ไชน่า เดลี - ชาวเน็ตจีนแฉพิพิธภัณฑ์พระราชวังต้องห้ามในกรุงปักกิ่งหาเงินจากการประมูลซื้อจดหมายโบราณอายุนับพันปีสมัยราชวงศ์ซ่ง(960-1279) 5 ฉบับ ในปี 2540 ต่อมา ได้นำมาประมูลขายทำกำไรจากเดิมถึง 3 เท่าในปี 2548 แต่เจ้าหน้าที่สำนักงานมรดกทางวัฒนธรรมปักกิ่งเผยว่า พิพิธภัณฑ์ฯ ไม่ได้เป็นผู้ซื้อจดหมายโบราณดังกล่าว และไม่ได้เป็นผู้ขายจดหมายฯด้วย
เจ้าหน้าที่สำนักงานมรดกทางวัฒนธรรมเทศบาลนครปักกิ่งได้เผยว่า เจ้าหน้าที่ฯได้ดำเนินการตรวจสอบรายการสินค้าทุกชิ้นที่อยู่ในการประมูลทั้งสองครั้งในปี 2540 และ 2548 แล้ว
เฟิง ไหน่อัน โฆษกพิพิธภัณฑ์พระราชวังต้องห้าม ได้เผยกับผู้สื่อข่าวไชน่า เดลี เมื่อวันศุกร์(5 ส.ค.)ว่า “ทางพิพิธภัณฑ์ฯ ไม่เคยซื้อจดหมายโบราณสมัยซ่ง 5 ฉบับ ในการประมูลเมื่อปี 2540”
อย่างไรก็ตาม ในหนังสือ 80 ปีพิพิธภัณฑ์พระราชวังต้องห้าม ซึ่งเรียบเรียงขึ้นโดยทางพิพิธภัณฑ์ฯ ได้ระบุไว้ว่า “ในการประมูลเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2540 พิพิธภัณฑ์ฯได้ประมูลซื้อจดหมายโบราณสมัยซ่ง 5 ฉบับ จากบริษัทประมูลเป่ยจิง ฮั่นไห่”
ขณะที่ข้อมูลจากเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ฯและเว็บไซต์บริษัทประมูลดังกล่าว ได้ระบุไว้เหมือนกันว่า จดหมายโบราณฯ 5 ฉบับดังกล่าวถูกประมูลขายในปี 2540 และ 2548
ตามกฎหมายด้านการอนุรักษ์โบราณวัตถุระบุว่า พิพิธภัณฑ์ใดก็ตาม ไม่สามารถนำของสะสมไปขายได้ ขณะที่บริษัทประมูลฯได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวไชน่า ยูธ เดลี ว่า “เราไม่สามารถเปิดเผยผู้ซื้อในการประมูลทั้งสองครั้งได้ เนื่องจากกฎการประมูลระบุว่า ข้อมูลผู้ซื้อถือเป็นความลับ”
ขณะที่ข่าวฉลองครบรอบ 10 ปีบริษัทประมูลดังกล่าวที่เผยเมื่อปี 2547 ได้ยืนยันว่าทางพิพิธภัณฑ์ฯได้ซื้อจดหมายโบราณสมัยซ่ง 5 ฉบับ ขณะที่ ไชน่า ยูธ เดลี รายงานเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า ชาวเน็ตจีนที่ใช้ชื่อว่า เซี่ยงเจียง อี๋ว์อิน ได้โพสต์ข้อความบนอินเทอร์เน็ตกล่าวหาว่าพิพิธภัณฑ์พระราชวังต้องห้าม หาเงินจากการประมูลขายจดหมายโบราณฯ 5 ฉบับดังกล่าว เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา
ข้อความดังกล่าวระบุถึงข้อกังขาถึงความชอบด้วยกฎหมายของพิพิธภัณฑ์พระราชวังต้องห้ามที่ได้ประมูลซื้อจดหมายโบราณสมัยซ่ง อายุนับพันปี 5 ฉบับ และนำไปประมูลขายต่อในราคาแพงกว่าเดิมถึง 3 เท่าตัว โดยเซี่ยงเจียง ได้เผยว่าข้อกังขานี้อ้างอิงจากไดอารี่ของ เผย กวงฮุย ผู้เชี่ยวชาญด้านมรดกทางวัฒนธรรม
ในไดอารี่ของ เผย กวงฮุย ระบุว่า ในปี 2540 พิพิธภัณฑ์พระราชวังต้องห้ามได้ประมูลซื้อจดหมายโบราณฯ 5 ฉบับ ในราคารวมค่าธรรมเนียม 6.82 ล้านหยวน (ราว 31 ล้านบาท) และนำไปขายในปี 2548 ในราคาเกือบ 22.9 ล้านหยวน (ราว 105 ล้านบาท)
“หลังจากซื้อจดหมายโบราณสมัยซ่ง 5 ฉบับมาในปี 2540 แล้ว ทางพิพิธภัณฑ์ฯกลับขายออกไปอีกครั้งได้อย่างไร” ข้อสงสัยในไดอารี่เขียนไว้ อีกทั้งบันทึกรายละเอียดการประมูลในปี 2548 ไว้ด้วย
เผย ได้กล่าวกับไชน่า ยูธ เดลี เมื่อวันศุกร์(5 ส.ค.)ว่า “ผมได้รับข้อมูลการประมูลดังกล่าวมาจากเพื่อนที่ทำงานในพิพิธภัณฑ์ฯ และได้ข้อมูลจากงานวิจัยที่ผมทำ แต่ยังต้องตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องบางอย่างอีก และจะเผยให้ทราบในอีกหนึ่งสัปดาห์”
ทั้งนี้ ข้อกล่าวหาดังกล่าวนับเป็นเหตุอื้อฉาวล่าสุดของพิพิธภัณฑ์พระราชวังต้องห้ามในกรุงปักกิ่ง หลังจากที่ทางพิพิธภัณฑ์ฯถูกกล่าวหาว่าปิดข่าวจานกระเบื้องโบราณสมัยราชวงศ์ซ่ง(ค.ศ. 960-1279) แตกเสียหายระหว่างการตรวจสอบโดยนักวิจัย ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา แต่กลับไม่มีการรายงานเหตุการณ์ดังกล่าว จนกระทั่งบล็อกเกอร์จีนที่ชื่อ หลง ชัน อดีตนักข่าวจากเมืองเฉิงตู มณฑลซื่อชวน(เสฉวน) ได้เผยข่าวดังกล่าวผ่านทางเวยปั๋ว บริการไมโครบล็อกกิงหรือทวิตเตอร์ภาคจีน เมื่อช่วงสิ้นเดือนก.ค.
และเมื่อวันอังคาร(2 ส.ค.) บล็อกเกอร์ หลง ชัน ได้โพสต์ในบล็อกของตนว่า พิพิธภัณฑ์ฯได้ปกปิดข่าวอุบัติเหตุการทำโบราณวัตถุเสียหายอีก 4 ชิ้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเผยข้อมูลตัวอย่างอ้างจากคนวงในว่า “ในปี 2549 พวกเขา(พิพิธภัณฑ์ฯ) ได้ทำให้เครื่องรางโบราณสมัยราชวงศ์หมิง(1368-1644) พังเสียหาย และในปี 2551 ก็เกิดเหตุพระพุทธรูปเสียหาย นอกจากนี้เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ฯที่ชื่อ เหริน วั่นผิง ได้ทำงานศิลป์พังอีก”
พัน โซวหย่ง ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยหมินจู๋ ได้ชี้ว่าอุบัติเหตุโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์เสียหายสะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานคุณภาพของเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ฯที่ค่อนข้างแย่ไม่มีความเป็นมืออาชีพ พร้อมทั้งเผยผลการสำรวจว่า ในปี 2551-2552 เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ของเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ในจีน ไม่ได้จบมหาวิทยาลัย และมีจำนวนไม่มากที่ได้ศึกษาในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับพิพิธภัณฑ์