xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นอนาคตโรงงานจีนล้มละลายระเนระนาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - สืบเนื่องจากเหตุล้มละลายของ 2 บริษัทในตงกวน มณฑลก่วงตง ศูนย์กลางการผลิตแห่งสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียง (ไข่มุก) ได้ก่อให้เกิดกระแสปริวิตกว่า “แม้แต่บริษัทใหญ่ยังมิอาจแบกภาระต้นทุนที่สูงลิบและปัญหาแรงงานขาดแคลนได้ แล้วบริษัทเล็กจะเหลืออะไร”

สำนักข่าวซินหวาของจีนรายงานวานนี้ (20 ก.ค.) ว่า บริษัทของเล่นตงกวนซู่อี้ หนึ่งในบริษัทของเล่นที่เก่าแก่สุดในตงกวน ล้มละลายไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แถมเป็นหนี้ยังไม่จ่ายเงินเดือนเดือนมิ.ย.และครึ่งเดือนแรกเดือนก.ค.กับคนงาน 470 คน ในวันอังคารที่ผ่านมา (19 ก.ค.) แรงงานกว่า 200 คนรวมตัวหน้าประตูสำนักงานรัฐบาลท้องถิ่นประท้วงเรียกร้องค่าแรง

นอกจากนั้น บริษัทสิ่งทอติ้งจย่า ที่มีคนงานกว่า 2,000 คน ก็ต้องปิดตัวลงในกลางเดือนที่ผ่านมาด้วย

ก่วงโจวเดลีรายงานว่า บรรดาคนงานโรงงานอื่น ๆ ในตงกวนกำลังประสบสภาวะปัญหาคล้ายกัน สำนักข่าวตงกวน นิวส์ ฮ็อตไลน์ เผยรายละเอียดเกี่ยวกับการล้มละลายและแรงงานประท้วงเกียวกับการจ่ายค่าจ้างล่าช้า ว่ากำลังเป็นปัญหาใหญ่ขณะนี้ ทั้งนี้บริษัทเกือบทั้งหมดที่ต้องปิดตัวลงเป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก

สื่อจีนแผ่นดินใหญ่เตือนว่า การล้มละลายของบริษัทผู้ผลิตขนาดใหญ่อย่างซู่อี้เป็นสัญญาณว่า บริษัทและโรงงานอื่น ๆ กำลังประสบภาวะยากลำบากยิ่งกว่าช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโลกเมื่อปี 2551 เสียด้วยซ้ำ ซึ่งในตอนนั้นบริษัทผู้ผลิตทั้งหลายพากันล้มหายตายจากไปจำนวนมาก

ซินหวายกคำกล่าวของไช่ คัง เจ้าหน้าที่ด้านการค้าระหว่างประเทศในตงกวนว่า ออร์เดอร์สั่งผลิตลดลง 15 เปอร์เซ็นต์ขณะที่ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นถึง 11.4 เปอร์เซ็นต์ ทำให้กำไรหน่วยสุดท้ายตกลงมาถึง 2-3 เปอร์เซ็นต์

เฉิน เย่าหวา ผู้อำนวยการสมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอประจำเมือง ชี้ว่า บริษัทสิ่งทอในตงกวนร้อยละ 10 อยู่ในภาวะกดดัน เนื่องจากการกู้เงินเป็นไปได้ยากขึ้น ต้นทุนด้านวัตถุดิบและแรงงานก็เพิ่มขึ้น แถมเงินหยวนค่อย ๆ ปรับแข็งค่าขึ้นอีก

ซู่อี้ บริษัทของเล่นของเกาหลีใต้ ได้ทำการผลิตชิ้นส่วนของเล่นมาตั้งแต่ปี 2535 และครั้งหนึ่งเคยมีคนงานถึง 2,000 คน ยังมิวายต้องล้มละลาย

หลิว มู่หลิง รองผู้อำนวยการสมาคมผู้ประกอบการสตรีแห่งตงกวน เผยว่า บรรดาผู้ประกอบการรายย่อย เอสเอ็มอีขนาดกลางและขนาดย่อมไม่เพียงแต่ต้องปิดตัวลง แต่ยังต้องย้ายฐานการผลิตเข้าไปตอนในของจีน เพื่อหาแรงงานราคาถูก

เธอชี้ว่า “บริษัทหลายแห่งไม่สามารถอยู่รอดได้เพราะพวกเขามีแรงงานไม่เพียงพอ และหากใครต้องการมีแรงงานมากก็ไม่มีปัญญาจ่ายค่าจ้างอยู่ดี”

“หากเทียบกับแรงงานราคาถูกในอดีตแล้ว ขณะนี้ผู้ประกอบการต้องจ่ายเงินค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น 5 เท่า สำหรับแรงงานที่ทำงานวันละ 8 ชม.หรือมากกว่า กอปรกับต้องจ่ายค่าประกันสังคมให้แรงงานด้วย” เธอย้ำ

กำไรหน่วยสุดท้ายระหว่างร้อยละ 8-10 ก็ถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับเอสเอ็มอี แต่กำไรนี้กลับค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ เมื่อต้นทุนการผลิตสูงตามราคาแรงงานและวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นเพื่อพยุงให้ผู้ประกอบการอยู่รอด จึงต้องเปลี่ยนรูปแบบจากเน้นแรงงานเข้มข้นมาเป็นการผลิตเน้นเทคโนโลยีมากขึ้น ตามที่รัฐบาลกลางเรียกร้อง

ตู ต้าเต๋อ คนงานอาวุโสของโรงงานเฟอร์นิเจอร์ที่ล้มละลายไปแล้ว ได้เงินย้อนหลังกว่า 20,000 หยวน ให้สัมภาษณ์กับก่วงโจว เดลี ว่า “กำไรหน่วยสุดท้ายลดลงถึง 10 เปอร์เซ็นต์ หากขณะนั้นหัวหน้างานจัดการธุรกิจไม่ดีแล้ว ปัญหาจะต้องมากขึ้นกว่านี้แน่นอน”

เฉิน ไน่ซิง นักวิจัยประจำสถาบันเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมสำนักสังคมศาสตร์จีน ชี้ว่า อัตราการล้มละลายโดยทั่วไปเกิดจาแรงกดดันด้านการแข่งขันซึ่งก็จะอยู่ที่ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ แต่บรรดาเอสเอ็มอีในตงกวนกำลังล้มละลายจากเหตุผลอื่น อันได้แก่ แรงงานขาดแคลน ไม่มีทุนเพียงพอเนื่องจากรัฐมีนโยบายคุมเข้มการปล่อยเงินกู้ฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น