xs
xsm
sm
md
lg

สิ้นยุคไชนาทาวน์กลางเมืองใหญ่อเมริกา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การแสดงเชิดมังกรเนื่องในโอกาสวันตรุษจีน ณ มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 24 ม.ค. (ภาพเอเอฟพี)
งานฉลองต้อนรับวันตรุษจีนที่ย่านไชนาทาวน์ อันเก่าแก่นับร้อยปีในกรุงวอชิงตันดีซีปีนี้แตกต่างกว่าทุกปี เพราะนับเป็นครั้งแรก ที่การจัดงานเทศกาลประจำปีต้องอาศัยบริษัทด้านการตลาดรายใหญ่มาเป็นสปอนเซอร์

ขณะที่ไชน่าทาวน์ในมหานครนิวยอร์ก … ชุมชนชาวจีนแต่นมนานและใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในอเมริกานั้นเล่า จากการสำรวจสำมะโนประชากรในปี 2553 พบว่า ที่นี่หมดสภาพการเป็นชุมชนชาวจีนใหญ่ที่สุดในมหานครแห่งนี้อีกต่อไปแล้ว

ความเสื่อมถอยร่วงโรยตามกาลเวลากำลังอุบัติให้เห็นในไชน่าทาวน์กลางเมืองใหญ่บนแดนลุงแซม ไม่ว่าจะเป็นที่นครลอสแองเจลิส บอสตัน ฮุสตัน ซานฟรานซิสโก และซีแอตเติล

ขณะเดียวกันชุมชนจีนขนาดเล็กแห่งใหม่ก็ผุดกระจัดกระจายไปในแถบรอบนอกของเมือง

“ชุมชนชาวจีนแต่ดั้งเดิมกำลังเปลี่ยนไป และไชน่าทาวน์ในเมืองส่วนใหญ่เวลานี้ก็ไม่ได้เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมประเพณี การเมือง และที่อยู่อาศัยของชาวอเมริกันเชื้อสายจีนเหมือนแต่ก่อน” อาจารย์เหวย หลี่ แห่งมหาวิทยาลัยอริโซน่า และเป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านประชากรเอเชียของสำนักสำมะโนประชากรกล่าว

เธอระบุว่า ปัจจุบันชาวอเมริกันเชื้อสายจีนย้ายไปอาศัยในแถบชานเมืองกันมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยค่าครองชีพที่สูงขึ้น อาชีพการงาน และความต้องการมีบ้าน ที่โล่งกว้างขวางกว่าเดิม

หากมองย้อนกลับไปในอดีตนั้น ชุมชนจีนยุคแรกบนดินแดนอเมริกาเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1800 ในยุคการตื่นทองและการก่อสร้างทางรถไฟ ทว่าหลังจากงานก่อสร้างเสร็จสิ้น ก็เกิดภาวะขาดแคลนงาน รัฐสภาสหรัฐฯ จึงผ่านร่างกฎหมายในปีค.ศ.1882 ห้ามแรงงานชาวจีนรุ่นใหม่เข้าประเทศ

ดังนั้น เพื่อหาที่พักพิง ผู้อพยพชาวจีน ซึ่งมีอยู่มากมาย จึงหลีกเลี่ยงการทำงาน ที่แข่งขันกับชาวผิวขาวด้วยการหันมาเปิดร้านซักรีดเสื้อผ้า และร้านอาหารในชุมชนชาวจีน ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองแทน

ไชนาทาวน์เจริญฟู่ฟ่าอย่างมากในช่วงศตวรรษที่ 20 เมื่อสหรัฐฯ ยกเลิกคำสั่งห้ามดังกล่าว และต่อมาได้ผ่อนคลายกฏหมายผู้อพยพเข้าเมืองของรัฐบาลกลางในปีค.ศ. 1965 ซึ่งส่งผลให้ชาวจีนหลั่งไหลอพยพมายังดินแดนแห่งความฝันอย่างไม่ขาดสาย
เนลสัน ชาน แต่งกายเป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภในย่านไชน่าทาวน์ เนื่องในโอกาสวันตรุษจีน 23 ม.ค. ณ มหานครนิวยอร์ก (ภาพเอเฟพี)
มาวันนี้ ครอบครัวเชื้อสายจีน ซึ่งมีรายได้น้อยกลับพอใจ ที่จะย้ายไปอาศัยในเขตรอบนอกของเมือง ได้แก่ ย่านฟลัชชิ่งในเขตควีนส์ หรือย่านซันเซ็ตพาร์กในเขตบรูกลินมากกว่าการอาศัยอยู่ในไชน่าทาวน์กลางมหานครนิวยอร์ก

นอกจากนั้น มีชาวอเมริกันเชื้อสายจีนจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะพวกที่ฐานะดี หรือมีดีกรีจากมหาวิทยาลัย บ่ายหน้าไปอาศัยในแถบชานเมืองทางตอนใต้ของประเทศ เช่นรัฐฟลอริด้า จอร์เจีย นอร์ทแคโรไลน่า เวอร์จิเนีย และเท็กซัส โดยรัฐเหล่านี้มีงานด้านการผลิตอุตสาหกรรม หรืองานเกี่ยวกับเทคโนโลยีขั้นสูงให้ทำมากมายกว่าแต่ก่อน

ชุมชนจีนใหม่เหล่านี้โดยทั่วไปจะมีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ให้ผู้ที่อยู่ไกลออกไปหลายไมล์ ได้มาพบปะสังสรรค์ตามประสาคนวัฒนธรรมเดียวกันในร้านเสริมสวยบ้าง ที่ภัตตาคารติ่มซำบ้าง หรือที่ซูเปอร์มาร์เกตของชาวเอเชีย

“การโยกย้ายจากชุมชนจีนในเมืองใหญ่แสดงให้เห็นว่า การกีดกันคนต่างเชื้อชาติวัฒนธรรมและการขัดขวางการยกระดับฐานะได้ลดน้อยถอยลงแล้ว ” แดเนียล ลิกเตอร์ อาจารย์ด้านสังคมวิทยาของมหาวิทยาลัยคอร์เนลระบุ

แม้ยุคสมัยได้เปลี่ยนแปลงไป กระนั้นก็ตาม ไชน่าทาวน์แต่เก่าก่อนก็ไม่เห็นจะต้องจากหายไปไหน เขาเปรียบเทียบกับ “ดินแดนอิตาลีน้อย” ชุมชนชาวอเมริกันเชื้อสายอิตาเลียน ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งช้อปปิ้งและแหล่งอาหารอร่อย ๆ ที่ชาวอเมริกันทุกภูมิหลังพากันแวะเวียนมา

“ไชน่าทาวน์อาจเปลี่ยนจากแหล่งพักพิงอันปลอดภัยของผู้อพยพชาวเอเชียมาเป็นแหล่งตอบสนองรสนิยมลองลิ้มชิมรสชาติอาหารต่างวัฒนธรรมใหม่ ๆ ที่ไม่มีวันจบสิ้นสำหรับอเมริกาก็เป็นไป ‘’ อาจารย์ลิกเตอร์เสนอแนะ

ที่กรุงวอชิงตันดีซี ในเขตเมือง ซึ่งชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียอาศัยอยู่ครึ่งล้านคนนั้น มีชาวเอเชียอาศัยอยู่ในไชน่าทาวน์ไม่ถึง 500 คน จาก 3,000 คนในปีค.ศ.1970 และจากในอดีต ที่เป็นชุมชนอาศัยรวมกัน มีห้องแถวและร้านค้า ตอนนี้ไชนาทาวน์ที่นี่กลายเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในฐานะสถานที่เล่นกีฬา ที่ตั้งตึกอพาร์ตเมนต์หรู และร้านแฟรนไชส์อย่างร้านกาแฟสตาร์บักส์

อย่างไรก็ตาม ไชน่าทาวน์ในเมืองก็ยังคงรักษาบทบาทเป็นแหล่งพักพิงสำหรับผู้อพยพหน้าใหม่ ที่มีการศึกษา หรือทักษะฝีมือน้อย อีกทั้งยังคงเป็นบ้านสำหรับผู้สูงอายุ ที่แทบไม่รู้ภาษาอังกฤษ และไปไหนไม่ได้

Soohyun Julie Koo ผู้อำนวยการสำนักงานเขตด้านกิจการชาวเอเชียและชาวเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายจีนยอมรับว่า ไชน่าทาวน์ในกรุงวอชิงตันดีซีกำลังเล็กลง

ด้านผู้จัดงานแห่มังกรเชิดสิงโตในชุมชนระบุว่า ถึงเวลาแล้ว ที่จะต้องหาสปอนเซอร์มาส่งเสริมสนับสนุนมรดกวัฒนธรรมของไชน่าทาวน์กลางเมือง ก่อนที่มันจะอับเฉาโรยราไปในที่สุด
บรรยากาศวันตรุษจีนไชน่าทาวน์ ณ มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 23 ม.ค. (ภาพเอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น