เอเอฟพี - ปักกิ่งยืนยันเลือกเฮนรี ถัง ดำรงตำแหน่งผู้นำเขตบริหารพิเศษฮ่องกงคนใหม่ในปีหน้า ท่ามกลางกระแสวิจารณ์ระบบการทำงานของเจ้าหน้าที่ฯ กรณีที่ตำรวจรักษาความปลอดภัยจับผู้ชุมนุมประท้วงอย่างสันติในระหว่างการเยือนของรองนายกรัฐมนตรีจีนเดือนที่แล้ว
เฮนรี ถัง หรือ ถัง อิงเหนียน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง เรตติ้งของเขาตกฮวบหลังจากเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้สเปรย์พริกไทยเข้าปราบฝูงชนที่มาชุมนุมอย่างสันติ พร้อมจับกุมไปทั้งสิ้น 231 คน ในช่วงที่หลี่ เค่อเฉียง รองนายกรัฐมนตรีจีนเยือนฮ่องกงในเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเขาเป็นผู้รับผิดชอบ
ถังมองว่าข้อวิจารณ์กรณีที่ตำรวจละเมิดสิทธิมนุษยชนป็นสิ่งที่ไร้ค่า ไม่น่าสนใจ
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานข่าวเมื่อวันอังคาร (20 ก.ย.) โดยอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่อาวุโสของจีนระบุว่า “ถังวัย 58 คนนี้ จะแซงหน้าผู้ท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าคณะบริหารเขตบริหารพิเศษแห่งฮ่องกงคนอื่น ๆ และเขาจะได้นั่งเก้าอี้ฯ ต่อจากโดนัลด์ ซัง ซึ่งกำลังจะหมดวาระในปีหน้า
ถัง ซึ่งในขณะนี้นั่งตำแหน่งใหญ่รองจากซังเป็นลำดับ 2 ได้เข้าร่วมกับฝ่ายปกครองในปี 2545 นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีพาณิชย์ จากนั้นก็ก้าวหน้ามานั่งตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง และได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ในปี 2550
รายงานข่าวซึ่งอ้างแหล่งข้าวใกล้ชิดระบุว่า “ภายใต้คำแนะนำของกลุ่มผู้นำในพรรคคอมมิวนิสต์มีผลต่อการตัดสินใจเลือกผู้นำตลอดจนกิจการอื่น ๆ ในฮ่องกงและมาเก๊า”
“รัฐบาลกลางเห็นควรให้ถัง ขึ้นนั่งเก้าอี้หัวหน้าคณะบริหารเขตบริหารพิเศษแห่งฮ่องกง เนื่องจากเขามีเสียงสนับสนุนจากข้าราชการพลเรือนเป็นจำนวนมาก”
ฮ่องกงรักษาระบบการเมืองและกฎหมายของตนเอง ภายใต้การปกครองที่เรียกว่า “1 ประเทศ 2 ระบบ” หลังจากที่อังกฤษส่งมอบดินแดนฮ่องกงสู่การปกครองของแผ่นดินจีนในปี 2540 โดยฮ่องกงยังคงรักษากฎหมายแม่บทสมัยการปกครองของอังกฤษ ที่ให้สิทธิเสรีภาพระดับสูง
อย่างไรก็ตาม หัวหน้าคณะบริหารเขตบริหารพิเศษแห่งฮ่องกง และครึ่งหนึ่งของวุฒิสภาชิกในสภานิติบัญญัติ หรือสภาเล็กนั้น จะถูกคัดเลือกโดยคณะกรรมการสรรหาซึ่งขึ้นตรงต่อปักกิ่ง ซึ่งตรงจุดนี้เป็นสิ่งที่นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยที่ต้องการการปฏิรูปทางการเมืองรับไม่ได้
ถังอาจจะได้ขึ้นมานั่งเก้าอี้ผู้นำฮ่องกงรุ่นที่ 3 หลังจากอังกฤษส่งมอบเกาะฯ คืนสู่จีน
รายงานการแต่งตั้งเข้ารับตำแหน่งฯ นี้ เผยออกมาหลังจากมีกระแสเรียกร้องจากนักเคลื่อนไหวให้ขับไล่ผู้บังคับบัญชาการตำรวจแห่งฮ่องกงออก เนื่องจากกลุ่มผู้เรียกร้องชี้ว่าตำรวจใช้อำนาจเกินขอบเขตในการยับยั้งมิให้ผู้ประท้วงเข้าใกล้ตัวหลี่ เค่อเฉียง ที่มีแนวโน้มได้นั่งเก้าอี้นายกจีนคนต่อไป
กลุ่มนักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิในฮ่องกง ได้กล่าวหาตำรวจว่า ละเมิดสิทธิในการชุมนุมอย่างสันติของประชาชน และในปีนี้ กลุ่มนักเคลื่อนไหวได้ออกมาแสดงความกังวลกรณีที่รัฐบาลไม่ยอมอดทนต่อผู้ที่มีความเห็นต่าง