เอเจนซี-อดีตลามะทิเบตจุดไฟเผาตัวเอง โดยนับเป็นชาวทิเบตรายที่ 12 ที่ใช้รูปแบบการประท้วงอย่างสุดโต่งเช่นนี้ในรอบปีนี้
อินเตอร์เนชั่นนัล แคมเปญ ฟอร์ ทิเบต (International Campaign for Tibet) แถลงข่าวการจุดไฟเผาตัวเองครั้งล่าสุด โดยอ้างแหล่งข่าวทิเบตพลัดถิ่น เผยว่าอดีตลามะ ชื่อเทนซิน พันซ็อก ได้จุดไฟเผาตัวเมื่อวันพฤหัสฯ(1 ธ.ค.) เหตุเกิดในแคว้นชางตู เขตปกครองตัวเองชนชาติทิเบต แต่เขารอดชีวิตและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล
อินเตอร์เนชั่นนัล แคมเปญ ฟอร์ ทิเบต บอกว่าเทนซิน พันซ็อค เป็นลามะที่อารามการ์มาในแคว้นอัมโด ขณะนี้อารามการ์มาถูกปิดหลังจากที่มีข่าวลือการวางระเบิดที่สำนักงานรัฐบาลท้องถิ่นเมื่อเดือนต.ค.
ก่อนหน้า นับจากเดือนมี.ค. ลามะและแม่ชีในพุทธศาสนาแบบทิเบต 11 ราย ได้จุดไฟเผาตัวเอง เรียกร้องอิสรภาพทิเบต และการกลับสู่บ้านเกิดในทิเบตขององค์ทะไล ลามะ วัย 76 ปี การประท้วงเผาตัวของลามะและชี 11 รายนี้ เกิดขึ้นในชุมชนทิเบตในมณฑลซื่อชวน (หรือเสฉวน) โดยอย่างน้อย 6 คน เสียชีวิต
กระทรวงต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนตีตราการสังเวยชีวิตตัวเองในชุมชนทิเบต ว่าเป็นความเคลื่อนไหว “ลัทธิก่อการร้าย”
ตำรวจในชางตูที่เกิดเหตุประท้วงเผาตัวครั้งล่าสุด บอกกับกลุ่มผู้สื่อข่าวว่า “พวกเราไม่รู้ข่าว ไม่มีข้อมูลใดเกี่ยวกับกรณีฯนี้”
สำหรับการตรวจสอบยืนยันข่าวจากแหล่งข่าวกลุ่มรณรงค์สิทธิทิเบตอย่าง อินเตอร์เนชั่นนัล แคมเปญ ฟอร์ ทิเบต ไม่อาจทำได้ เนื่องจากจีนได้ห้ามผู้สื่อข่าวต่างชาติเดินทางไปยังทิเบตโดยไม่ได้รับอนุญาต ในแต่ละปีรัฐบาลกลางจะจัดทัวร์เยี่ยมเยือนทิเบตของกลุ่มผู้สื่อข่าวต่างชาติ แต่ปีนี้ยังไม่มีการจัดฯ
ทั้งนี้ จีนคอมมิวนิสต์ได้ประกาศอำนาจปกครองทิเบต และกำหนดเป็นเขตปกครองตัวเองชนชาติทิเบต พร้อมส่งกองกำลังเข้ามายังดินแดนในปี 2493 เมื่อการลุกฮือต่อต้านอำนาจปกครองจีนในทิเบตที่มีการปะทะนองเลือด ล้มเหลว ทะไล ลามะก็ได้ลี้ภัยการเมืองออกจากทิเบตในปี 2502 และมีการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่เมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดีย
ศึกขัดแย้งเหนือดินแดนทิเบตยืดเยื้อมานับครึ่งศตวรรษ ท่ามกลางการเจรจาระหว่างฝ่ายตัวแทนจากรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตกับจีนที่คว้าน้ำเหลวทุกครั้ง จนในปี 2551 ได้เกิดจลาจลใหญ่ที่ลาซาเมืองเอกของทิเบตเมื่อเดือนมี.ค. ก่อนหน้าไม่กี่เดือนที่จีนเปิดมหกรรมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ปักกิ่งในเดือนส.ค. ด้านทะไล ลามะได้ประณามความรุนแรงและการเผาบ้านเรือนร้านค้าในลาซา แต่ก็กล่าวว่าชาวทิเบตต้องเผชิญสภาพที่สิ้นหวังเนื่องจากการควบคุมอย่างเข้มงวดของรัฐบาลในปักกิ่ง สำหรับกรณีลามะและชีเผาตัวสังเวยชีวิต ทะไล ลามะชี้ว่าเป็นเพราะ “นโยบายที่ไร้ความปราณีและกลุ่มสนับสนุนทิเบตเรียกกันว่า “การสังหารล้างวัฒนธรรม” และนี่ก็เป็นปมปัญหานำไปสู่การเผาตัวประท้วงและลามะ ชี และชาวทิเบต.