xs
xsm
sm
md
lg

รถยนต์แบรนด์จีนยังต้องเข็นครกขึ้นเขา สู้คู่แข่งต่างแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้เยี่ยมชมงาน เซี่ยงไฮ้ อินเตอร์เนชั่นนัล ออโต โชว์ ในนครเซี่ยงไฮ้ กำลังชมรถซีดาน เป่าจิ้น 630 ผลิตโดยค่ายรถยนต์รายใหญ่จีนและอเมริกัน ได้แก่ SAIC-GM-Wuling ซึ่งเปิดตัวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อบุกตลาดเมืองชั้นสองและชั้นสามจีน ในสถานการณ์การซื้อขายรถยนต์ชะลอตัวลง (ภาพเอเจนซี)
รอยเตอร์-กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์จีนกำลังหมุนเคว้ง เนื่องจากตลาดรถยนต์ในประเทศซบเซาลง หลังจากที่รัฐบาลจีนเลิกมาตรการอุดหนุนการซื้อขายรถยนต์ไปเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่ใน สถานการณ์ดังกล่าวก็จะสร้างโอกาสให้กลุ่มบริษัทรถยนต์รายเล็กรายน้อยจำนวนมากในจีน หันมาผนึกกำลังกัน ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์จีนเติบโตอย่างแข็งแกร่งมากกว่า

เจ็ดเดือนหลังจากที่รัฐบาลยุติมาตรการอุดหนุนการซื้อขายรถยนต์แล้ว การขยายตัวในภาครถยนต์ในจีน ปรับตัวลงมาสู่อัตราที่ยั่งยืนมากขึ้น ที่อัตราเติบโตต่อปี ร้อยละ 6 กลุ่มนักวิเคราะห์ชี้ว่าหากสถานการณ์ฯนี้ยังดำเนินต่อไป กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์อิสระหรือผู้ผลิตรายเล็ก ก็ต้องหันมาจับมือควบรวมกิจการเพื่อความอยู่รอด

“เมื่อไม่มีมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาล กิจการรถยนต์ท้องถิ่นต่างย่ำแย่ไปตามๆกัน ก่อนหน้ามาตรการอุดหนุนของรัฐบาลได้ช่วยดันยอดขายของแบรนด์ท้องถิ่นอย่าง ‘เชอรี่’ ตลอดปี 2552-53” ย่าเล่อ จัง ผู้จัดการบริษัที่ปรึกษาในเซี่ยงไฮ้ Automotive Foresight กล่าว

ขณะเดียวกัน แบรนด์ต่างชาติกลับยังไปได้ดี ยอดขายรถยนต์สัญชาติเยอรมนีและอเมริกัน ยังขยายตัวที่ร้อยละ 20.2 และร้อยละ 18.9 ตามลำดับ ระหว่างช่วง 7 เดือนแรกนี้

แต่แบรนด์ท้องถิ่น จี๋ลี่ ออโตโมบิล (Geely Automobile Holdings) และบริษัทท้องถิ่นอื่นๆ ทำยอดขายเพิ่มได้เพียงร้อยละ 5 เทียบกับปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งลดฮวบลงจากระดับอัตราเติบโตต่อปี ร้อยละ 45.9 ของช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว

ยอดขายรถยนต์ของค่าย BYD ที่มหาเศษรฐีโลก วอร์เรน บัฟเฟตต์ มีหุ้นอยู่ด้วยนั้น ยิ่งตกหนัก ร่วงไปถึงเกือบ 1 ใน 5 แม้แต่รถยนต์ยอดนิยมในประเทศจีน Roewe ก็มียอดขายหดลง ยอดขายประจำเดือนของรถซีดาน Roewe และ MG ตกลงสู่แดนลบเป็นครั้งแรกนับจากเดือนเม.ย. หลังจากที่ลิงโลดกับอัตราเติบโตร้อยละ 77.4 ในปี 2553

ตลาดซื้อขายรถยนต์จีนยิ่งถูกกดดันหนัก เมื่อต้นปีเมื่อรัฐบาลท้องถิ่นปักกิ่งงัดมาตรการแก้ไขปัญหาการจราจร โดยกำหนดโควตาการรับรองทะเบียนรถยนต์ในแต่ละรายเดือน ซึ่งจะมีผู้บริโภคเพียง 1 ใน 3 ที่จะได้รับทะเบียนรถยนต์ และผู้บริโภคเหล่านี้ส่วนใหญ่จะซื้อแบรนด์ต่างแดนมากกว่า

ตามเมืองขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ชั้นในแผ่นดิน ที่ยอดขายรถยนต์แบรนด์ท้องถิ่นมักจะสูงกว่าคู่แข่งแบรนด์ต่างชาติ ขณะนี้ แบรนด์ ‘เมด อิน ไชน่า’ อย่าง เชอรี่ และจี๋ลี่ กำลังต้องสู้ศึกหนักกับรถค่าย จีเอ็ม (General Motors) และค่ายต่างแดนอื่นๆที่กำลังลุยออกรถยนต์ราคาต่ำมาช่วงชิงลูกค้า

จีเอ็มเปิดเอ๊าท์ท์เล็ต 120 แห่ง สำหรับขายรถยนต์ ‘เป่าจวิ้น 630’ ซึ่ง เปิดตัวไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รถยนต์ซีดาน เป่าจวิ้น ผลิตโดยบริษัทร่วมทุน SAIC-GM-Wuling เพื่อส่งลุยตลาดในเมืองชั้นสองและชั้นสามในจีน

ค่ายนิสสัน มอเตอร์ และฮอนดา มอเตอร์ ก็จับมือกับผู้ผลิตท้องถิ่น ออกรถยนต์โฉมใหม่รุ่น Everus และ Venucia ตามลำดับ เพื่อส่งชิงเค้กในตลาดเมืองชั้นสอง-ชั้นสามของจีน

บรรดาผู้สังเกตการณ์อุตสาหกรรมรถยนต์ หากสถานการณ์ยอดขายรถยนต์ชะลอตัวในจีน ยังเป็นเช่นนี้ต่อไปอีก 2-3 ปี ก็จะสร้างโอกาสดีเยี่ยมในการควบรวมบริษัทรถยนต์จีนที่มีลักษณะแตกเป็นชิ้นเป็นส่วนสูง อันทำให้จีนมีแบรนด์รถยนต์ที่ไร้ประสิทธิภาพมากเกินไป และไม่อาจพุ่งเป้าสร้างแบรด์ที่แข็งแกร่ง

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญในกรุงปักกิ่ง ชี้ว่าการที่จีนมีแบรนด์ระดับชาติเพียงหยิบมือ ขณะที่การผนึกกำลังเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างเชื่องช้านั้น เป็นเพราะรัฐบาลท้องถิ่นไม่ยอมร่วมมือด้วย เพราะต้องการที่จะเป็นเจ้าศักดินาสร้างอาณาจักรรถยนต์ของตัวเอง

นับจากปี 2550 รัฐบาลจีนได้สั่งการโยกย้ายการร่วมทุน 2 ครั้งใหญ่ สามยักษ์ใหญ่แห่งภาครถยนต์จีน ได้แก่ SAIC (Shanghai Automotive Industry Corporation) ตงเฟิง มอเตอร์ กรุ๊ป และ FAW (First Automobile Works of China) ก็ยังมียอดขายไม่ถึงครึ่งหนึ่งของยอดขายทั้งประเทศในปี 2553 ขณะที่ในประเทศญี่ปุ่น กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ระดับท็อปซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 86 เฉพาะ โตโยตา มอเตอร์ เพียงรายเดียว ก็กินส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 53

“ผมไม่คิดว่าผู้ผลิตท้องถิ่นจะยื้ออยู่เช่นนี้ตลอดไป ขณะนี้มีค่ายรถยนต์อิสระ 30 หรือ 40 ราย ซึ่งน่าจะค่อยๆลดลงมาเหลือ 4 หรือ 5 ราย ผู้ที่แข็งแรงก็จะอยู่รอด ขณะที่ผู้ที่อ่อนแอก็จะค่อยๆลงจากเวทีไป” สี่ว์ ฉังหมิง ผู้จัดการทั่วไปของ Information Resource หน่วยงานของศูนย์ข้อมูลแห่งรัฐ กล่าว

รถยนต์ต่างแดน: ผู้ผลิต และคู่หุ้นส่วน
นับเป็นเรื่องดีที่ผู้บริโภคชาวจีนยังหันมาซื้อรถยนต์แบรนด์ต่างชาติในขณะที่ไร้มาตรการอุดหนุน ส่งให้ยอดขายของค่ายรถยนต์ระดับท็อปยังคึกคัก

ยอดขายของบริษัทรถยนต์ท้องถิ่นร่วมทุนกับโฟล์คสวาเกน (Volkswagen)ในนครเซี่ยงไฮ้ ขยายร้อยละ 22.4 ระหว่างช่วง 7 เดือน ขณะที่ เมอร์ซิเดส-เบนซ์ ของเดมเลอร์ มียอดขายร้อยละ 50 ซึ่งทำให้คู่หุ้นส่วนบริษัทท้องถิ่น (ซึ่งเป็นบริษัทรายใหญ่ของรัฐ) ของค่ายรถยนต์ต่างชาติเหล่านี้ ยังสามารถยืนหยัด

ก่อนหน้ากิจการรถยนต์ในจีนได้รับอานิสงส์จากมาตรการอุดหนุน ซึ่งรวมถึงมาตรการอุดหนุนการซื้อขายรถยนต์ในเขตชนบท มาตรการดังกล่าวออกมาในช่วงวิกฤตการเงินโลกที่พ่นพิษมาตั้งแต่ปี 2552 เพื่อเป็นโล่ป้องกันภาคอุตสาหกรรมรถยนต์จีนดิ่งเหว รัฐบาลจีนค่อยๆลดมาตรการอุดหนุนเหล่านี้ และยุติอย่างสิ้นเชิงในปลายปีที่แล้ว.
กำลังโหลดความคิดเห็น