ไชน่า เดลี - เจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับสูงจีน เผย โรคเรื้อรังต่างๆ อาทิ โรคหัวใจ เส้นเลือดอุดตัน มะเร็ง โรคหวัดแห้งเรื้อรัง และโรคเบาหวาน เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตที่พบในประเทศจีน โดยคิดเป็น 85 เปอร์เซ็นต์ของการเสียชีวิตทั้งหมด
ข่ง หลิงจือ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมและป้องกันโรคภายใต้กระทรวงสาธารณสุขจีน เผย ณ งานสัมมนาการควบคุมและป้องกันโรคเรื้อรัง เมื่อวันเสาร์(28 พ.ค.) ว่า “จีนกำลังเผชิญอุปสรรคจากโรคป่วยเรื้อรัง ซึ่งส่งผลกระทบอันร้ายแรงต่อเศรษฐกิจและสังคม”
ข้อมูลสถิติระบุ ในแต่ละปี มีประชาชนชาวจีน ราว 3.7 ล้านคน ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง และเสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี โดยในปัจจุบัน ประเทศจีน มีผู้ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน ราว200 ล้านคน และ 90 ล้านคน ตามลำดับ
“ขณะนี้ รัฐบาลจีนกำลังร่างแผนการสำหรับแก้ปัญหาผู้ป่วยโรคเรื้อรังในจีนที่กำลังเพิ่มมากขึ้น โดยจะมีการกำหนดเป้าหมายและความรับผิดชอบ พร้อมทั้งเผยแพร่แนวทางการป้องกันและควบคุมโรคเรื้อรัง”
สำหรับเป้าหมายเบื้องต้น คือ เพิ่มการดูแลเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์โรคเรื้อรังทั่วประเทศ ดำเนินมาตรการควบคุมและป้องกันเชิงประจักษ์ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อาทิ การสูบบุหรี่ การบริโภคอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เป็นต้น และยกระดับช่องทางการเข้าถึงบริการดูแลรักษาสุขภาพ เพื่อป้องกันการป่วยเป็นโรคแทรกซ้อน หรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
เหมา ฉีอาน โฆษกกระทรวงสาธารณสุขจีน ยอมรับว่า “ขณะนี้ รัฐบาลจีนได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพมากขึ้น ขณะที่ นโยบายและงบประมาณสนับสนุนการป้องกันและควบคุมโรคเรื้อรัง มีจำกัด”
“การควบคุมโรคเรื้อรัง ต้องใช้วิธีการอย่างเป็นระบบ จำเป็นต้องดำเนินภาระหน้าที่ต่างๆ อาทิ การให้ความรู้ด้านสาธารณสุขแก่ประชาชน การฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์(โดยเฉพาะระดับท้องถิ่น) และสนับสนุนนโยบายส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับประชาชน”
เหมา กล่าวเสริมว่า “เป้าหมายสูงสุด คือ การป้องกันไม่ให้ประชาชนป่วยเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ”
เหลย เจิ้งหลง ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานการป้องกันและควบคุมโรคเรื้อรัง เผยว่า “ในเบื้องต้น การยกระดับความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง”
บรรดานักวิเคราะห์ ชี้ว่า “ในปัจจุบัน การป้องกันโรคเรื้อรังในจีน ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ เนื่องจากบรรดาแพทย์ตามสถานพยาบาลมักคำนึงถึงผลประโยชน์ทางการเงินเป็นหลัก”
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินหายใจแซ่เหอ แห่งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยปักกิ่ง กล่าวว่า “เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลฯ กดดันฉันอย่างหนัก เมื่อพวกเขาพบว่า จำนวนผู้ป่วยในลดลง เนื่องจาก ฉันได้แจ้งข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคเรื้อรังให้แก่คนไข้”