เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - จีนกังขา สหรัฐฯ เร่งเจรจาจัดตั้งกลุ่มเขตการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยไม่มีมังกรเข้าร่วม ข้องใจมีเป้าหมายใดแอบแฝง นอกเหนือจากเหตุผลเชิงเศรษฐกิจธรรมดา ๆ
ในการเจรจานอกรอบการประชุมสุดยอดผู้นำ 21 ชาติสมาชิกกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปก ที่รัฐฮาวายเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีบารัก โอบาม่า คาดว่า ข้อตกลงหุ้นส่วนความร่วมมือภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership) หรือ ทีพีพี ระหว่าง 9 ชาติ น่าจะร่างเป็นกรอบการทำงาน ที่ถูกต้องตามกฎหมายได้ภายในปีหน้า
ชาติเหล่านี้ได้แก่สหรัฐฯ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม บรูไน ชิลี และเปรู ขณะที่ญี่ปุ่นประกาศว่า สนใจเข้าร่วมการเจรจาการจัดตั้งกลุ่มเขตการค้าเสรีนี้ด้วย
นายหลู่ หงจวิน ประธานสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ในนครเซี่ยงไฮ้ระบุว่า การไร้จีน ซึ่งเป็นชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก และผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในการเจรจาทีพีพี ย่อมสะท้อนว่า สหรัฐฯ มีเป้าหมายแผ่อิทธิพลครอบงำทั่วย่านแปซิฟิก ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการรักษาความเป็นผู้นำโลกในศตวรรษนี้ เหมือนเมื่อครั้งที่สหรัฐฯ ครองบทบาทผู้นำในกลุ่มชาติภาคพื้นมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งหมายถึงการครอบงำกิจการของโลกในศตวรรษ ที่แล้ว
นักวิเคราะห์ผู้นี้ยังมองว่า การเปิดเขตเสรีการค้าจีน-อาเซียนเมื่อปี 2553 ทำให้สหรัฐฯ หวาดกลัวจีนรุกคืบขยายอิทธิพลในภูมิภาคดังกล่าว และบางคนบนแดนลุงแซมอาจเชื่อว่า ทีพีพีจะสามารถสกัดความแรงของจีนได้
"เป็นความจริง ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทีพีพี ซึ่งสหรัฐฯ มีบทบาทนำ มีนัยหลายประการในแง่ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจและภูมิศาสตร์การเมือง" นายหลู่ชี้
" ทีพีพียังเป็นการท้าทายจีนครั้งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจีนถูกกันออกไปตั้งแต่เริ่มต้น"
นายหลู่กล่าวว่า ในภาวะที่ยุโรปจมอยู่ในวังวนวิกฤตหนี้สาธารณะ โอบาม่าย่อมเล็งเห็นว่า การเติบโตอย่างรวดเร็วของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกคือเครื่องมือสำคัญ ที่จะทำให้คำสัญญาระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่แล้วของเขากลายเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มยอดการส่งออกของสหรัฐฯ อีกสองเท่า การจ้างงาน และการลดอัตราการว่างงาน ที่อยู่ในระดับสูงของสหรัฐฯ
ด้านนายเกรกอรี่ ชิน ประธานกลุ่มวิจัยแห่งจีนของศูนย์นวัตกรรมการปกครองระหว่างประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ที่แคนาดาระบุว่า สหรัฐฯ กำลังสนใจเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรกับชาติอื่น ๆ ซึ่งอยู่ล้อมรอบจีนให้แข็งแกร่ง
ขณะที่นายหวัง หยง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยปักกิ่งมองว่า จีนกำลังวิตกกังวลว่า สหรัฐฯกำลังใช้ทีพีพีมาฉุดรั้งการผงาดของจีนใช่หรือไม่
อย่างไรก็ตาม มีนักวิเคราะห์อีกหลายคนเห็ว่า จีนกำลังวิตกเรื่องการเป็นหุ้นส่วนนี้มากจนเกินไป
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (11พ.ย.) นายเฉิน เต๋อหมิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของจีนระบุระหว่างไปร่วมการประชุมสุดยอดเอเปกว่า หากได้รับเชิญเข้าร่วมข้อตกลงทีพีพี จีนก็คงจะพิจารณาอย่างจริงจัง
จากนั้นอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา นายไมก์ โฟรแมน รองที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ก็ออกมาตอบโต้ว่า การริเริ่มทำข้อตกลงดังกล่าว "ไม่ใช่เรื่องที่บุคคลหนึ่งต้องได้รับคำเชิญถึงจะทำ แต่เป็นเรื่องทีบุคคลนั้นปรารถนา ที่จะทำต่างหาก"
ด้านประธานาธิบดี หู จิ่นเทาของจีนเองระบุเมื่อวันอาทิตย์ (13 พ.ย.) ว่า จีนสนับสนุนข้อตกลงทีพีพี อันเป็นการบ่งชี้ว่าจีนไม่ต้องการถูกกีดกัน
แม้มิได้ปฏิเสธการเข้าร่วมวงของจีนอย่างโต้ง ๆ แต่นางฮิลลารี ร็อดแฮม คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ก็ออกอาการส่อพิรุธ เมื่อยืนยันแข็งขันว่า ข้อตกลงการค้าฉบับนี้ผูกพันกับคุณค่าพื้นฐานหลายอย่าง เช่น ความเปิดเผยตรงไปตรงมา และมาตรฐานต่าง ๆ ในด้านแรงงาน