xs
xsm
sm
md
lg

ไต้หวันไฟเขียววางเคเบิลโทรคมนาคมสายแรกกับจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ภาพเอเยนซี)
เอเอฟพี - ไต้หวันอนุมัติข้อเสนอการวางสายเคเบิลโทรคมนาคมใต้ทะเลเชื่อมต่อกับจีนเป็นสายแรก อันสะท้อนถึงสัญญาณการพึ่งพาอาศัยกันมากขึ้นระหว่างสองจีน

คณะกรรมาธิการการสื่อสารแห่งชาติ ได้เผยกับเอเอฟพีว่า “สายเคเบิลดังกล่าวจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของการติดต่อสื่อสารระหว่างไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งขณะนี้ต้องดำเนินการส่งสัญญาณผ่านดินแดนที่สาม อย่างเช่น ญี่ปุ่น”

สายเคเบิลใต้ทะเลดังกล่าว มีความยาว 220 กิโลเมตร จะเชื่อมทางต้านสุ่ย เมืองชายฝั่งทางเหนือของไต้หวัน และเมืองฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยน โดยจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ในช่วงต้นปี 2555

จงหวา เทเลคอม บริษัทให้บริการด้านการโทรคมนาคมรายใหญ่ไต้หวัน จะถือหุ้นในโครงการดังกล่าว 50 เปอร์เซ็นต์ มูลค่า 200 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน(ราว 6.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่หุ้นส่วนที่เหลือจะเป็นของ 3 บริษัทจีน

เจิน ฮุ่ยเอิน โฆษกบริษัทจงหวา กล่าวกับเอเอฟพีว่า “เป็นที่คาดการณ์ว่าสัญญาณเสียงจะกินพื้นที่ไม่ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ของแบนด์วิดท์เคเบิล ซึ่งรับประกันได้ว่าสัญญาณจะมีคุณภาพมาก”

บรรดาบริษัทด้านการสื่อสารโทรคมนาคมจีนล้วนต้องการให้มีการติดตั้งสายเคเบิลดังกล่าวเพื่อให้บริการการสื่อสารระบบ 3 จี นอกจากนี้ความนิยมในการทำคลาวด์คอมพิวติ้งที่มีมากขึ้น ก็ยิ่งตอกย้ำความจำเป็นสำหรับการวางสายเคเบิลดังกล่าว

อนึ่ง คลาวด์คอมพิวติ้งคือการใช้งานทางด้านไอทีที่ใช้วิธีดึงสมรรถนะจากคอมพิวเตอร์หลายๆตัวจากต่างสถานที่ให้ทำงานสอดประสานกันเพื่อช่วยขับเคลื่อนการบริการทางด้านไอทีต่างๆ อาทิ การแชร์ข้อมูล ทรัพยากร ซอฟแวร์ต่างๆแบบออนไลน์ในแบบเรียลไทม์

ทั้งนี้ โครงการวางสายเคเบิลดังกล่าวมีขึ้นท่ามกลางความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไต้หวัน ที่พัฒนามากขึ้นภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันเมื่อปี 2551 ทั้งสองได้บรรลุข้อตกลงครั้งประวัติการณ์เชื่อมโยงการติดต่อกันโดยตรงทั้งสามด้านได้แก่ การขนสงทางอากาศ การขนส่งทางเรือ และการไปรษณีย์ ทั้งนี้ก่อนหน้าการติดต่อทั้งสามด้านต้องผ่านดินแดนที่สามซึ่งเสียเวลาและค่าใช้จ่ายมาก หม่าได้ดำเนินนโยบายผูกสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยีระดับสูงกับจีน อีกทั้งมีการลงนามข้อตกลงเขตการค้าเสรีไปบางส่วนเมื่อปีที่ผ่านมา(2553) หรือที่เรียกว่า ข้อตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งเสมือนการปรับสัมพันธ์ปกติทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม นับแต่จีนและไต้หวันได้แบ่งแยกการปกครองหลังสิ้นสุดสงครามกลางเมืองปี 2492 แต่จีนยังคงอ้างเสมอว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ที่รอการรวบรวม และหากจำเป็นก็จะใช้กำลังเข้ายึดครอง
กำลังโหลดความคิดเห็น