xs
xsm
sm
md
lg

อี๋ว์ หวา นักเขียนผู้ทรงอิทธิพลแห่งยุคปัจจุบันของจีน สะท้อน “จีนวันนี้” ถึงแก่นเปี่ยมชีวิตชีวา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อี๋ว์ หวา บนเวทีเปิดตัวหนังสือ สิบคำ นิยายจีน ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ 5 ต.ค.2554
ASTVผู้จัดการออนไลน์--ผู้ที่เป็นแฟนผลงานภาพยนตร์ของผู้กำกับดังแดนมังกร จัง อี้โหมว คงจำกันได้ มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง คือ To Live ที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายจีน เรื่อง คนตายยาก 《活着》ประพันธ์โดย อี๋ว์หวา หรือหยู หัว(余华) อี๋ว์ หวา เป็นนักเขียนจากแผ่นดินใหญ่ เป็นตัวแทนของนักเขียนนวนิยายคลื่นลูกใหม่ที่ทรงอิทธิพลของจีนยุคปัจจุบัน เป็นนักเขียนที่ได้รับการยกย่องเทียบชั้นกับหลู่ซวิ่น นักเขียนจีนนามอุโฆษ (1881-1936)

อี๋ว์ หวา เป็นนักเขียนมือทองที่คว้ารางวัลระดับนานาชาติมาไม่น้อย ได้แก่ Premio Grinzane Cavour ของประเทศอิตาลีในปี 1998 (2541) จากเรื่อง คนตายยาก งานเขียนเรื่อง คนตายยาก กับ คนขายเลือด ได้รับเลือกให้เป็น 2 ใน 10 นวนิยายที่ทรงอิทธิพลที่สุดของจีนในยุคทศวรรษที่ 1990 ในปี 2000 อี๋ว์ หวา เป็นนักเขียนจีนคนแรกที่ชนะรางวัลวรรณมกรรมโลกอันทรงเกียรติ คือ James Joyce Foundation Award และในปี 2008 นวนิยายเรื่อง พี่กับน้อง ยังได้เข้าชิงรางวัล The Man Asian Literary Prize

ผลงานของเขาได้รับการแปลออกเป็นฉบับภาษาต่างๆหลายภาษา อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สเปน สวีเดน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม และไทย สำหรับงานเขียนของอี๋ว์ หวาที่ได้รับการแปลเป็นพากย์ไทย มี 4 เล่ม ได้แก่ คนตายยาก คนขายเลือด พี่กับน้อง และสิบคำ นิยามจีน 《十个词汇里的中国》 โดยสำนักพิมพ์นานมี ได้จัดพิมพ์งานเขียนทั้งสี่เล่มนี้ของอี๋ว์ หวา

อี๋ว์ หวา และงานเขียน
อี๋ว หวา เกิดปี 1960 (2503) เติบโตเล่าเรียนท่ามกลางยุคปฏิวัติวัฒนธรรม เข้าเรียนชั้ประถมปีที่ 1 ในปีเปิดฉากการปฏิวัติวัฒนธรรม (1966) และจบชั้นมัธยมปลายในปีที่ปิดฉากการปฏิวัติวัฒนธรรม (1977) ดังนั้น เขาจึงมีประสบการณ์ชีวิตในยุควุ่นวายสันสนแห่งยุคปฏิวัติวัฒนธรรมที่เป็นบาดแผลใหญ่ของประวัติศาสตร์จีนยุคปัจจุบัน

งานเขียนของอี๋ว หวา นำเสนอภาพสังคมจีนวันนี้ สะท้อนความเป็นจริงของคนจีน ในสังคมจีน ความทุกข์ยาก ความเจ็บปวด ความยอกย้อนตลบตะแลงต่างๆนานา และปรากฏการณ์ต่างๆอันน่าพิศวงเหลือเชื่อที่อุบัติขึ้นในประเทศจีน งานเขียนของเขาจึงเสมือนดั่งประวัติศาสตร์ยุคจีนวันนี้ที่นำเสนอด้วยศิลปะลีลาภาษาที่ให้อรรถรสแก่ผู้อ่าน สารัตถะที่อี๋ว์ หวา ได้เผยในงานเขียนนวยิยาย เต็มไปด้วยความทุกข์ยากของผู้คน ความวุ่นวายต่างๆ ที่เขาได้เป็นประจักษ์พยานร่วมอยู่ด้วย ดังนั้น งานเขียนของเขาจึงเปี่ยมด้วยชีวิตชีวาความรู้สึกอารมณ์ของมนุษย์ ชีวิตที่อี๋ว หวา สะท้อนออกมานั้นเป็นความทุกข์ อุปสรรค เคราะห์กรรมที่โถมซัดต่อผู้คนครั้งแล้วครั้งเล่า ที่ล้วนเป็นความเศร้าหดหู่รันทดของชีวิต

งานเขียนของเขามักนำเสนอด้วยลีลาการเขียนเสียดสีเสียดแทง ขณะเดียวกันในการสะท้อนภาพความทุกข์ ความดำมืดของชีวิตเหล่านี้ อี๋ว์ หวากลับสะท้อนออกมาอย่างมีอารมณ์ขัน ที่นักวิชาการด้านภาษาไทย เรียกว่า “ขันขื่น” (ขบขำ+ขมขื่น)ได้อย่างกลมกลืน และถึงที่สุด อี๋ว หวา ก็มักจบเรื่องราวที่เขาเขียน ด้วยความหวัง

อี๋ว หวา มีผลงานเขียน 14 เรื่อง และความเรียงจำนวนหนึ่ง สำหรับผลงานชิ้นโดดเด่นที่เป็นตัวแทนของเขา 《十八岁出门远行》/ Leaving at Home at Eighteen ยังไม่มีฉบับภาษาไทย, 《鲜血梅花》/Blood and Plum Blossoms ยังไม่มีฉบับภาษาไทย,《活着》/To Live ฉบับภาษาไทยคือ คนตายยาก, 《许三观卖血记》Chronicle of a Blood Merchant ฉบับภาษาไทยคือ คนขายเลือด,《世事如烟/Worldly affairs are just like smoke ยังไม่มีฉบับภาษาไทย, 《兄弟》/Brothers ฉบับภาษาไทยคือ พี่กับน้อง

นักเขียนใหญ่จากแผ่นดินใหญ่พบชาวไทยครั้งแรก อี๋ว์ หวา มาเมืองไทยครั้งแรกในเดือนต.ค. ตามคำเชิญของสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ เพื่อมาร่วมงานแนะนำหนังสือของเขาเองในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ วันที่ 5 ต.ค. ได้แก่ คนตายยาก คนขายเลือด พี่กับน้อง และผลงานเขียนที่ไม่ใช่เรื่องแต่ง (non-fiction) เล่มล่าสุดของเขา คือ สิบคำ นิยามจีน

อี๋ว์ หวา ได้มาพูดคุยกับคนไทยบนเวทีแนะนำผลงานของอี๋ว์ หวา ที่จัดในรูปแบบการเสวนา โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์เป็นผู้จัด

คุยกับ อี๋ว์ หวา
อี๋ว์ หวา เกิดปี 1960 (2503) บ้านเกิดอยู่เมืองหังโจว มณฑลเจ้อเจียง พื้นฐานครอบครัวมีฐานะ แต่ต่อมาก็ประสบความผันผวนของชีวิตและยุคสมัยทำให้ครอบประสบความลำบาก พ่อของอี๋ว์ หวาเป็นศัลยแพทย์ และเขาก็ได้สืบทอดอาชีพหมอโดยเป็นทันตแพทย์อยู่ 5 ปี (1978-83) ดังนั้น ชีวิตในวัยเด็กของเขาจึงเติบมากับเลือดเนื้อ ชีวิตความตายจริงๆ ซึ่งอี๋ว์ หวาได้นำประสบการณ์ชีวิตนี้มาเป็นโครงเรื่อง และฉากในนวนิยายที่เขาเขียน อย่างเช่นเรื่อง คนขายเลือด
อี๋วหวา และหนังสือฉบับภาษาไทยของเขาที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ 5 ต.ค.
ทำไมเปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักเขียน
อี๋ว์ หวา เล่าว่า ในยุคนั้นคนจีนไม่มีสิทธิเลือกว่าจะทำอาชีพอะไร รัฐบาลเป็นผู้กำหนดและมอบหมายให้ทำ และตัวเขาในวัย 20 ปีต้นๆ ก็ได้งานเป็นหมอรักษาฟันในโรงพยาบาลที่ตำบลทางภาคใต้จีน

“มันน่าเบื่อมาก” ตอนนั้น ผมทำงานวันละ 8 ชั่วโมง มือถือคีมทั้งวัน มองแต่ปากคน ปากเป็นอวัยวะที่ไม่น่าดูที่สุด และปาก-ฟันของคนไข้ที่ต้องมาหาหมอ ก็ยิ่งไม่น่าดูเข้าไปใหญ่ 5 ปีที่ทำอาชีพหมอ ผมถอนฟันคนไข้มากกว่าหมื่นซี่

“ในตอนนั้น เวลาพักกลางวันผมมักยืนที่หน้าต่างมองออกไปที่ถนน และก็เกิดความกลัวว่า ผมต้องยืนอยู่อย่างนี้ตลอดชีวิตละหรือ และผมก็เริ่มเขียนนิยาย เวลาที่ผมยืนที่หน้าต่างมองคนทำงานที่ศูนย์วัฒนธรรมประจำอำเภอที่ตั้งอยู่ใกล้ๆกันนั้นเดินเตร่ไปมา ผมก็อิจฉาคนพวกนั้นมาก และก็เคยถามคนที่ทำงานที่ศูนย์วัฒนธรรมฯว่า ‘พวกคุณ ทำไมไม่ทำงาน’ เขาตอบว่า ‘งานของเราคือเดินเตร่ตามตลาด’

“ใช่เลย ผมชอบงานอย่างนี้ และผมก็ฝันจะได้เข้าทำงานที่ศูนย์วัฒนธรรม แต่ผมไม่มีสิทธิเลือกอาชีพเอง ต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาลก่อน และก่อนอื่นผมก็ต้องพิสูจน์ตัวเองว่ามีคุณสมบัติที่จะเข้าทำงานที่ศูนย์วัฒนธรรมได้ โดยหนทางที่จะเข้าสู่วัฒนธรรมได้มีสามทางด้วยกันคือ แต่งเพลงเป็น สองวาดภาพเป็น และสามเขียนเรื่องเป็น สำหรับเรื่องแต่งเพลงและวาดเขียนยากเกินไปสำหรับผมเพราะต้องไปเริ่มต้นฝึกฝนใหม่ แต่การเขียนแค่รู้ตัวหนังสือก็พอ ผมจึงเลือกเขียนเรื่อง

“ตอนที่ผมเขียนหนังสือ เป็นช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 การปฏิวัติวัฒนธรรมสิ้นสุดลงแล้ว นิตยสาร หนังสือต่างประเทศเริ่มหลั่งไหลเข้ามา นิตยสารวรรณกรรมที่ถูกห้ามมาเป็นสิบปีได้ฟื้นชีพขึ้นอีกครั้ง และมีวรรณกรรมใหม่ๆปรากฏขึ้นอีกด้วย”

ในที่สุด อี๋ว์ หวาก็บรรลุฝันได้เดินเข้าสู่ศูนย์วัฒนธรรม อี๋ว์ เล่าความคิดในการเปลี่ยนอาชีพตอนนั้นว่า “ไม่ใช่อุดมการณ์สูงส่งอะไรเลย ผมเปลี่ยนมาทำอาชีพเพื่อชีวิตจริงๆ คือ มันเป็นอาชีพอิสระและสบายมากซึ่งตอนนั้นผมคิดว่าอาชีพแบบนี้แหละดีที่สุด วันแรกที่ผมไปทำงานที่ศูนย์วัฒนธรรม ผมจงใจไปทำงานสายครึ่งชั่วโมง กลับปรากฏว่าผมไปทำงานเป็นคนแรก เวลาผ่านไป 20 กว่าปี ผมถึงได้พบว่าผมรักงานเขียน”

อี๋ว์ หวา เล่าชีวิตการเขียนหนังสือช่วงแรกๆว่า “ผมรู้ตัวหนังสือไม่กี่ตัว แต่ก็ยังพอเขียนได้

“เมื่องานเขียนของผม แพร่หลายออกไป บรรดานักวิจารณ์จีนต่างชื่นชมการเขียนบรรยายของผมว่าใช้ภาษาที่เรียบง่าย ผมก็พูดติดตลกตอบไปว่า เป็นเพราะผมรู้ตัวหนังสือไม่มาก”

ต่อมางานเขียนของอี๋ว์ หวาได้รับการแปลเป็นฉบับภาษาอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญวรรณกรรมอเมริกันคนหนึ่งก็บอกว่า “ลีลาการเขียนของผมคล้ายเฮมิงเวย์ ผมก็ส่งคำพูดติดตลกของตัวเอง ตอบศาสตราจารย์ผู้นั้นไปว่า “เฮมิงเวย์ก็รู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษไม่มาก”

จากนวนิยาย คนตายยาก ของอี๋ว์ หวา และภาพยนตร์ คนตายยาก ของจัง อี้โหมว

อี๋ว์ หวา เขียนนวนิยายเรื่องยาว คนตายยาก เรื่องนี้ เมื่อ 19 ปีก่อน เป็นงานเขียนที่ทำให้เขาได้แจ้งเกิดในวงการฯและครองอาชีพนักเขียนมาจนถึงปัจจุบัน คนตายยากเป็นหนังสือขายดีนับสิบปี รวมกว่า 2 ล้านเล่ม ได้รับรางวัลมากมาย โดยหนึ่งในนั้นคือ Premio Grinzane Cavour ของประเทศอิตาลีปี 1998

คนตายยากได้สะท้อนชีวิตที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงในยุคการปฏวัติของจีน โดยใช้ตัวละครเอกนามว่า ฝูกุ้ย เป็นตัวแทนชาวนาในยุคปฏิวัติจีน ฝูกุ้ยเผชิญความผันผวน อุปสรรคในชีวิตหลายต่อหลายครั้ง ไม่ต่างกับสังคมรอบตัวเขา อี๋ว์ หวาได้แต่งเรื่องราว บีบคั้นผู้อ่านจนเกิดความรู้สึกว่าชีวิตแบบนี้ไม่สู้ตายไปเสียดีกว่า ทนมีชีวิตอยู่ได้อย่างไรกัน

อี๋ว หวา เล่าว่าเขาได้คิดปรับเปลี่ยนวิธีการเล่าเรื่องในคนตายยากอยู่นาน ทีแรกจะเขียนในลักษณะผู้สังเกตการณ์ ไปๆมาๆก็ให้ตัวละครเป็นผู้เล่าเรื่องเอง ลีลาการเขียนแบบนี้ทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่า ‘ชีวิตหนึ่งไปผ่านวันเวลาอันยาวนาน’ ไม่ใช่การเขียน ชีวิตของคนอย่างฝูกุ้ยมีแต่ความทุกข์ยากไม่จบไม่สิ้นในสายตาคนนอก แต่สำหรับตัวฝูกุ้ยเองกลับมีความสุข ดังนั้น คนตายยากจึงเป็นเรื่องเล่าที่ใช้สำนวนความสุขเล่าเรื่องความทุกข์

อี๋ว์ หวา เล่าต่อว่า “จัง อี้โหมวเป็นคนแรกที่อ่านนิยายเรื่องนี้ รุ่งขึ้นวันถัดมาหลังจากที่อ่านหนังสือผม จัง อี้โหมว มาหาผม บอกว่าอ่านเรื่องคนตายยากแล้วนอนไม่หลับ ตอนนั้น ผมดีใจที่ผู้อ่านคนแรกของผม อ่านงานเขียนของผมแล้วนอนไม่หลับ แต่มารู้ทีหลังว่า จัง อี้โหมว เป็นคนนอนไม่หลับ เขานอนวันละราว 2 ชั่วโมง

“ต่อมา นิยายคนตายยากได้กลายเป็นภาพยนตร์ ผมและจังได้ถกเถียงเรื่องการปรับการนำเสนอและเนื้อหาในภาพยนตร์กันตลอดระหว่างการถ่ายทำฯ ยุคนั้นคือปี 1993 แม้จีนได้เปิดกว้างแล้วก็ตาม แต่หลายส่วนก็ยังต้องอยู่ในกรอบ อย่างเช่น จังบอกว่าทำแบบนี้ผู้นำคอมมิวนิสต์ไม่ปล่อยแน่ ต้องปรับเปลี่ยนเป็นแบบนี้ๆถึงจะผ่านเซนเซอร์ จนตอนนั้นผมคิดว่าจัง อี้โหมวเป็นคนที่รู้ใจคอมมิวนิสต์มากที่สุด ในที่สุดการถ่ายทำภาพยนตร์คนตายยากก็แล้วเสร็จ

“แต่ในที่สุด ภาพยนตร์ คนตายยาก ก็ถูกห้ามฉายในประเทศจีน

“ปี 1994 ผมก็ได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่ใช้ชื่อเช่นเดียวกับนิยายของผม To Live/活着 ดูจบ ผมโทรไปหาจัง บอกว่า ทำไมหนัง ไม่เหมือนนิยายของผมเลย ผมบอกให้จังเปลี่ยนชื่อภาพยนตร์ดีกว่า แต่จังยืนยันจะใช้ชื่อนี้

“หลังจากภาพยนตร์เผยแพร่ออกไปแล้ว ก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก ต่างประเทศให้การต้อนรับล้นหลาม เชื้อเชิญไปปรากฎตัวเปิดภาพยนตร์ และ คนตายยากก็ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ ผมได้เป็นตัวแทนของจัง อี้โหมวไปเปิดภาพยนตร์กว่า 20 ครั้ง ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ กว่า 20 ครั้ง ‘เหตุที่ผมได้เดินทางไปต่างประเทศเปิดตัวภาพยนตร์มากมายเช่นนี้ ก็เพราะค่าตัวในไปร่วมงานของผม ถูกกว่า จัง อี้โหมวมาก’ ” อี๋ว หวา พูดแบบมีอารมณ์ขัน

อี๋ว์ หวา เล่าว่าเขาได้คิดทบทวนหลายครั้งเป็นเวลานานว่า ทำไมนิยายและภาพยนตร์ที่สร้างจากนิยายของเขาจึงไม่เหมือนกัน ในที่สุด ก็ได้คำตอบแก่ตัวเองว่า “ไม่มีสิ่งที่ถูกและไม่ถูก สิ่งที่เราคุ้นเคยเราก็ว่าถูก สิ่งที่แปลกตาก็ว่าผิด ความจริงโลกนี้ไม่มีถูก-ผิด อยู่ที่ว่าเราชอบอะไรต่างหาก”

หลังจากนั้น 活着 ก็ได้รับการแปลออกเป็นหลายภาษา ยอดพิมพ์เป็นแสนเล่ม ไม่กี่เดือนพุ่งเป็นสองล้าน นักเขียนคนอื่นๆต่างอิจฉาผม ผมก็ยังอิจฉาตัวเอง “สำหรับนักเขียน จะมีหนังสือเล่มหนึ่งที่นำโชค สำหรับผม ก็คือ 活着” อี๋ว์ หวา กล่าว
อี๋ว์ หวา เซ็นชื่อในหนังสือของเขาแก่ผู้อ่านที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ 5 ต.ค.
งานเขียนเล่มต่อมา คือ《许三观卖血记》หรือ คนขายเลือด อี๋ว หวา เขียนนิยายเรื่องนี้จากประสบการณ์ที่เติบโตในโรงพยาบาลเนื่องจากพ่อเป็นแพทย์ และเขาก็เป็นทันตแพทย์ การขายเลือดในประเทศจีนขายเพื่อเอาเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องปกติของกลุ่มคนจนในประเทศจีน อี๋ว์ หวาให้สี่ว์ซันกวนเป็นตัวแทนของคนกลุ่มนี้ เป็นคนจนที่ขายเลือดนำเงินมาใช้จ่าย เช่นเป็นค่าเทอม เป็นค่ารักษาพยาบาล กระทั่งค่าชดเชยเวลาลูกไปมีเรื่องกับคนอื่น ตอนจบของเรื่องสี่ว์ซันกวนขายเลือดเพราะอยากกินผัดตับกับเหล้าเหลือง 2 จอก สี่ว์ซันกวนขายเลือดจนกระทั่งต้องเปลี่ยนโรงพยาบาล เนื่องจากเขาขายเลือดบ่อยไม่ได้เว้นช่วงตามเวลาที่โรงพยาบาลกำหนด 3 เดือน

เรื่องคนขายเลือด เพียงชื่อเรื่องก็ดูจะให้ความรู้สึกหดหู่ แต่อี๋ว์ หวา กลับแต่งให้เป็นนิยายอารมณ์ขัน ผู้แปลฉบับภาษาต่างๆต่างก็บอกว่าแปลแล้วมีความสุขมาก

อี๋ว์ หวา เล่าถึงการเขียนนิยายเรื่องคนขายเลือด ซึ่งเริ่มเขียนในปี 1995 ว่าเป็นนิยายเล่มเดียวที่เขาเดินเรื่องด้วยบทสนทนา ขณะเขียนประสบอุปสรรคที่ต้องขบคิดอยู่นาน ว่าจะเล่นบทสนทนาอย่างไร ต่อมาเขาได้ดูอุปรากรจีน (งิ้ว) และได้ศึกษาภาษาในงิ้วคำร้อง คำพูด จนในที่สุดก็จับโทนได้ และได้เขียนคนขายเลือดจนจบ

นิยายเรื่องนี้สร้างปฏิกิริยาในจีนมาก นักเขียนสมัยใหม่โมโหมาก เพราะถือเป็นการทรยศการเขียนแนวนี้ สำหรับอี๋ว หวา บอกว่า “ไม่มีนักเขียนที่จะมานั่งบูชาลัทธิการเขียนใด”

สำหรับเรื่อง《兄弟》หรือ พี่กับน้อง เขียน 10 ปี ให้หลังคนขายเลือด เป็นเรื่องราวของพี่กับน้องต่างสายเลือดในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม เป็นทั้งนิยายสุขนาฏกรรมและโศกนาฏกรรมไปพร้อมๆกัน ใช้กลวิธีการเขียนแบบสุดโต่ง คือ ดีก็ดีสุดโต่ง โง่เซ่อก็โง่เซ่อแบบสุดโต่ง ชั่วก็ชั่วสุดโต่ง คอรัปชั่นก็คอรัปชั่นสุดโต่ง

สำหรับงานเขียนชิ้นล่าสุดของอี๋ว์ หวา เป็นงานเขียนที่ไม่ใช่เรื่องแต่ง คือ สิบคำ นิยายจีน 《十个词汇里的中国》

งานเขียนชิ้นนี้ได้บอกสถานการณ์ของประเทศจีนปัจจุบัน ผ่านการเล่าประสบการณ์ชีวิตของอี๋ว หวาเอง โดยใช้คำสิบคำ สิบบท ได้แก่ ประชาชน (人民) ผู้นำสูงสุด(领袖) การอ่าน(阅读) การประพันธ์(写作)หลู่ซวิ่น(鲁迅) ความแตกต่าง(差距) การปฏิวัติ(革命) รากหญ้า (草根) ซันไจ้/ลอกเลียน(山寨) ขี้จุ๊(忽悠)

อี๋ว์ หวาได้ใช้คำศัพท์สิบคำนี้ สะท้อนปัญหาความป่วยไข้ของจีนปัจจุบัน ใช้สายตาผู้เขียนหรือมุมมองส่วนตัวชำแหละการทะยานสู่อำนาจเศรษฐกิจของจีน อี๋ว หวากล่าวว่า “คำศัพท์สิบคำนี้เหมือนดวงตาสิบคู่ของเขา ทำให้ผมได้มองจีนยุคปัจจุบันจากสิบทิศทาง”

อี๋ว์ หวาชี้ว่า สังคมจีนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมหัศจรรย์ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ปรากฏและเป็นอยู่ขณะนี้คือกระบวนการพัฒนาที่สับสนกลับหัวกลับหางในทางเหตุและผล ผลของการพัฒนาฯประเทศทำให้ผู้คนอยู่อย่างรีบเร่ง แทบไม่มีใครคิดถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดผลเช่นนี้ การมองโลกในแง่ดีคือมองแต่ผลสำเร็จการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ได้บดบังความขัดแย้งที่แพร่ระบาดราววัชพืชในช่วง 30 ปีมานี้ โดยใช้คำศัพท์สิบคำนี้ ได้เสนอความคิดแบบย้อนกลับ เริ่มจากผลของความรุ่งโรจน์ในทุกวันนี้ สืบสาวไปหาสาเหตุที่อาจไม่สบายใจนัก

และอีกเช่นเคย ขณะที่สะท้อนปัญหาความทุกข์ อี๋ว์ หวาก็มักสอดแทรกความหวัง สำหรับหนังสือสิบคำ นิยามจีน ก็มีเรื่องราวที่ทำให้ชุ่มชื่นหัวใจ อาทิ ในบท ‘ความแตกต่าง’ อี๋ว หวา บอกเล่าการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่ามหัศจรรย์ของจีน ขณะเดียวกัน ความแตกต่างหรือความเหลื่อมล้ำก็ขยายกว้างอย่างน่ากลัวขึ้นทุกวัน เขาหยิบยกเรื่องราว คนจนจนตรอกถึงกับต้องลักพาตัวเด็ก ในหน้า 148 “ผู้ลักพาตัวเด็กเป็นคนยากจน ไม่มีเงินติดตัวและไม่มีประสบการณ์ในการลักพาตัว พวกเขาหางานทำไปทั่วแต่ไม่ได้งาน จึงตัดสินใจลองเสี่ยง ลักพาตัวเด็กนักเรียนประถมที่เดินออกจากโรงเรียนกลับบ้านกลางวันแสกๆ ทั้งสองช่วยกันอุดปากเด็ก ลากตัวเด็กเข้าไปในโรงงาน... ให้เด็กบอกหมายเลขโทรศัพท์ของแม่ แล้วเดินไปโทรที่ตู้โทรศัพท์สาธารณะแถวนั้น... บอกให้แม่เด็กเอาเงินมาไถ่ตัว...ตำรวจตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์จากมือถือของแม่เด็ก เข้าล้อมบริเวณที่ผู้ลักพาตัวเด็กอยู่ และจับกุมได้อย่างรวดเร็ว

ขณะที่ผู้ลักพาตัวเด็กกำลังรอรับเงินค่าไถ่ ไม่มีเงินไปซื้อข้าว หนึ่งในนั้นออกไปยืมเงินมาได้ 20 หยวน ซื้อข้าวมาสองกล่อง กล่องหนึ่งให้เด็กชายกิน อีกกล่องหนึ่งผู้ลักพาตัวแบ่งกันกิน หลังจากได้รับการช่วยเหลือเด็กชายพูดกับตำรวจว่า “สองคนนี้ยากจนมาก ปล่อยพวกเขาไปเถอะครับ”

ด้วยการนำเสนอเสมือนบันทึกประสบชีวิตของผู้เขียน ทำให้ สิบคำ นิยายจีน ที่สะท้อนถึงสถานการณ์จีนวันนี้ และปัญหาต่างๆนานาที่น่าตื่นตะลึงเหลือเชื่อของจีน เป็นเรื่องราวที่มีชีวิตชีวา อ่านสนุก พร้อมกับทำให้ผู้อ่านรู้จักนักเขียนคือ อี๋ว์ หวาไปพร้อมกันด้วย แต่แล้วหนังสือเล่มนี้ ก็ถูกห้ามในประเทศจีน

มุมคิดทอดถ่ายแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม
อี๋ว์ หวา ยังได้ให้สัมภาษณ์ทิ้งท้ายในวันพบปะผู้อ่าน ถึงนักเขียนที่เป็นแรงบันดาลใจ ส่งอิทธิพลต่อเขามากที่สุด?

“นักเขียนที่ผมชอบมากที่สุด คือ ยาสุนาริ คาวาบาตะ นักเขียนญี่ปุ่นผู้ชนะรางวัลโบเบล ไพร์ซ ปี 1968 อาจเรียกได้ว่าคาวาบาตะเป็นอาจารย์คนแรกของผม คาวาบาตะมีลีลาการเขียนที่ละเมียดละไม ละเอียดอ่อนมาก แต่ในที่สุดผมก็พัฒนาลีลาการเขียนที่เป็นของตัวเอง”

“อิทธิพลเหมือนแสงแดดที่สาดส่องหล่อเลี้ยงต้นไม้ต้นหนึ่ง เพื่อให้ต้นไม้นั้นเติบโตไปเป็นตัวของตัวเอง เช่นกัน วัฒนธรรมที่ดีงามของชาติหนึ่งที่ส่งอิทธิพลต่อวัฒนธรรมชาติหนึ่ง มีแต่ช่วยส่งเสริมสิ่งดีๆให้งอกงามในแบบที่เป็นตัวของตัวเอง”
นวนิยายฉบับภาษาไทยของอี๋ว์ หวา
ข้อมูลหนังสือ

สิบคำ นิยามจีน
ชื่อเรื่องภาษาจีน 《十个词汇里的中国》
ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ China in Ten Words
ผู้เขียน หยู หัว
ผู้แปล รำพรรณ รักศรีอักษร
สำนักพิมพ์ นานมีบุ๊คส์
พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2554
จำนวนหน้า 248 หน้า
ราคา 198 บาท

คนตายยาก
ชื่อเรื่องภาษาจีน 《活着》
ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ To Live
ผู้เขียน หยู หัว
ผู้แปล รำพรรณ รักศรีอักษร
สำนักพิมพ์ นานมีบุ๊คส์
พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2552
จำนวนหน้า 176 หน้า
ราคา 135 บาท

คนขายเลือด
ชื่อเรื่องภาษาจีน 《许三观卖血记》
ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ Chronicle of a Blood Merchant
ผู้เขียน หยู หัว
ผู้แปล รำพรรณ รักศรีอักษร
สำนักพิมพ์ นานมีบุ๊คส์
จำนวนหน้า 240 หน้า
ราคา 185 บาท

พี่กับน้อง
ชื่อเรื่องภาษาจีน 《兄弟》
ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ Brothers
ผู้เขียน หยู หัว
ผู้แปล ลภัสรดา แซ่ตั๊น
สำนักพิมพ์ นานมีบุ๊คส์
จำนวนหน้า 880 หน้า
ราคา 485 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น