xs
xsm
sm
md
lg

ศึกชิงชัย (ไม่) บริโภคหูฉลามบนแดนมังกร

เผยแพร่:   โดย: ชัยพร พยาครุฑ

แรงงานกำลังจัดวางหูฉลามลงตะกร้า ณ โรงงานเมืองเวินโจว มณฑลเจ้อเจียง (ภาพไชน่าเดลี)
เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ - กลายเป็นข่าวคึกโครมบนเกาะฮ่องกงเมื่อเจ้าของเครือโรงแรมเพนินซูล่าออกมาประกาศให้โรงแรมในสังกัด 9 แห่ง ทั้งในฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง โตเกียวและนิวยอร์ก ยกเลิกการเสิร์ฟเมนู “หูฉลาม” รับปีใหม่ 2555

บรรดานักสิทธิสัตว์และอนุรักษ์ฉลาม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นองค์กรของประเทศตะวันตกบนแผ่นดินจีน ต่างปรบมือไชโยโห่ร้องกับแถลงการณ์ของโรงแรมฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเพนินซูล่า ที่ระบุ (21 พ.ย.) ว่า “จะงดเสิร์ฟเมนูหูฉลามทุกสาขาของโรงแรมในเครือ มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 2555 เป็นต้นไป”

ฝ่ายผู้บริหารของโรงแรมหรูให้เหตุผลเพื่อรักษาระบบนิเวศทางทะเล และนำร่องให้โรงแรมหรูแห่งอื่นปฏิบัติตาม เนื่องจากจำนวนฉลามถูกไล่ล่าจนลดน้อยถอยลงตามข้อมูลสถิติของนักรณรงค์ตะวันตก

อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการหูฉลามบนเกาะฮ่องกง ต่างพากันฉงนสนเท่ห์กับแถลงการณ์ของเพนินซูล่า ต่างออกมาฟาดหัวฟาดหางว่าทำธุรกิจหูฉลามกมานานปี หากมีการรณรงค์ยกเลิกจริง ย่อมกระทบกระเทือนต่อธุรกิจพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในย่านถนน Des Voeux Road ใกล้กับใจกลางธุรกิจฮ่องกง ซึ่งมีร้านรวงขายอาหารแห้งเรียงราย มีตั้งแต่เห็ดหอมไปยันม้าน้ำ และถนนเส้นนี้ก็เป็นแหล่งรวมการค้าหูฉลาม ซึ่งแต่ละปีจะมีการนำเข้าหูฉลามแห้งปริมาณมากถึง 10,000 ตัน

ผู้ประกอบการตอบโต้นักสิทธิฯว่า บรรดานักสิทธิฯตัวดีพุ่งเป้าโจมตีพวกเขาเสมอมา นาย Kwong Hung-kwanผู้ประกอบการหูฉลาม “ชาร์กฟินซิตี้” เผยว่า “การที่กลุ่มอนุรักษ์หยิบยกแต่ประเด็นจำนวนฉลามลดลงทั่วโลกมาพูดนั้น เป็นเรื่องเหลวไหล เพราะมีงานวิจัยอีกชุดระบุว่า จำนวนฉลามนักล่าเพิ่มขึ้นนับจากปี 2543 มากถึง 8 เท่าตัว แต่ข้อมูลเช่นนี้กลับไม่ได้รับความสนใจ”

“คนจีนบริโภคหูฉลามกันมาช้านาน เราบริโภคหูฉลามกันเฉพาะในงานสำคัญหรือประเพณีเทศกาลเท่านั้น อาทิ งานแต่งหรืองานเลี้ยงในแถบตอนใต้ของจีน ดังนั้นหูฉลามจึงกลายเป็นอาหารที่สะท้อนประเพณีของจีน” Kwong งัดประเด็นวัฒนธรรมมาตอบโต้

คุณหมอชรัช งามศรัทธา แพทย์แผนจีนในไทย อธิบายว่า เหตุที่นิยมบริโภคหูฉลามกันมาแต่โบราณกาล เพราะถือเป็นอาหารสุดยอดที่หายาก กระบวนการล่าฉลามต้องเสี่ยงชีวิต เมื่อก่อนเครื่องไม้เครื่องมือไม่ก้าวหน้าเช่นปัจจุบัน ทำให้ผู้ที่มีสิทธิ์บริโภคหูฉลามจึงเป็นเพียงชนชั้นนำและมหาเศรษฐี การบริโภคหูฉลามสะท้อนฐานะและบารมีสืบทอดกันมา กลายเป็นความนิยมด้านการจัดหาอาหารรับรองเพื่อให้สมฐานะ จึงพลาดไม่ได้ที่จะต้องมีหูฉลามไว้อวดบารมีของเจ้าภาพ

ส่องคุณค่า “หูฉลาม” ผ่านแว่นแพทย์แผนจีน

การบริโภคหูฉลามเป็นเพียงค่านิยม ไม่ได้อยู่ที่คุณค่าทางยาหรือการรักษาโรค อยู่ที่คุณค่าด้าน อารมณ์ ความรู้สึก มากกว่า หูฉลามสดไม่สามารถบริโภคได้ทันทีเพราะมีกลิ่นคาวรุนแรง แต่ที่หูฉลามเอร็ดอร่อยเป็นเพราะเครื่องปรุงและกรรมวิธีที่ละเอียดอ่อน

“ตามทฤษฎีแพทย์แผนจีนระบุว่า หูฉลามจัดเป็นยารสชุ่ม ฤทธิ์กลาง เข้าเส้นม้ามและปอด รสชุ่มมีสรรพคุณเป็นยาบำรุง (หากเป็นรสขมจะมีสรรพคุณขับพิษของเสีย) ส่วนฤทธิ์กลางหมายถึงไม่ร้อนไม่เย็น ไม่ว่าใครก็สามารถใช้ได้ ไม่มีพิษ ส่วนเข้าเส้นหมายความว่ามีสรรพคุณโดยตรงต่ออวัยวะส่วนใดของร่างกาย หูฉลามมีสรรพคุณบำรุงปอดกับม้าม” คุณหมอชรัชอธิบาย “เมื่อมีสรรพคุณบำรุงม้าม ก็จะช่วยให้เจริญอาหาร ดังนั้นเมนูหูฉลามจึงมักจะเป็นอาหารชามแรกบนโต๊ะเสมอ”
ตัวอย่างร้านหูฉลามและอาหารทะเลแห้งบนเกาะฮ่องกง (ภาพเอเอฟพี)
อย่างไรก็ดีคุณหมอตั้งคำถามว่า เมนูหูฉลามต้มเคี่ยวกับซุปไก่ ใส่แป้ง น้ำแกงเหนียวซึ่งระคายเคืองไม่เหมาะกับม้ามและกระเพาะอาหาร ดังนั้นซุปหูฉลามไม่น่าจะมีฤทธิ์เจริญอาหาร “ตัวหูฉลามอาจจะมีสรรพคุณ แต่พอปรุงแล้วถูกวัตถุดิบอื่นกลืนหมด สรรพคุณคงไม่เหลืออะไร”

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท. ของไทยให้ข้อสังเกตทางวิทยาศาสตร์ไว้ว่า ครีบฉลามที่นำมารับประทานได้ผ่านกระบวนการหลายอย่าง ตั้งแต่การแตกแห้ง ต้มเปื่อย และขูดหนังทิ้งจนเหลือแต่กระดูกอ่อน เหลืคัลเซียมอยู่ไม่กี่มากน้อย ในด้านคุณค่าทางโภชนาการแล้ว หูฉลามหนึ่งชามมีค่าเสมอด้วยไข่เป็ดฟองเดียวเท่านั้น

คุณหมอชรัชตั้งคำถามไว้อย่างน่าสนใจว่า “ถ้าหูฉลามเป็นยาได้จริง เหตุใดร้านขายยาจีนไม่มีหูฉลามในตำรับ”

คำตอบนั้นง่ายมาก... เพราะมีอย่างอื่นที่สามารถทดแทนได้ดีมีผลชะงัดกว่า และราคาถูกกว่า เช่น กระเพาะปลา ก็มีฤทธิ์บำรุงม้าม บำรุงเลือด เจริญอาหาร บางทีเปลือกส้มและขิงก็ช่วยให้เจริญอาหารได้ หูฉลามมีสรรพคุณธรรมดาและอ่อนมากจึงมิอาจจัดเข้าตำรับยา คุณหมอย้ำ

โรงแรมหรูในฮ่องกงแบ่งรับแบ่งสู้

เมื่อการบริโภคหูฉลามเป็นเพียงค่านิยม กอปรกับโรงแรมเพนินซูล่าก็ประกาศชัดเลิกเสิร์ฟหูฉลามนำร่องการรณรงค์ ทำให้โรงแรมหรูอื่น ๆ ในเกาะฮ่องกงพิจารณาเรื่องหูฉลามเป็นการใหญ่ ตัวอย่างเช่นโรงแรมโฟร์ซีซัน ก็ออกมาประกาศว่าจะไม่เขียนเมนูหูฉลามไว้ในเมนูอาหาร แต่เมื่อลูกค้าสั่งก็จะทำเสริฟให้ เพราะโรงแรมฯ มีชื่อเสียงด้านการจัดงานเลี้ยงและวิวาห์ จะขาดหูฉลามไม่ได้

ส่วนเครือโรงแรมอื่น ๆ อย่าง คอนราด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือฮิลตัน กรุ๊ป และเรกัล ฮ่องกง ก็มีนโยบายคล้ายกัน คือยังตัดสินใจว่าจะระบุหรือไม่ระบุเมนูหูฉลามไว้บนเมนู

ก่อนหน้านี้ องค์กรรณรงค์ไม่บริโภคหูฉลามบนเกาะฮ่องกง ชี้ว่า การบริโภคหูฉลามจำนวนมากทำให้เกิดการล่าและจำนวนฉลามลดลงอย่างรวดเร็ว นักสิ่งแวดล้อมรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลสั่งห้ามหรือจำกัดการบริโภคหูฉลามอย่างเข้มงวด ขณะที่ผู้บริโภคหลายคนเชื่อว่าการกินหูฉลามช่วยบำรุงสุขภาพ

ซุปหูฉลาม 30 กรัม ใส่ชามขนาดบริโภค 12 คน ขายในราคา 140 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนถ้าเป็นหูฉลามแห้งขายที่กิโลกรัมละ 1,280 กว่าดอลลาร์สหรัฐ โดยทั่วไปแล้วอาหารทะเลมีคุณค่าอาหารสูง แต่ถ้าจะกินหูฉลามเพื่อให้ได้สรรพคุณให้ร่างกายแข็งแรงนั้นไม่คุ้มค่าอย่างยิ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น