xs
xsm
sm
md
lg

เทียบศก. เมืองต่อเมือง เซี่ยงไฮ้สุดยอดของจีน ยังเป็นรอง อันดับ 8 ของสหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แผนภาพแสดงขนาดเศรษฐกิจเปรียบเทียบ 8 เมืองเศรษฐกิจระหว่างจีน กับ สหรัฐฯ (ภาพ ไชน่าไซน์โพสต์)
เอเยนซี - สื่อต่างประเทศ รายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจจีนของ ไชน่าไซน์โพสต์ China SignPost™ (洞察中国) เทียบขนาดเศรษฐกิจของเมืองชั้นนำทั้ง 8 ของจีน ว่ายังไม่ใหญ่เท่ากับ 8 เมืองเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

รายงานเผยว่า นครเซี่ยงไฮ้ซึ่งจัดว่าเป็นเมืองที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของจีน และเติบโตอย่างรวดเร็วก้าวสู่ความเป็นศูนย์กลางการเงินโลก ก็ยังมีขนาดเศรษฐกิจห่างตามหลังมหานครนิวยอร์ก เมืองที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดสหรัฐฯ มาก

รายงานวิเคราะห์ของ ไชน่าไซน์โพสต์ ซึ่งอ้างอิงตัวเลขจีดีพี ในรูปตัวเงิน (Nominal GDP) ในปี 2552 ยังประกบคู่เมืองเศรษฐกิจของสองประเทศ โดยพบว่า มูลค่าเศรษฐกิจของเซี่ยงไฮ้ในปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ 2.21 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ นั้นเทียบเคียงได้กับ เมืองซีแอตเติล ของสหรัฐฯ แต่ยังต่ำกว่า นครซานฟรานซิสโก เมืองเศรษฐกิจอันดับ 8 ของสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่าเศรษฐกิจอยู่ที่ 3.29 แสนล้านดอลลาร์ และยิ่งห่างไกลจากนิวยอร์ก ซึ่งมีมูลค่าเศรษฐกิจที่ 1.217 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่กรุงปักกิ่ง เมืองเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของจีน ก็มีขนาดจีดีพีฯ พอๆ กับเมืองฟินิกซ์

สำหรับเมืองเศรษฐกิจของจีนที่อยู่ในรายการวิเคราะห์นี้ มี ชิงเต่า, หังโจว, ฉงชิ่ง, เทียนจิน, เซินเจิ้น, ก่วงโจว, ปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้

ด้านเมืองเศรษฐกิจของสหรัฐฯ นั้น มี ซานฟรานซิสโก, ฟิลาเดลเฟีย, ดัลลัส, ฮุสตัน, วอชิงตัน ดี.ซี., ชิคาโก, ลอสแอนเจลิส และนิวยอร์ก

เมื่อพิจารณาตามข้อมูลของไอเอ็มเอฟ ด้านตัวเลขอำนาจการซื้อของแต่ละเมือง ในปี 2552 ซึ่งนครเซี่ยงไฮ้อยู่ที่ 400,000 ล้านดอลลาร์ ก็จะมีขนาดพอๆ กับตัวเลขฯ ของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยมากกว่าเมืองดัลลัส และฮุสตัน

ข้อมูลวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างจีน-สหรัฐฯ นั้นยังอยู่ที่ ความแตกต่างระหว่างเมือง - ชนบท โดยเศรษฐกิจความมั่งคั่งส่วนใหญ่ของจีนยังกระจุกอยู่ในเมืองใหญ่ ขณะที่ในสหรํฐฯ เศรษฐกิจของเมืองและชนบทจะไม่แตกต่างกันมาก มิหนำซ้ำเมืองชนบทเหล่านั้น ยังสร้างเศรษฐกิจได้อย่างน่าทึ่ง จากฐานผลิตทรัพยากรธรรมชาติท้องถิ่นที่มี อาทิ พลังงาน และเกษตรกรรม หรือการท่องเที่ยว

รายงานยังกล่าวว่า จีดีพีในรูปตัวเงิน (Nominal GDP) ในปี 2552 ของเมืองเศรษฐกิจทั้ง 8 ของจีนนี้มีสัดส่วนจีดีพีทั้งประเทศเท่ากับ ร้อยละ 21 ขณะที่เมืองเศรษฐกิจทั้ง 8 ของสหรํฐฯ นั้น มีสัดส่วนรวมกันอยู่ที่เกือบร้อยละ 30

ข้อมูลนี้เผยให้เห็น ความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจในชนบทของจีน โดยกล่าวว่ากำลังการผลิตและบริโภคในภาคชนบท จะดึงดูดเงินทุนต่างประเทศอย่างมาก

แม็คคินซี โกลบอล คาดว่าเมืองใหญ่ๆ ของจีนเหล่านี้ จะขึ้นไปติดอันดับเมืองชั้นนำของโลก จาก 65 ประเทศ และระหว่างปี 2550 ถึง 2568 เมืองต่างๆ ของจีน 225 เมือง จะครองสัดส่วนจีดีพีฯ โลกไว้ถึงร้อยละ 30
แผนภูมิแสดงตำแหน่งเมืองเศรษฐกิจทั้ง 8 ของจีน เปรียบเทียบกับเมืองเศรษฐกิจของสหรัฐฯ (ภาพ ไชน่าไซน์โพสต์)
สำหรับการจัดประกบเมืองเศรษฐกิจของจีน กับสหรัฐฯ ของไชน่าไซน์โพสต์ ในรายงาน มีดังนี้ 1. เซี่ยงไฮ้ (ซีแอตเติล) 2. ปักกิ่ง (ฟีนิกซ์) 3. ก่วงโจว (บัลติมอร์) 4. เซินเจิ้น (พอร์ตแลนด์) 5. เทียนจิน (พิตส์เบิร์ก) 6. ฉงชิ่ง (ซินซินเนติ) 7. หังโจว (แนชวิลล์) 8. ชิงเต่า (นิวออร์ลีนส์)

แม็คคินซี มองว่า จีนไม่มีปัญหาในการพัฒนาความเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่การเติบโตแบบไม่สมดุลต่างหาก เพราะจีนต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากการโตเกินตัวนั้นอาจทำให้ไม่สามารถควบคุมความเสี่ยงต่างๆ อาทิ สถานการณ์เงินเฟ้อ สภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ปัญหาสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างเมืองต่างๆ ประสิทธิภาพของภาคการเงินการธนาคารก็เป็นปัจจัยสำคัญ ขณะที่โครงสร้างทุนยังอ่อนแออ่อนไหว ขณะที่หนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่นที่สูงขึ้นไปถึง 1.6 ล้านล้านดอลลาร์ ก็เป็นตัวเลขที่น่าวิตก

รายงานเผยว่า ทางการจีนไม่ได้นิ่งดูดายกับปัญหาเหล่านี้ โดยพบว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาได้วางนโยบาย และออกชุดมาตรการต่างๆ เพื่อคุมสมดุลเศรษฐกิจพร้อมๆ ไปกับการมุ่งเน้นที่การเติบโตในระยะยาว โดยพิจารณาด้านโอกาสทางเศรษฐกิจที่ว่า จีนยังเป็นชาติซึ่งมีแนวโน้ม ที่จะยังสามารถขยายอำนาจการผลิตและบริโภคได้อีกมากมายกว่าชาติใดๆ ในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น