xs
xsm
sm
md
lg

จีนส่งเทียนกง-1 บุกก้าวแรกสู่การตั้งสถานีอวกาศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จรวดขนส่งฉังเจิงกำลังพาเทียนกง1 ทะยานสู่เวหาเวลา 21.16 น.ของวันที่ 29 ก.ย.2554 (ภาพซินหวา)
เอเจนซี-จีนส่งโมดูลอวกาศชื่อ ‘เทียนกง-1’ ซึ่งเป็นห้องทดลองอวกาศไร้มนุษย์บังคับ เมื่อเวลา 21.16 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันนี้(29 ก.ย.) ที่ศูนย์ส่งยานอวกาศจิ่วเฉียน มณฑลกันซู่ การส่งเทียนกง1 นี้ นับภารกิจการส่งยานเชื่อมต่อครั้งแรก และเป็นก้าวแรกของการก่อตั้งสถานีอวกาศ จีนได้เลือกจังหวะการส่งเทียนกง1เพื่อทดลองเทคโนโลยีเชื่อมต่อยานในอวกาศก่อนวันชาติจีน (1 ต.ค.) เพื่อประกาศความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของประเทศภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์

เทียนกง-1 จะเข้าสู่วงโคจรที่ระดับ 350 กม.เหนือพื้นโลก เพื่อทำการทดลองการเชื่อมต่อยานในวงโคจร ทั้งนี้ เทคโนโลยีการเชื่อมต่อนี้ เป็นขั้นตอนสำคัญของโครงการสถานีอวกาศ

สำหรับชื่อ ‘เทียนกง’ นี้ หมายถึง ปราสาทบนสวรรค์

อู๋ ผิง โฆษกหญิงแห่งโครงการส่งยานอวกาศที่ไร้มนุษย์แถลงเมื่อวันพุธ(28 ก.ย.) ว่า ตามแผนจีนจะส่งยานอวกาศแบบไร้มนุษย์เซินโจว 8 ในต้นเดือนพ.ย.นี้ และก่อนหน้าที่เซินโจว 8 จะถูกส่งไปนี้ เทียนกง-1 จะลงเคลื่อนตัวลงมาที่วงโคจรระดับ 343 กม. เพื่อรอเชื่อมต่อกับยานเซินโจว 8 ซึ่งจะเป็นปฏิบัติการเชื่อมต่อยานอวกาศครั้งแรกของจีน ยานฯทั้งสองจะเชื่อมต่อกันเป็นเวลา 12 วัน และก็จะแยกตัวจากกัน จากนั้นจะเชื่อมต่อกันอีกครั้งภายในปีนี้

โฆษกโครงการฯเผยว่า ยานเซินโจว 8 จะกลับลงมายังพื้นโลกที่เขตปกครองตัวเองมองโกเลียใน ส่วนโมดูลอวกาศเทียนกง1 จะยังคงอยู่ในอวกาศต่อไปถึงปีหน้าเพื่อรอปฏิบัติการเชื่อมต่ออีกมากกว่าสองครั้ง โดยจะมีปฏิบัติอย่างน้อยหนึ่งครั้งที่เป็นปฏบัติการที่มีมนุษย์อวกาศโดยสารไปด้วย


(คลิปวิดีโอ สื่อจีนถ่ายทอดการส่งโมดูลอวกาศชื่อ ‘เทียนกง-1’ คืนวันที่ 29 ก.ย.)
โมดูลเทียนกง 1 (ด้านบนสุด) ติดตั้งเข้ากับจรวดขนส่งฉังเจิง2F  ที่ศูนย์ส่งยานอวกาศจิ่วเฉียน มณฑลกันซู่ ซึ่งจรวดขนส่งจะพาเทียนกง1 ทะยานเวหา จากนั้น ก็จะสลัดตัวออก ปล่อยให้เทียนกง1 เข้าสู่วงโคจร  (ภาพ ซินหวา)
จากข้อมูลโครงการส่งยานอวกาศที่มีมนุษย์อวกาศโดยสารไปด้วย บอกว่าจีนจะสร้างห้องทดลองอวกาศก่อนปี 2559 และจะประกอบรวมกับสถานีอวกาศซึ่งมีน้ำหนัก 60 ตัน ในราวปี 2563

“เทคโนโลยีการเชื่อมต่อนี้จะนำไปใช้กับการส่งยานอวกาศลงจอดดวงจันทร์ และการสำรวจอวกาศที่ซับซ้อน” โฆษกหญงอู๋ กล่าว

ปัญหาท้าทายของปฏิบัติการ ได้แก่ จรวดขนส่งจะต้องส่งยานอวกาศเข้าสู่วงโคจรอย่างแม่นยำ และอุปกรณ์ใหม่บางชิ้นในเทียนกง-1 สามารถทำการทดลองในอวกาศเท่านั้น

นอกจากนี้ ทง สีว์ตง ผู้อำนวยการสำนักงานวิศวกรรมการส่งยานอวกาศที่มีมนุษย์อวกาศโดยสาร เผยว่า China Aerospace Science and Technology Corp ผู้พัฒนาเทียนกง 1 ยานอวกาศเซินโจว และจรวดขนส่ง จะสร้างยานสนับสนุนคือ เทียนกง2

สู่เส้นทางจ้าวอวกาศ สัญลักษณ์มหาอำนาจโลก
ทั้งนี้ เมื่อจีนประสบความสำเร็จในการส่งยานอวกาศเซินโจว 5 ซึ่งมีนักบินอวกาศโดยสารไปด้วย สู่วงโคจรอวกาศ ก็ได้ก้าวขึ้นมาเป็นจ้าวอวกาศอันดับสามของโลก ตามหลังมหาอำนาจสหภาพโซเวียต และสหรัฐฯ

จากนั้นมา จีนก้าวรุดสู่เส้นทางจ้าวอวกาศอันเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของมหาอำนาจโลก โดยในปี 2548 ได้ส่งยานเซินโจว 5 ในปี 2551 ส่งเสินโจว 7 กับนักบินอวกาศ 3 คน พร้อมกับปฏิบัติการเดินอวกาศครั้งแรก

จีนได้ยังส่งยานสำรวจดวงจันทร์ลำแรกคือ ฉังเอ๋อ-1 ในปี 2550 และส่งฉังเอ๋อ- 2 ในปี 2553 สำหรับปฏิบัติการสำรวจดวงจันทร์ จนถึงปัจจุบัน สหรัฐอเมริกายังเป็นจ้าวอวกาศรายเดียว ที่ส่งมนุษย์ลงเหยียบดวงจันทร์ ทั้งนี้ ฉังเอ๋อ เป็นชื่อเทพธิดาประจำดวงจันทร์ในคติปรัมปราจีน

จีนแผนส่งยานพร้อมมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรกได้ในปี 2568 ตลอดจนส่งยานไปสำรวจดาวอังคาร และดาวพระศุกร์ได้ภายในปี 2556 และปี 2558 ตามลำดับ

จากการเปิดเผยของนายหยาง ลี่เหว่ย นักบินอวกาศคนแรกของจีนที่เดินทางไปกับเสินโจว-5 กล่าวว่า สำหรับการการส่งเทียนกง 1 ขึ้นสู่วงโคจรคาดว่า การเชื่อมต่อโดยไร้มนุษย์บังคับเป็นครั้งแรกกับยานเสินโจว 8 จะประสบความสำเร็จด้วยดี
ภาพกราฟฟิก โมดูลเทียนกง1
บรรยาภาพกราฟฟิก: โปรย-ห้องทดลองอวกาศเทียนกง-1 จะเป็นเป้าการเชื่อมต่อของยานอวกาศที่ไร้มนุษย์บังคับ คือเซินโจว 8 ในเดือนพ.ย. และจะมีการทดลองเชื่อมต่อกับยานอวกาศอีกมากกว่าสองครั้งในปีหน้า

ภาพกลาง: Experimental Module: ห้องทดลองอวกาศ เป็นที่ที่นักบินอวกาศอาศัยอยู่ และปฏิบัติการทดลอง

Resourse Module: ป้อนพลังงานขับเคลื่อน และไฟฟ้าสำหรับการทดลอง

Docking Area: จุดเชื่อมต่อ

แผนที่แสดงศูนย์ส่งยานอวกาศจิ่วเฉียน มณฑลกันซู่ ซึ่งอยู่กลางทะเลทรายโกบี

คลิกอ่าน โครงการอวกาศจีน

กำลังโหลดความคิดเห็น