เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - หากตัดสินใจปักหลักใช้ชีวิต หรือคิดจะโยกย้ายมาลงทุนบนเกาะฮ่องกงแล้วไซร้ หลายคนคงกังวลกับปัญหาค่าครองชีพที่แพงลิบลิ่ว แต่ตอนนี้.. ค่าอำนวยความสะดวกต่าง ๆ มันก็ไม่ได้แพงอย่างที่คิดแล้ว
สืบเนื่องจากงานศึกษาระดับโลกเกี่ยวกับธุรกิจบนเกาะฮ่องกงพบว่า มันมีความสัมพันธ์กับค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง
ผลศึกษาของบริษัทให้คำปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ อีซีเอ อินเทอร์เนชั่นแนล เผยว่า “แต่ก่อนนั้นฮ่องกงติดอันดับเมืองที่มีค่าครองชีพแพงหูฉีก ไม่ว่าจะเทียบกับเมืองอื่นในเอเชียหรือในโลก หากว่าตัดสินใจจะย้ายมาอยู่บนเกาะนี้แล้วค่าใช้จ่ายนั้นแพงกว่าเมืองใหญ่อย่างกรุงปักกิ่งหรือเซี่ยงไฮ้ด้วยซ้ำ”
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้หากวัดเรื่องค่าครองชีพของทั้งโลกแล้วนั้น ฮ่องกงจากปีที่แล้วอยู่อันดับ 32 ปีนี้กลับร่วงกรูดลงมาอยู่อันดับ 58 ทีเดียว
ผลสำรวจระบุว่า โตเกียวยังคงครองอันดับบนสุดของตาราง ตามมาด้วยกรุงออสโล ส่วนสิงคโปร์อยู่ที่อันดับ 31 กรุงปักกิ่งอยู่ที่ 35 และเซี่ยงไฮ้อยู่ที่ 41
หากวัดกันเฉพาะในเอเชีย ฮ่องกงร่วงจากอันดับ 6 มาอยู่อันดับ 9 รองจากโตเกียวและอีก 3 เมืองของญี่ปุ่น กรุงโซล สิงคโปร์ ปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้ ตามลำดับ
แต่ผลสำรวจซึ่งออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือบรรษัทข้ามชาติที่ต้องตัดสินใจบนฐานการคำนวณเรื่องค่าครองชีพ คำณวนจากเงินเดือนที่ได้รับ ตัดลบด้วยค่าเช่าบ้าน และค่าใช้จ่ายแล้วนั้น ทำให้ฮ่องกงเป็นเมืองที่น่าเข้ามาลงทุน น่าอยู่เป็นอันดับสองเลยทีเดียว
“ฮ่องกงนั้นถูกตรึงติดอยู่กับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ” หลี่ เฉวียน ผู้อำนวยการอีซีเอเผย (7 ธ.ค.) “ค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่านั้นหมายถึงว่า ค่ครองชีพในฮ่องกงก็ถูกลงด้วย ถูกกว่าปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ด้วยซ้ำ เพราะทั้งสองเมืองดังกล่าวยังต้องผจญปัญหาเงินเฟ้อและราคาสินค้าแพง”
ผลสำรวจได้ทำการเปรียบเทียบราคาของตะกร้าสินค้าเพื่อการบริโภค กับค่าบริการที่แรงงานต่างชาติเข้ามาใช้ อาทิ ค่าสินค้าของชำร่วย เครื่องดื่ม ยาสูบ เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า และค่าอาหาร ในกว่า 400 เมืองทั่วโลก
ราคาสินค้าโดยรวมในฮ่องกงเพิ่มสูงขึ้นกว่า 7 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าน้อยกว่าราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นในกรุงปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้อยู่ 2 เปอร์เซ็นต์
“ฮ่องกงตกอันดับเมืองค่าครองชีพสูง เป็นข่าวดีสำหรับบริษัทที่จะเข้ามาลงทุน ทำให้การตัดสินใจขยายฐานการผลิตไปยังแผ่นดินใหญ่ต้องเปลี่ยนไป เนื่องจากเมืองบนแผ่นดินใหญ่ค่าครองชีพแพงกว่าอาจจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงกว่า” เฉวียนเผย
เฉวียนย้ำว่า ผลสำรวจไม่ได้ติดตามเรื่องที่อยู่อาศัย เพราะว่าบริษัทข้ามชาติมักจะมีบ้านพักเจ้าหน้าที่แยกไว้ให้ต่างหากเป็นสวัสดิการอยู่แล้ว
จีนต้องประสบปัญหาสภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงประมาณสามไตรมาสแรกของปีนี้พุ่งสูงอยู่ที่ 5.6 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว.