โกลบอล ไทม์ส—ปัจจุบัน กลุ่มแรงงานต่างถิ่นรุ่นใหม่ในประเทศจีน มีความปรารถนาแตกต่างไปจากรุ่นพ่อแม่ โดยรุ่นพ่อแม่พวกเขาเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่เก็บหอมรอมริบเพื่อที่จะได้กลับบ้านเกิดในชนบท ทว่ากลุ่มแรงงานรุ่นใหม่ ที่เกิดช่วงปี 2523 (1980) ต้องการที่จะตั้งรกรากอาศัยอยู่ในเมืองมากกว่า
ทันทีหลังจากที่หมดเทศกาลตรุษจีนในวันที่ 28 ม.ค. นาย เจ้า ปิน แรงงานอพยพจากอำเภอผิงอี้ มณฑลซันตง ได้กลับมายังเมืองชิงเต่า นาย เจ้าและภรรยาทำงานที่ชิงเต่าซึ่งเป็นเมืองใหญ่ชายฝั่งของมณฑลซันตง มานาน 9 ปี
“ผมมีแผนที่จะตั้งอาศัยในเมืองชิงเต่าตลอดไป จึงรีบกลับมาทำงานให้ตรงเวลาเพื่อที่จะหาเงินได้มากขึ้นสำหรับซื้อบ้านที่นี่สักหลัง” เจ้า วัย 30 ปี กล่าว
เจ้า มีอาชีพเดิมเป็นเกษตรกร เขาและภรรยาอพยพมาอยู่ในเมืองชิงเต่า เป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้าในโรงงานของบริษัทจีฟา กรุ๊ป ทั้งสองมีรายได้ต่อเดือน ราว 7,000 หยวน หรือ ราว 35,000 บาท นอกจากนี้ บริษัทได้จัดที่พักให้อยู่ฟรี และพวกเขายังมีเงื่อนไขที่แตกต่างจากรุ่นพ่อแม่ โดยสามารถนำบุตรมาเรียนหนังสือในเมืองด้วย ขณะที่รุ่นพ่อแม่ไม่สามารถนำลูกหลานมาด้วย
ขณะนี้ ภาคแรงงานจีนกำลังหดตัวลง อันเป็นผลมาจากนโยบายลูกคนเดียว สร้างแรงกดดันแก่บริษัทผู้ผลิต พวกเขาต้องเสนอเงินเดือนสูงขึ้น และเงื่อนไขการทำงานที่ดีกว่าแต่ก่อนให้แก่กลุ่มแรงงานจากต่างถิ่น
ตัวเลขการประเมิน ระบุกลุ่มแรงงงานอพยพที่เกิดหลังปี 2523 มีสัดส่วนเท่ากับ 58.4 เปอร์เซนต์ ของแรงงานอพยพทั้งประเทศ 145 ล้านคน
สถาบันการวิจัยวัฒนธรรมครอบครัวแห่งรัฐจีน เผยการสำรวจที่รวบรวมแล้วเสร็จในเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา ว่ากลุ่มแรงงานอพยพวัยหนุ่มสาว มีเพียง 4 เปอร์เซนต์ ที่คิดกลับไปภูมิลำเนาเดิมและเป็นเกษตรกร
แต่การอาศัยในเมืองใหญ่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในการดิ้นรนหามุมใหม่สำหรับพวกเขา ทั้งการศึกษา และการรักษาพยาบาล ก็แพง ราคาอพาร์ทเมนท์ยังสูงเมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยในเขตเมืองใหญ่
“ชีวิตในเมืองไม่เหมือนอย่างในชนบท ที่ราบง่ายและพอเพียง พวกเราต้องเผชิญแรงกดดันในเมือง เนื่องจากต้องจ่ายค่าบ้านที่พักอาศัย และของใช้ในชีวิตประจำวันทุกอย่างก็ต้องซื้อ” อู๋ จงเหลียง แรงงานอพยพจากมณฑลกันซู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ อู่ทำงานในแดนโรงงานแห่งภาคใต้ที่เซินเจิ้น มณฑลก่วงตง มาเป็นเวลา 13 ปี ลูกชายวัย 5 ขวบ ของเขา เข้าโรงเรียนอนุบาล ค่าเทอม ราว 5,000 หยวน หรือ 25,000 บาท ต่อเทอม ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากสำหรับครอบครัว
“แต่มันก็คุ้มค่า เพราะการศึกษาในบ้านเกิดที่ชนบท ไม่ดีเท่ากับที่เซินเจิ้นนี่” อู๋ ว่า
นอกไปจาก ลูกหลานจะได้สิ่งแวดล้อมการศึกษาที่ดีกว่าแล้ว การได้อาศัยในเมืองใหญ่ๆกลุ่มแรงงานอพยพยังมีโอกาสในการฝึกฝนพัฒนาตัวเองมากกว่า
ตัวเลขสำนักงานสถิติจีน ระบุ กลุ่มประชากรในเขตเมืองของจีน ได้พุ่งแซงหน้ากลุ่มประชากรในชนบท ในปลายปี 2553 เท่ากับ 690.79 ล้าน คิดเป็น 51.27 เปอร์เซนต์ ของประชากรทั้งหมดที่อาศัยในเมือง
ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องจ่ายมากขึ้นให้กับโครงการความร่วมมือระหว่างเขตเมืองและชนบท ขณะที่ภาคเกษตรกำลังเผชิญวิกฤตขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากในชนบทเหลือเพียงผู้สุงอายุ และผู้หญิง.