xs
xsm
sm
md
lg

การเติบโตของเศรษฐกิจจีนพบรอยร้าวน่าเป็นห่วง

เผยแพร่:   โดย: พรรณพิไล/สุรัตน์

วิกฤตเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการส่งออก จีนจึงหันมาระดมปล่อยสินเชื่อสำหรับโครงการก่อสร้าง  สาธาณูปโภคต่างๆ เช่นเมื่อปีที่แล้ว จีนทุ่มเทงบประมาณมหาศาลรก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง  กว่า 7 แสนล้านหยวน หรือ 109,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในภาพ: เส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ (ภาพเอเอฟพี)
เอเจนซี--ผู้เชี่ยวชาญพบรอยร้าวเกิดขึ้นในรูปแบบการเติบโตของเศรษฐกิจจีน เตือนการเติบโตพึ่งการลงทุนมากจนเกินไป ซึ่งไม่ยั่งยืน

ในขณะที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปกำลังประสบกับวิกฤตหนี้สินสูงท่วมหัว แต่เศรษฐกิจแดนมังกรกลับปรากฏความแข็งแกร่ง โดยขณะนี้จีนมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสูงถึงเกือบ 3.2 ล้านล้านดอลลาร์ และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพีในไตรมาส 2โตถึงร้อยละ 9.5 เศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของจีนจึงดูเหมือนเป็นสายลมอ่อน ที่พัดโชยผ่านวิกฤตการเงินโลกให้คลายความรุ่มร้อน

นายเฟรเซ่อร์ โฮวี่ นายธนาคารวาณิชธนกิจ ผู้ร่วมแต่งหนังสือเรื่อง 'ลัทธิทุนนิยมแดง : พื้นฐานด้านการเงินที่เปราะบางของการผงาดขึ้นอย่างไม่ปกติของจีน' (Red Capitalism: the Fragile Financial Foundation of China’ s Extraordinary Rise) ชี้ว่าจีนได้กลายเป็นสัดส่วน ที่ใหญ่ขึ้นในเศรษฐกิจโลกอย่างเห็นได้ชัด และอัตราการเติบโตก็สูงกว่าเศรษฐกิจของชาติพัฒนา แต่ทว่า ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของจีนเวลานี้กำลังเดินไปผิดทางเสียส่วนมาก

วิกฤตเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการส่งออก ซึ่งมีขนาดใหญ่ของจีนในช่วงปี 2551-2552 ดังนั้น จีนจึงหันมาระดมปล่อยสินเชื่อสำหรับโครงการก่อสร้าง เช่น อย่างทางหลวง เส้นทางรถไฟความเร็วสูง รวมทั้งโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ

แต่เมื่อถึงตอนนี้ ผู้เชี่ยวชาญได้เตือนว่า รูปแบบการเติบโตของเศรษฐกิจจีนพึ่งพาการลงทุนมากเกินไปแล้ว โดยนายแพทริก โชวาเน็ก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยชิงหวาในกรุงปักกิ่งระบุว่า พวกธนาคารมองการปล่อยสินเชื่อให้แก่โครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคว่า ปลอดจากความเสี่ยง เพราะรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกัน ทว่าโครงการเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจโตก็จริง แต่ก็ก่อให้เกิดปัญหาใหญ่รออยู่ในเรื่องของหนี้เสีย เขาชี้ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในรูปแบบใหม่นี้เป็นสิ่งไม่ยั่งยืน

จากรายงานผู้ตรวจสอบบัญชีของทางการจีนระบุเมื่อเดือนมิ.ย. ว่ากลุ่มรัฐบาลท้องถิ่นของจีนมีหนี้เสียสูงถึง 10.7ล้านล้านหยวนเมื่อสิ้นปีที่แล้ว(2553) โดยคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของ จีดีพีประเทศของปี 2553 ซึ่งเท่ากับ 39.8 ล้านล้านหยวน พร้อมกับเตือนว่ารัฐบาลท้องถิ่นบางรายอาจต้องผิดนัดชำระหนี้
ด้านสำนักจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลกอย่างมูดี้ส์ระบุว่า ทางการจีนอาจประเมินภาระหนี้เสียต่ำกว่าความเป็นจริง

แม้รัฐบาลจีนได้ระบุในร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปีฉบับใหม่ (2554-2558) ว่าต้องการให้การบริโภคในประเทศมีบทบาทมากขึ้นในการหนุนให้เศรษฐกิจจีนเติบโตด้วยการเพิ่มอำนาจซื้อของประชาชน และพัฒนาภาคบริการ ตลอดจนสวัสดิการสังคม

ขณะเดียวกันนี้ ผู้นำจีนก็เผชิญแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่กำลังควงสว่านแบบพายุหมุน โดยดัชนีผู้บริโภค หรือซีพีไอ แตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปีที่ร้อยละ 6.4 เมื่อเดือนมิ.ย. 2554 ทำให้ธนาคารกลางจีนพยายามหยุดยั้งการไหลทะลักของสินเชื่อด้วยการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย5 ครั้งแล้วนับจากเดือนต.ค. (2553) และสั่งให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มสัดส่วนทุนสำรองถึง 6 ครั้งแล้วในครึ่งปีแรก นี้(2554) ขณะนี้กลุ่มธนาคารต้องกันเงินสดสำรองสูงเป็นประวัติการณ์ ร้อยละ 21.5 โดยจีนยังวิตกด้วยว่าการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าอาจเป็นชนวนให้เกิดเหตุวุ่นวายจลาจลในสังคม

แต่เดือนแล้วเดือนเล่า ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจก็ยังแสดงให้เห็นว่า การลงทุนและการส่งออกยังคงขยายตัวรวดเร็วกว่าการบริโภค ดังรายงานตัวเลขเศรษฐกิจประจำเดือนมิ.ย.(2554) ระบุอัตราการนำเข้าของจีนขยายร้อยละ 19.3 ลดลงจากเดือนพ.ค. ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 28.4 ขณะที่อัตราการส่งออกอยู่ที่ร้อยละ 17.9 ลดลงเล็กน้อยจากระดับร้อยละ 19.4 ของเดือนพ.ค. ทำให้ยอดเกินดุลการค้าโลกของจีน แตะระดับสูงสุดในปีนี้ เท่ากับ 22,200 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายไมเคิล เพ็ตทิส ศาสตราจารย์ประจำโรงเรียนบริหารจัดการกวงหวาแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่งระบุว่า การเติบโตของเศรษฐกิจจีนได้ขาดความสมดุลเสียจนกระทั่งกำลังเป็นการยากอย่างที่สุด ที่จีนจะเปลี่ยนไปสู่การเติบโตในรูปแบบใหม่

นักเศรษฐศาสตร์หลายคนยังมองว่า การที่รัฐวิสาหกิจของจีนสามารถขอสินเชื่อได้ง่ายกว่าภาคส่วนอื่น ๆ นั้นถือเป็นการจัดสรรแหล่งทรัพยากร ที่แย่ เพราะภาคเอกชน ซึ่งต้องเผชิญการแข่งขันมากกว่า คือแหล่งใหญ่ของการจ้างงานในจีน

ท้ายที่สุด บรรดานักวิเคราะห์กำลังสงสัยว่า จีน ซึ่งกำลังเผชิญกับวิกฤตหนี้สินครั้งใหม่ ที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตก จะสามารถใช้มาตรการเดิมอย่างที่เคยทำมาในคราววิกฤตการเงินโลกปี 2551 ได้อีกหรือไม่

นายโฮวี่มองว่า หากจีนทำเช่นนั้นอีก เงินราคาถูก ที่ทะลักเพิ่มเข้ามาในระบบก็จะสร้างสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ก่อผล

“ แต่สุดท้ายนั่นก็คือการเสียเปล่าของทรัพยากร และการเติบโตในรูปแบบนี้ก็จะพังในที่สุด” เขาระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น