 64 ล้านเหรียญสหรัฐ ออกมาเสริมสภาพคล่อง

“การตัดลดฯนี้จะยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลได้กำหนดให้เป็นภารกิจสำคัญในเวลานี้ จากข้อมูลตัวเลขในเดือนม.ค. ทั้งยอดปล่อยกู้สกุลเงินหยวนก้อนใหม่และตัวเลขการอัดฉีดทางสังคม ล้วนแต่สะท้อนความเสี่ยงเศรษฐกิจขาลง” หม่า กล่าว

โดยตัวเลขยอดปล่อยกู้ของกลุ่มธนาคารผู้ปล่อยกู้ของรัฐในเดือนม.ค. อยู่ที่ 73,810 ล้านหยวน ลดลง 28,820 ล้านหยวน หรือ 28 เปอร์เซนต์ จากเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว และยังเป็นยอดที่ต่ำกว่าที่กลุ่มนักวิเคราะห์ประมาณการณ์ไว้ที่หนึ่งล้านล้านหยวน

ทั้งนี้การจำกัดสินเชื่อส่งผลมีการปล่อยกู้ใต้ดินกันระเบิดเทิงเถิง และกลุ่มบริษัทเอกชนที่ถูกกลุ่มธนาคารรายใหญ่ของรัฐปฏิเสธสินเชื่อไป ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยอย่างโหดให้แก่ระบบปล่อยกู้ใต้ดิน

ส่วนภาวะเงินเฟ้อประจำปี พุ่งสูงเกินคาด ที่ 4.5 เปอร์เซนต์ในเดือนม.ค. นับเป็นระดับสูงที่สุดในรอบสามเดือน แต่กลุ่มนักวิเคราะห์ชี้ว่าการที่เงินเฟ้อดีดตัวสูงเช่นนี้มาจากปัจจัยพิเศษช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผู้บริโภคจับจ่ายเงินมาก

ในช่วงสองปีมานี้ รัฐบาลจีนวิตกเรื่องค่าครองชีพ จึงได้ระดมมาตรการเพื่อฉุดราคาที่ทะยานสูงลงมา รวมทั้งมาตรการด้านการเงินการธนาคาร ได้แก่ การปรับลดอัตราเงินสดสำรองและการขึ้นดอกเบี้ย.
กำลังโหลดความคิดเห็น