xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ข้องใจ ปภ.ไม่ประกาศเงินช่วยน้ำท่วมเพิ่มตามคำสั่งคลัง ยันแค่ 5 พันไม่พอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายประมวล เอมเปีย (แฟ้มภาพ)
“ประมวล” แปลกใจ “ปภ.” เก็บเงียบไม่ยอมประกาศระเบียบเงินช่วยเหลือส่วนอื่นๆ ตามสิทธิที่ควรจะได้รับตามคำสั่งของ ก.คลัง ซัด รัฐเหมาจ่ายเงินเยียวยาแค่ 5 พัน ไม่พอช่วยผู้ประสบภัย วอน ช่วยเหลืออย่างจริงใจเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทย

วันนี้ (5 ธ.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายประมวล เอมเปีย ผู้เชี่ยวชาญประจำผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมในหลายจังหวัด ว่า ขณะนี้มีหลายจังหวัดที่ระดับน้ำลดลงแล้ว ซึ่งรัฐบาลได้มีมติ ครม.ในการเยียวยาชดเชยความเสียหายให้พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ ซึ่งประกาศให้เป็นเขตภัยพิบัติ โดยรัฐบาลได้ประกาศให้เงินช่วยเหลือแล้วกับพี่น้องประชาชนครอบครัวละ 5,000 บาท รวมทั้งพื้นที่กทม.ในหลายเขตด้วย แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ในส่วนของราชการที่เกี่ยวข้องในการเยียวยาช่วยเหลือชดเชยความเสียหายเพิ่มเติม อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ยังไม่มีการดำเนินการชดเชยเยียวยาให้พี่น้องประชาชนตามสิทธิ ที่มีระเบียบ และกฏหมายต่างๆ ให้สิทธิไว้ อาทิ ในกรณีบ้านเรือนที่อยู่อาศัยเสียหายบางส่วนต้องได้รับการชดเชยเงินอีก รายละ 20,000 บาท เป็นต้น ซึ่งตนได้รับเอกสารราชการจากผู้หวังดีและต้องการที่จะเรียกร้องสิทธิของประชาชนผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วมในครั้งนี้ ว่า เมื่อบ้านเรือนของชาวบ้านเสียหายจมน้ำ สูญเสียทรัพย์สินที่หามาได้ทั้งชีวิต บางคนสิ้นเนื้อประดาตัว ลำพังเงินชดเชยจากภาครัฐแค่ 5,000 บาท ไม่สามารถทำอะไรได้

นายประมวล กล่าวต่อว่า สำหรับเอกสารที่ตนได้รับเป็นหนังสือหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ที่ทางกระทรวงการคลัง โดย นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน ได้มีหนังสือประทับตรา ด่วนที่สุดที่ กค 0406.3/ว.130 ลงวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา ถึงอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน โดยมีสาระว่า ทางกระทรวงการคลังได้ยกเลิกหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการให้ควาช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2546 ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2546 ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2546 โดยให้ใช้หลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2551 ที่แก้ไขเพิ่มเติมแทน ซึ่งในระเบียบดังกล่าวมีการระบุการจ่ายเงินทดลองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ให้ปฏิบัติหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขและอัตราการช่วยเหลือต่างๆ ตามสิทธิของผู้ประสบภัย

ผู้เชี่ยวชาญประจำผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวต่อว่า ในเอกสารดังกล่าวได้มีการระบุถึงสิทธิ และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยไว้ชัดเจน แต่หน่วยงานของรัฐบาลที่รับผิดชอบ ยังไม่มีการดำเนินการชดเชยเยียวยาให้กับพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัย อาทิ ที่ระบุสิทธิ ในข้อ 5.1.1 ค่าอาหารจัดเลี้ยงผู้ประสบภัย มื้อละไม่เกิน 30 บาท/วัน/คน และช่วยเหลือถุงยังชีพไม่เกินชุดละ 500 บาท/ครอบครัว 5.1.2 ค่าเครื่องครัวและอุปกรณ์ในการประกอบอาหาร เท่าที่จ่ายจริง ครอบครัวละไม่เกิน 3,500 บาท โดยเฉพาะสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาในข้อ 5.1.4 ที่ระบุว่า “ค่าวัสดุซ่อมแซมที่อยู่อาศัยประจำ ซึ่งผู้ประสบภัยเป็นเจ้าของที่ได้รับความเสียหายบางส่วน และที่อยู่อาศัยของพระภิกษุสามเณรในวัดที่ได้รับความเสียหายบางส่วน เท่าที่จ่ายจริงหลังละไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งกรณีนี้กรม ปภ.ไม่มีการพูดถึงระเบียบหรือสิทธิที่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมจะได้รับเลย มีเพียงบางจังหวัดที่มีการจัดงบประมาณให้กับผู้ประสบภัยบางรายเท่านั้น ส่วนในข้อ 5.1.5 เป็นค่าชดเชยให้บ้านที่เสียหายทั้งหลังแต่ไม่เกิน 30,000 บาท นอกจากนี้ ในข้อ 5.1.6 ยังระบุให้มีการชดเชยค่าวัสดุซ่อมแซมยุ้งข้าว โรงเรือนสำหรับเก็บพืชผลและคอกสัตว์ที่ได้รับความเสียหายบางส่วน เท่าที่จ่ายจริง ครอบครัวละ ไม่เกิน 3,000 บาท ข้อ 5.1.6 ค่าวัดสดุยุ้งข้าว คอกสัตว์ที่เสียหายทั้งหลัง จ่ายไม่เกิน 8,000 บาท

นายประมวล กล่าวอีกว่า ยังมีอีกมากที่หน่วยงานภาครัฐไม่ได้ดำเนินการชดเชยเยียวยาให้กับผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ที่ไม่ได้เข้าไปอาศัยพักพิงในศูนย์อพยพที่รัฐจัดให้คือ ข้อ 5.1.10 กรณีที่ผู้ประสบภัยพิบัติเช่าบ้านเรือนของผู้อื่นและบ้านเช่าเสียหายจากภัยพิบัติทั้งหลังหรือเสียหายบางส่วน จนอยู่อาศัยไม่ได้ ให้ช่วยเหลือเป็นค่าเช่าบ้านแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ เท่าที่จ่ายจริงในอัตราครอบครัวละไม่เกินเดือนละ 1,500 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 2 เดือน หรือข้อ5.1.11 ที่ระบุว่า ค่าดัดแปลงสถานที่สำหรับเป็นที่พักชั่วคราว เท่าที่จ่ายจริงครอบครัวละ ไม่เกิน 2,000 บาท หรือค่าสร้างที่พักชั่วคราว เท่าที่จ่ายจริง ครอบครัวละไม่เกิน 4,000 บาท หรือค่าผ้าใบ ผ้าพลาสติกสำหรับใช้กันแดด ฝนและป้องกันอุทกภัย เท่าที่จ่ายจริง ครอบครังวละไม่เกิน 800 บาท หรือแม้กระทั่งข้อ 5.1.13 ที่ให้สิทธิผู้ประสบภัยพิบัติ ได้รับค่าเครื่องนุ่งห่ม คนละ 2 ชุด เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,000 บาท ในกรณีที่ผู้ประสบภับพิบัติเป็นนักเรียนหรือนักศึกษา ให้จ่ายค่าเครื่องแบบนักเรียนหรือนักศึกษาตามแบบของสถานศึกษาได้อีกคนละ 2 ชุด เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,000 บาท เป็นต้น

“ทั้งหมดเป็นแค่น้ำจิ้มของรายละเอียดที่ทางกระทรวงการคลังได้ส่งบันทึกแบบวิธีปฏิบัติในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ให้กรม ปภ.ซึ่งมีหน้าที่หลักในการดูแลรับผิดชอบ ช่วยเหลือ เยียวยาพี่น้องประชาชนผู้ประสบอุทกภัย แต่ถามว่า ที่ผ่านมา ชาวบ้านที่ตกระกำลำบากน้ำท่วมเป็นแรมเดือนทั้งในต่างจังหวัด และ กทม.ที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่เขตภัยพิบัติ เขารู้สิทธิ รู้ว่าภาครัฐจะช่วยเหลือชดเชยเยียวยาให้ชาวบ้านหรือไม่ ไม่มีการพูดถึง ไม่มีการแจ้งสิทธิให้ชาวบ้านรู้เลย จึงไม่แปลกใจที่หลายหน่วยงาน หลายองค์กรเอกชนจะออกมาให้ข่าวว่าจะมีการรวมตัวฟ้องร้องภาครัฐในการชดเชยเยียวยา เพราะการเหมาจ่ายให้แค่หลังละ 5,000 บาทในพื้นที่ภัยพิบัติ ไม่เพียงพอต่อความเสียหายของทรัพย์สินและการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของประชาชน เพราะหากแจกแจงในระเบียบที่ให้สิทธิการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เขียนได้ดีมาก แต่ถามว่าผลในทางปฏิบัติมันสวนทางกันแบบฟ้ากับเหว ยังไม่รวมค่ารักษาพยาบาล การบาดเจ็บ เสียชีวิต ค่าเครื่องมือประกอบอาชีพที่สูญเสียไป หรือแม้กระทั่งการดูแลด้านการแพทย์และสาธารณสุข หรือกระทั่งการดูแลเรื่องผลผลิตการเกษตร ไม้ผลยืนต้นตาย ก็ล้วนต้องได้ค่าชดเชยเยียวยา ถามว่า วันนี้ ชาวบ้านเขารู้อะไรนอกจากเงินช่วยเหลือแค่ 5,000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอในการฟื้นฟูชีวิตของคนที่ประสบภัยน้ำท่วมในปีนี้ จึงอยากให้รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐมีความจริงใจที่จะช่วยเหลือชาวบ้านจริงๆ ว่าเขามีสิทธิอะไรที่ต้องได้รับบ้าง อย่างน้อยก็เป็นของขวัญปีใหม่ที่รัฐบาลที่มักพูดเสมอว่ามาจากการเลือกตั้งของประชาขนจะได้ช่วยเหลือประชาชนให้ครบถ้วน ทั่วถึงไม่มีการเลือกปฏิบัติเลือกว่าพวกเขาหรือพวกเรา” นายประมวล กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น