เอเยนซี - โมดูลกลางของยานอวกาศไร้มนุษย์บังคับเสินโจว 8 ลงสู่พื้นโลกแล้วบริเวณทางตอนเหนือของประเทศจีน เมื่อหัวค่ำวันพฤหัสบดี (17 พ.ย.) หลังจากบรรลุภารกิจเชื่อมต่อสถานีอวกาสแห่งแรกของพญามังกรจีนได้สำเร็จ
โมดูลอวกาศของยานเสินโจว 8 ค่อย ๆ เข้าสู่ชั้นบรรยากาศและกางร่มชูชีพดิ่งลงสู่พื้นผิวโลกบริเวณหมู่บ้านซือจื่อหวัง ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน เมื่อเวลาประมาณ 19.30 น. (17 พ.ย.) นับเป็นจุดสิ้นสุดภารกิจ 49 วันเชื่อมต่อสถานีอวกาศจีน
เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ได้มีการยิงจรวดขนส่งปล่อยยานอวกาศเสินโจว 8 ณ ศูนย์ยิงจรวดจิ่วเฉวียน มณฑลกันซู่ โดยใช้จรวดขนส่งฉังเจิง 2 เอฟ เป็นจรวดขนส่ง หลังจากนั้นอีก 2 วัน เสินโจว 8 ก็ได้เชื่อมต่อกับโมดูลอวกาศชื่อ เทียนกง 1 ได้สำเร็จ เหนือพื้นโลก 343 กม.
ยานทั้งสองที่เชื่อมต่อกันจะโคจรรอบโลกเป็นเวลา 12 วัน และจะทำการเชื่อมต่อส่วนอื่น ๆ ต่อไปหลังจากแยกตัวออกจากกันในวันที่ 14 พ.ย.
ส่วนโมดูลอวกาศเทียนกง 1 ซึ่งปล่อยจากศูนย์ยิงจรวดจิ่วเฉวียน เมื่อวันที่ 29 ก.ย. จะยังคงอยู่ในวงโคจรเพื่อรอคอยการเชื่อมต่อกับเสินโจว 9 และ 10 ในปีหน้า
อู่ ผิง โฆษกหญิงประจำโครงการส่งยานอวกาศที่มีนักบินอวกาศโดยสารแห่งจีน เผยว่า อย่างน้อย 1 ในสองโครงการอวกาศต่อจากนี้ไป จะมีการส่งนักบินอวกาศขึ้นไปพร้อมกับยานด้วย
จัง ไห่ตง ผู้บังคับการปฏิบัติการลงจอดของโครงการฯ ระบุว่า ได้ระดมทีมตรวจสอบและฟื้นฟูไว้สำหรับโครงการนำยานฯ ลงสู่พื้นโลกแล้ว
จัง อธิบายว่า ปฏิบัติการลงจอดยานฯ จะใช้เวลาภายใน 2 ชั่วโมงครึ่ง และทีมตรวจสอบและฟื้นฟูจะได้ใช้เฮลิคอปเตอร์ที่ติดตั้งเครื่องรับสัญญาณที่สามารถจับตำแหน่งของยานเป็นเครื่องมือด้วย
หลังจากไปถึงยานแล้ว ทีมงานก็เริ่มปฏิบัติการตรวจสอบและเก็บข้อมูลจากยานฯ เครื่องควบคุมภายในยานจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในการจัดการและส่งไปยังศูนย์ฯ ที่ปักกิ่ง เนื่องจากได้มีการเก็บรวบรวมตัวอย่างทางชีวภาพไว้ภายใน อันเป็นฝีมือร่วมกันของนักวิทยาศาสตร์จีนและเยอรมนี จังย้ำ
6 ใน 7 ครั้งของการลงสู่พื้นดินของยานอวกาศของจีนนั้น จะลงที่บริเวณหมู่บ้านซือจื่อหวังอันเป็นทุ่งหญ้าในมองโกเลียใน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การลงสู่พื้น เนื่องจากมีประชากรอยู่น้อยนิด พื้นผิวค่อนข้างเสมอ กว้าง มีต้นไม้หรือทรัพยากรธรรมชาติไม่มาก หากมีต้นไม้เยอะจะเป็นอุปสรรคต่อการลงจอดได้
ภารกิจการเชื่อมต่อยานอวกาศเสินโจว 8 กับ เทียนกง 1 นั้น นับเป็นความสำเร็จโครงการสถานีอวกาศครั้งแรกของจีน