xs
xsm
sm
md
lg

โลกต้องรู้เรื่องจีนแล้ว! “ดิ อีโคโนมิสต์” จัดหมวดข่าวจีน ครั้งแรกในรอบ 70 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปกนิตยสาร ดิ อิโคโนมิสต์ เล่มล่าสุด วันที่ 28 มกราคม ที่ผ่านมา มีเนื้อหาในบทความเกริ่นนำการเพิ่มหมวดข่าวจีน อันเป็นการเพิ่มหมวดข่าวเฉพาะประเทศ ครั้งแรกในรอบ 70 ปี หลังเคยเพิ่มหมวดข่าวเป็นพิเศษให้เฉพาะ สหรัฐฯ ประเทศเดียว เมื่อปี พ.ศ. 2485 (ภาพดิ อีโคโนมิสต์)
เอเยนซี - ดิ อีโคโนมิสต์ (The Economist) สื่อวิเคราะห์เศรษฐกิจ การเมืองรายใหญ่ของโลก เปิดพื้นที่ข่าวให้กับจีน เป็นการเพิ่มหมวดข่าวเฉพาะประเทศ ครั้งแรกในรอบ 70 ปี หลังเคยเพิ่มหมวดข่าวให้สหรัฐฯ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

สื่อจีนรายงาน (7 ก.พ.) ว่า นิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ (The Economist) ได้ประเดิมหมวดข่าวจีน เพิ่มต่างหาก แยกออกมาจากข่าวเอเชีย โดยนับเป็นการเพิ่มหมวดข่าวเฉพาะประเทศครั้งแรกในรอบ 70 ปี โดยครั้งสุดท้ายที่เพิ่มหมวดข่าวในเล่มนั้น คือ การให้พื้นที่กับข่าวของสหรัฐฯ เมื่อครั้งถูกโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ และวิเคราะห์ว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของสหรัฐฯ

ดิ อิโคโนมิสต์ เล่มล่าสุด วันที่ 28 มกราคม ที่ผ่านมา มีเนื้อหาในบทความเกริ่นนำการเพิ่มหมวดข่าวจีน ว่า ขณะนี้ จีนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก และพรั่งพร้อมด้วยการเติบโตทางกำลังทหารเทียมดุลอำนาจกับสหรัฐฯ ความสนใจของดิ อิโคโนมิสต์ในการเพิ่มหมวดนี้ ยังเน้นไปที่การเมืองที่มีลักษณะพิเศษต่างจากขนบของโลกตะวันตก ซึ่งเป็นทั้งเรื่องที่น่าสนใจ ขณะเดียวกันก็น่าวุ่นใจของประเทศต่างๆ ทั่วโลกอยู่เหมือนกัน

“ดิ อีโคโนมิสต์” ระบุว่า จีนใช้เวลาเพียง 20 ปี ก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก โดยนับจากการชุมนุมประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน พ.ศ. 2532 จีนโดยการนำของเติ้ง เสี่ยวผิง ก็ปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างกร้าวแกร่ง และพัฒนาพื้นที่ทางใต้ของจีนให้เป็นต้นแบบของจีนยุคใหม่ที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้

รายงานข่าวกล่าวว่า หมวดข่าวใหม่ (จีน) นี้ เริ่มในฉบับ วันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งนักสื่อสารมวลชนหลายฝ่ายต่างให้ความสนใจของพื้นที่ข่าวของจีนในนิตยสารวิเคราะห์การเมือง-เศรษฐกิจระดับโลกของอังกฤษเล่มนี้

ร็อบ กิฟฟอร์ด บรรณาธิการข่าวจีนของ “ดิ อีโคโนมิสต์” กล่าวว่า การเพิ่มเซกชันข่าวจีนแยกออกมานี้ ความจริงก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษ เพราะปกติแต่ละสัปดาห์ก็มีข่าวจีนในหมวดข่าวเอเชีย อยู่มากถึง 3-4 ชิ้นอยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องการเน้นวิเคราะห์เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม ที่กำลังเกิดขึ้นกับชาวจีนที่อยู่ในช่วงเวลาสำคัญนี้

ด้าน แกดี้ เอปสไตน์ ผู้สื่อข่าวจีนของ “ดิ อีโคโนมิสต์” ซึ่งเคยทำงานกับฟอร์บส์ ให้ความเห็นว่า สิ่งที่เราคาดหวังกับหมวดข่าวจีนนี้ คือการวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารของจีน ซึ่งมีความสำคัญและน่าสนใจ โดยจะเป็นเรื่องบนปกของ ดิ อีโคโนมิสต์มากขึ้น

ด้านสื่อจีนก็สนใจความเปลี่ยนแปลงในการชิงพื้นที่ข่าวอันมีนัยสำคัญของ “ดิ อีโคโนมิสต์” ซึ่งก่อนหน้านี้ เคยมีบทวิเคราะห์ก่อนใครเกี่ยวกับ “การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก” โดยสื่อจีนระบุว่า ครั้งนั้น “ดิ อีโคโนมิสต์” ได้วิเคราะห์สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกว่าจะเริ่มที่ทวีปเอเชีย ขณะที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจอื่นๆ หลายคน กลับมองว่าเศรษฐกิจเอเชีย ส่วนใหญ่พึ่งพาการส่งออก ดังนั้น การจะฟื้นตัวได้ต้องรอให้เศรษฐกิจในสหรัฐฯ และบรรดาประเทศเศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวก่อน ทว่าจากสถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุด ก็พิสูจน์แล้วว่าประเทศในเอเชียแข็งแกร่งตามการวิเคราะห์ของ “ดิ อีโคโนมิสต์” สามารถผ่านวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้ด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของตนเอง โดยเฉพาะจีนซึ่งเวลานี้เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ทาบเงาสหรัฐฯ พร้อมกับกำลังจะเป็นศูนย์กลางการเงินและการลงทุนของโลกในไม่ช้า

ล่าสุด เมื่อต้นปีนี้เอง “ดิ อีโคโนมิสต์” ได้เผยการวิเคราะห์ดัชนีบ่งชี้ 21 ตัว ซึ่งพบว่ามีค่าดัชนีกว่าครึ่งที่จีนแซงสหรัฐฯ ไปแล้ว และจะแซงในดัชนีอื่นๆ ภายใน 10 ปี โดยดัชนีสำคัญๆ ที่จีนแซงหน้าสหรัฐฯ ไปแล้ว เช่น การส่งออกมากกว่าสหรัฐฯ ร้อยละ 30 จีนจดสิทธิบัตรในด้านนวัตกรรมมากกว่าสหรัฐฯ และคุณภาพการศึกษาวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จีนอยู่อันดับ 31 สหรัฐฯ อยู่ที่ 51 จีน มีสินทรัพย์สกุลเงินต่างชาติสุทธิ 2 ล้านล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ มีหนี้สุทธิ 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ และยังน่าสนใจว่าความคาดการณ์ของ ดิ อิโคโนมิสต์ เกี่ยวกับอัตราเติบโตจีดีพีของจีน ใน 10 ปีต่อจากนี้ ว่าจะอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 7.75 ต่อปี ตามการวิเคราะห์หรือไม่

แต่ทั้งนี้ ในด้านหนึ่งสื่อจีน ก็ยังคงให้ความเห็นว่า “ดิ อีโคโนมิสต์” ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารสำคัญของฝั่งสื่อตะวันตก ก็อาจจะยังคงมีท่าทีกับมุมมองแบบตะวันตกอยู่ และมีหลายครั้งหลายสถานการณ์ที่ผ่านมาก็เคยถูกประท้วงจากบางประเทศเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น