xs
xsm
sm
md
lg

จีน-เวียดนามเกี่ยวก้อยลงนามแก้ปัญหาขัดแย้งในทะเล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดีควบตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน นาย หู จิ่นเทา ได้พบปะกับเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม นาย เหวียน ฝู จ็อง (Nguyễn Phú Trọng) ซึ่งมาเยือนจีนอย่างเป็นทางการ ที่มหาศาลาประชาคม กรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 11 ต.ค. หลังจากนั้น ก็มีการลงนามข้อตกลงหลักการพื้นฐานชี้นำการแก้ไขข้อพิพาทเขตแดนในทะเล (ภาพ ซินหวา)
ซินหวา—จีนและเวียดนามลงนามข้อตกลงหลักการพื้นฐานชี้นำการแก้ไขประเด็นปัญหาในน่านน้ำระหว่างสองชาติเมื่อวันอังคาร(11 ต.ค.) โดยผู้ลงนามฝ่ายจีนคือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ จัง จื้อจวิน และผู้ลงนามฝ่ายเวียดนามคือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ โฮซวนซอน (Ho Xuan Son)

สารัตถะในข้อตกลง 6 ประการดังกล่าวนี้สอดคล้องกับฉันทามติของผู้นำจีนและผู้นำเวียดนาม หลักพื้นฐานที่ระบุในข้อตกลงใหม่ล่าสุดนี้กำหนดขึ้นจากฐานข้อตกลงปี 1993 (2536) ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาเขตแดนและพรมแดนระหว่างสองประเทศ

ข้อตกลงฉบับใหม่ระบุว่า จีนและเวียดนามจะแสวงหาแนวทางสู่ระยะยาวและพื้นฐานที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับร่วมกันสำหรับแก้ไขปัญหาขัดแย้งทางทะเลบนพื้นฐานกฎหมายและหลักการที่ได้รับการรับรองโดยกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเลที่ลงนามในปี 1982 (2525)

นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายจะเคารพหลักกฎหมายอย่างเต็มที่ อีกทั้งนำประเด็นด้านประวัติศาสตร์และประเด็นที่เกี่ยวข้องอื่นๆมาพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยท่าทีที่สร้างสรรค์

ในข้อตกลงยังระบุอีกว่า ในกระบวนการเจรจาประเด็นทางทะเล ทั้งสองฝ่ายจะยึดถือข้อตกลงและฉันทามติที่ผู้นำอาวุโสทั้งสองประเทศได้เคยตกลงกันไว้ และปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Conduct of Parties in the South China Sea -DOC)

ทั้งสองฝ่ายจะแก้ไขข้อพิพาทเขตแดนทางทะเลผ่านการเจรจาและการปรึกษาหารือที่เป็นมิตร และจะปรึกษากับประเทศอื่นที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาท

ระหว่างกำลังแสวงหาแนวทางระยะยาวและพื้นฐานสำหรับแก้ปัญหาทางทะเล สองฝ่ายก็จะร่วมกันหาข้อตกลงการแก้ไขปัญหาชั่วคราวและเฉพาะกาล รวมทั้งการวิจัยและเจรจาการพัฒนาร่วมทางทะเล โดยที่ไม่กระทบจุดยืนของสองฝ่าย

ทั้งสองฝ่ายจะผลักดันความคืบหน้าการเจรจาเกี่ยวกับการกำหนดเส้นแบ่งเขตในน่านน้ำบริเวณปากอ่าวเป่ยปู้ (หรืออ่าวตังเกี๋ย) ตลอดจนถกเถียงการพัฒนาร่วมในเขตทะเล

บรรดาหัวหน้าการเจรจาเขตแดนสองฝ่ายทั้งสองประเทศจะจัดการประชุมประจำปีละสองครั้ง และอาจมีการประชุมรอบพิเศษหากจำเป็น นอกจากนี้จะมีการติดตั้งกลไกสายด่วนเพื่อที่จะสามารถสื่อสารกันได้ทันท่วงที และติดต่อสื่อสารกันอย่างเหมาะสม.
กำลังโหลดความคิดเห็น