เอเอฟพี - จัง ซิน ซีอีโอหญิงของโซโหไชน่า (Soho China) ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใหญ่สุดในเมืองหลวงแดนมังกร ที่ได้เกี่ยวโกยผลกำไรจากการก่อสร้างอาคารขายในช่วงที่เศรษฐกิจจีนกำลังขาขึ้น กอปรกับการแปรรูปตลาดเคหะในจีนเอื้อต่อบริษัทของเธอมากว่าทศวรรษ
ทว่าตอนนี้ จัง ซิน กำลังกังวลว่า หากจีนขยับมาตรการชะลอความร้อนแรงของภาคอสังหาฯ ก็จะกระทบต่อยอดขายและจะทำให้ผู้พัฒนาอสังหาฯ หลายรายต้องจมกองหนี้และล้มละลายไปในที่สุด
“ในช่วงชีวิตผู้ประกอบการ 16 ปีของฉัน ครั้งนี้ถือเป็นความท้าทายสุดยอดที่ฉันเคยพบ และปัญหาก็คือว่า เราจะขายอะไรได้ในภาวะเศรษฐกิจและข้อบังคับแบบนี้” จัง ประธานบริหารของโซโหกล่าวกับนักข่าว
จีนทุ่มลงทุนด้านอสังหาริมทรัยพ์อย่างหนัก เฉพาะในปี 2553 ก็ทำมูลค่าถึง 750,000 ล้านเหรียญสหรัฐ นับแต่จีนแปรรูปตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 สิ้นสุดยุคที่รัฐบาลจีนจะมาเป็นผู้จัดการเรื่องการเคหะ และเปิดทางให้ชนชั้นกลางมีที่พักอาศัยเป็นของตัวเอง
แม้ว่าการลงทุนด้านอสังหาฯ ขณะนี้จะเป็นกุญแจดอกหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจจีน แต่ก็ยังมีความหวาดกลัวว่าหากตลาดอสังหาเกิดล่มขึ้นมาจริง อาจก่อให้เกิดความไม่สงบในสังคมจีนได้ เพราะเจ้าของบ้านหลายล้านคนจะต้องประสบสภาวะอสังหาริมทรัพย์ที่ตนเองเพิ่งซื้อมาด้วยราคาแพง อยู่ดี ๆ ก็ตกฮวบ
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาจำนวนผู้ซื้อบ้านรวมตัวประท้วงผู้พัฒนาอสังหาในเซี่ยงไฮ้ หลังจากผู้ประกอบการไปลดราคาขายโครงการบ้านย่านที่อยู่ใกล้กับเจียงซู ซึ่งพวกผู้ประท้วงไม่ยอมเพราะว่าพวกตนซื้อก่อนหน้านี้แล้วแพงกว่าผู้ที่จะซื้อทีหลัง ย่อมไม่ยุติธรรม
ในปี 2551 วิกฤติการเงิน รัฐบาลจีนได้เผยแผนกระตุ้นเศรษฐกิจหลายชุด ซึ่งผลก็คือ กระแสเครดิตไหลท่วมมหาอำนาจทางเศรษฐกิจลำดับ 2 อย่างจีน ซึ่งเครดิตส่วนใหญ่จากทั้งหมดก็เป็นเครดิตการพัฒนาภาคอสังหาฯ นั่นเอง
“นับแต่ต้นปีที่ผ่านมาเกิดกระแสหวาดกลัวภาวะฟองสบู่ในกรุงปักกิ่ง รัฐบาลจีนจึงพยายามลดราคาอาหาร อสังหาริมทรัพย์ สกัดเงินเฟ้อ ด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารหลายครั้ง จำกัดการปล่อยกู้แก่ภาคอสังหาฯ และปิดช่องทางการปล่อยกู้เงิน” จังเผย
“พวกเรากำลังประสบภาวะความไม่แน่นอน” จังย้ำ
นอกจากนั้นรัฐบาลจีนยังสั่งห้ามการซื้อบ้านหลังที่สองในบางเมือง กอปรกับสั่งปรับขึ้นเงินดาวน์ขั้นต่ำให้สูงขึ้นอีก รวมทั้งระดมมาตรการเก็บภาษีที่อยู่อาศัยในมหานครเซี่ยงไฮ้และฉงชิ่งด้วย
“การกระทำเช่นนี้เท่ากับสังหารผู้ประกอบการและตลาดอสังหาฯ ให้ดับแดดิ้น” จังกล่าว
เจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมและนักวิเคราะห์ก็กำลังกังวลว่า มาตรการเหล่านี้ได้บีดรัดการซื้อขายอย่างหนักหน่วง ซึ่งผู้ประกอบการที่ไปกู้ยืมกองทุนมหาศาลมาลงทุนกับโครงการใหม่ ก็จะต้องจมกองหนี้ล้มละลายไปในที่สุด
แค็พปิตัล อิโคโนมิกส์ ของลอนดอน เผยว่า “โอกาสอสังหาระยะใกล้สำหรับผู้ประกอบการในจีนนับวันยิ่งมืดมน” พร้อมกับเผยว่าในไตรมาสที่ 3 การซื้อขายในตลาดอสังหาฯ ตกลงมาจากปีก่อนหน้าถึง 15 เปอร์เซ็นต์
“ขณะนี้บ้านใหม่ที่ขายไม่ออกท่วมท้นล้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ทีเดียว”
ตัวเลขรัฐบาลจีนเผยว่า ในเดือนส.ค. ว่า “46 ใน 70 เมืองเอกของจีนนั้น ราคาบ้านตกลงมาหรือไม่ก็คงระดับ ซึ่งถือว่ามากกว่าเดือนก.ค.”
สำหรับเซี่ยงไฮ้ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นพื้นที่ที่ตลาดอสังหาฯ บูมสุด ๆ แต่ในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา จำนวนบ้านใหม่ที่ขายได้ลดลงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ปีต่อปี ส่วนในปักกิ่ง จำนวนบ้านมือสองที่ขายได้ถือว่ามีปริมาณต่ำสุดในรอบ 3 ปี
สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส บริษัทจัดอันดับเครดิต เผยว่า “ภาวะยากลำบากยังไม่หมดไป ขณะนี้อุตสาหกรรมจีนกำลังเร่งรวมตัวสร้างเกราะป้องกันอย่างเร่งร้อน และพร้อมกันนั้นก็กีดกันรายย่อยจนต้องล้มละลายไป”
ผู้ประกอบการบางรายที่เคยดิ้นรนให้ได้เงินกู้จากธนาคาร ก็ต้องบากหน้าไปกู้จากบริษัทสินเชื่อซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นจัดตั้งขึ้นเฉพาะกิจ หรือบางรายก็ไปพึ่งพาหนี้นอกระบบซึ่งคิดดอกเบี้ยแพงหูฉีก
สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส ประมาณไว้ว่า ผู้ประกอบการอ่อนแอที่เป็นปลาเล็กทั้งหลายที่จะต้องชำระเงินกู้ตามกำหนดนั้น พบว่าจำนวนเงินกู้นั้นมหาศาลยิ่งกว่ารายได้ที่คาดว่าจะได้รับในปีหน้าเสียอีก แค็พปิตัล อิโคโนมิกส์ ทำนายว่า “ผู้ประกอบการหลายรายไปไม่รอดแน่”
ขณะที่ปักกิ่งให้คำมั่นว่าจะควบคุมระบบการปล่อยกู้ ก็จะต้องพิจารณาถึงสถานการณ์ปัจจุบันด้วย หากว่ามีบรรดาผู้ประกอบการแห่กันล้มละลาย หรือหากภาวะเศรษฐกิจขาลงของโลกกระทบจีนอย่างจัง
อย่างไรก็ตาม สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ มั่นใจว่า ในอีก 6-12 เดือน ภาวะข้อจำกัดการกู้ยืมจากภาครัฐ และภาวะตลาดอสังหาอ่อนระโหยโรยแรงจะยังคงอยู่เช่นนี้ต่อไป
ส่วนราคาพื้นที่ในเซี่ยงไฮ้ บ้านในเขตเมืองตกอยู่ที่ตารางเมตรละ 48,000 หยวน หรือ 7,500 ดอลลาร์