xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟเร็วสูง “ปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้” ครบเดือน เผยผู้โดยสาร 1.7 แสน/วัน ยอดตั๋วร่วง 30% หลังอุบัติเหตุเวินโจว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพรถไฟหัวกระสุนปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ เที่ยวแรกเดินทางออกจากสถานีทิศใต้ กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. (แฟ้มภาพ)
ซินจิงเป้า/โกลบอลไทมส์ – รถไฟจีนเผยสถิติหลังรถไฟความเร็วสูงปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ เปิดให้บริการ 1 เดือน ระบุขนส่งผู้โดยสารเฉลี่ยราว 1.7 แสนคน-179 เที่ยวต่อวัน รถถึงปลายทางตรงเวลา 88.5% พบปัญหาอีกอื้อต้องเร่งแก้ไข นสพ.จีนเผยยอดจำหน่ายตั๋วร่วง 30% หลังเหตุรถไฟชนกันที่เวินโจว

นับตั้งแต่รถไฟความเร็วสูงสายปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีความยาวทั้งสิ้น 1,318 กิโลเมตร และถือเป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่สำคัญที่สุดของจีน เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา ล่าสุดกระทรวงรถไฟจีนได้เปิดเผยถึงสถิติและปัญหาบางส่วนของการให้บริการ

นับสถิติถึงวันที่ 31 ก.ค. 2554 กระทรวงรถไฟจีนระบุว่า ในช่วงเดือนแรกของการเปิดให้บริการ มีผู้ใช้บริการเส้นทางรถไฟสายปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ จำนวน 5.259 ล้านคน คิดเป็นขบวนรถทั้งสิ้น 5,542 เที่ยว โดยหากคำนวณเฉลี่ยแล้วในแต่ละวันมีผู้โดยสารทั้งสิ้นราว 170,000 คน และมีขบวนรถที่วิ่งบนเส้นทางทั้งสิ้น 179 เที่ยว

ขณะที่ถ้าพิจารณาจากขบวนรถไฟทุกแบบ (ทั้งรถไฟความเร็วสูงและรถไฟปกติ) ที่วิ่งระหว่าง 2 เมือง พบว่า มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ย 254,000 คนต่อวัน โดยถือว่าจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากก่อนหน้าวันที่ 30 มิ.ย. ร้อยละ 58.8 หรือเพิ่มขึ้น 94,000 คนต่อวัน

เมื่อพิจารณาถึงความตรงเวลาของขบวนรถทั้งหมดบนเส้นทางดังกล่าว พบว่ายังประสบปัญหาอยู่บ้าง คือ จากสถิติระหว่างวันที่ 30 มิ.ย. ถึง 20 ก.ค. 2554 ขบวนรถที่ปล่อยจากสถานีต้นทางตรงเวลามีสัดส่วนร้อยละ 95.1 ขณะที่มีขบวนรถเดินทางถึงปลายทางตรงเวลาร้อยละ 88.5

ในส่วนปัญหาและอุปสรรคของการให้บริการ นอกเหนือจากปัญหาใหญ่อย่างเช่น ความล่าช้าของรถไฟอันเกิดจากความขัดข้องของระบบไฟฟ้าซึ่งทำให้รถไฟหลายขบวนล่าช้ากว่ากำหนดหลายชั่วโมง และอุบัติเหตุใหญ่จากกรณีรถไฟความเร็วสูงสายหางโจว-เวินโจว ชนกันเมื่อช่วงค่ำวันที่ 23 ก.ค. แล้ว ทางกระทรวงรถไฟระบุว่า ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ปัญหาหลักๆ ที่พนักงานประสบก็คือปัญหา การชดเชยผู้โดยสารกรณีขบวนรถไฟล่าช้า, ปัญหาการให้บริการกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน, ปัญหาค่าปรับกรณีคืนตั๋วแพงเกินไป, อุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ บนขบวนรถชำรุด-ไม่สมบูรณ์, ปัญหาทางวิศวกรรม ฯลฯ

ยอดตั๋วร่วง 30% หลังเกิดเหตุรถไฟชน-ล่าช้า

วานนี้ (1 ส.ค.) หนังสือพิมพ์เช้าตงฟังรายงานว่า หลังอุบัติเหตุรถไฟความเร็วสูงสายหางโจว-เวินโจว ชนกันเมื่อวันที่ 23 ก.ค. ส่งผลให้ยอดจำหน่ายตั๋วรถไฟความเร็วสูง โดยเฉพาะในชั้น 1, ชั้น 2 และ ชั้นธุรกิจลดลงอย่างมาก ของหลายขบวนแทบไม่มีคนนั่งเลย ขณะที่เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมากระทรวงรถไฟจีนได้ยกเลิกขบวนรถไฟ 4 เที่ยวโดยไม่เปิดเผยถึงสาเหตุการยกเลิก

รายงานดังกล่าวระบุด้วยว่า รถไฟความเร็วสูงสายปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงแรกของการเปิดให้บริการ ทว่าหลังจากเมื่อวันที่ 10 ก.ค. ที่เกิดเหตุฟ้าผ่าทำให้รถไฟ 20 ขบวนล่าช้า และหลังจากนั้นก็มีปัญหาต่างๆ ตามมาก็ทำให้ความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อรถไฟความเร็วสูงลดลง

ศาสตราจารย์หวัง เมิ่งซู่ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญแห่งศูนย์วิจัยวิศวกรรมอุโมงค์และทางใต้ดินแห่งมหาวิทยาลัยคมนาคมปักกิ่งให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า ตัวเลขผู้โดยสารที่ลดลงดังกล่าวถือว่าไม่ผิดปกติอะไร เมื่อพิจารณาจากระยะเวลาของความนิยมในการเดินทางในช่วงฤดูร้อนซึ่งตรงกับช่วงการเปิดให้บริการของรถไฟสายดังกล่าวพอดี และความเห่อของผู้คนในช่วงแรกของการเปิดให้บริการ

“ปัญหาของระบบรถไฟในช่วงที่ผ่านมา ทำลายความเชื่อมั่นของผู้โดยสารอย่างแน่นอน และกระทรวงรถไฟจะต้องกอบกู้ชื่อเสียงของการให้บริการอีกครั้งหนึ่ง โดยปรับปรุงการบริหารงานและการฝึกฝนบุคลากร” ศ.หวังระบุ และว่าการกล่าวว่าประชาชนจะเลิกใช้บริการรถไฟความเร็วสูงนั้นก็เป็นการกล่าวที่เกินจริง เพราะรถไฟความเร็วสูงไม่เพียงเป็นการสร้างทางเลือกให้กับการเดินทางเท่านั้น แต่บริการดังกล่าวยังนำมาซึ่งการลงทุนและโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในพื้นที่รอบๆ ทางรถไฟด้วย

“การพัฒนาอย่างต่อเนื่องของทางรถไฟ จำเป็นต่อการเคลื่อนย้ายของประชากรจำนวนมหาศาลในจีน และเป้าหมายในการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว” ศ.หวังเสริม

ด้านหนังสือพิมพ์ก่วงโจวเดลี รายงานว่าบริการรถไฟความเร็วสูงระหว่างเมืองก่วงโจว-เซินเจิ้น ก็เตรียมเปิดให้บริการในช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้เช่นกัน โดยเส้นทางดังกล่าวจะขยายต่อไปถึงเกาะฮ่องกงภายในปี 2558 (ค.ศ. 2015) โดยการทดลองวิ่งในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รถไฟสามารถทำความเร็วได้สูงถึง 380 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
เส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายก่วงโจว-เซินเจิ้น-ฮ่องกง (สีแดง-สีน้ำเงิน) ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2558 (ค.ศ.2015) ส่วนเส้นสีดำคือเส้นทางรถไฟปัจจุบันที่ดำเนินการอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น