xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตและแรงคับแค้นของคนงาน เบื้องหลังจลาจลในซินถัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แรงงานอพยพในเทศบาลตำบลซินถัง ชานเมืองก่วงโจว กลับมาดำเนินชีวิตตามปกติหลังเกิดเหตุจลาจลต่อเนื่อง 4 วันเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (ภาพเซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์)
เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ - เหตุจลาจลที่เกิดขึ้นในซินถัง ชานเมืองก่วงโจว(กวางเจา) เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้จะสงบลงแล้วแต่ปมในใจของเหล่าแรงงานอพยพยังฝังลึกยากแก่การลบเลือน

หลังจากเกิดเหตุจลาจลต่อเนื่อง 4 วัน บัดนี้ความสงบได้กลับมาสู่ซินถัง ซึ่งครั้งหนึ่งได้ชื่อว่าเป็น “แหล่งผลิตยีนส์ของโลก” ผลิตกางเกงยีนส์ปีละมากกว่า 200 ล้านตัว โดยคนงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานอพยพจากเขตต่างๆ อาทิ มณฑลซื่อชวน(เสฉวน) มณฑลหูเป่ย เป็นต้น

ซินถังมีฐานะเป็นเทศบาลตำบลในเมืองเจิงเฉิง ซึ่งเป็นเมืองบริวารของก่วงตงศูนย์กลางสามเหลี่ยมเศรษฐกิจลุ่มน้ำจูเจียง (หรือแม่น้ำไข่มุก)ในมณฑลกว่งตง (กวางตุ้ง) ผลิตยีนส์แบรนด์ต่างชาติ 60 แบรนด์ โดยคิดเป็นครึ่งหนึ่งของยีนส์ 450 ล้านตัวที่ขายในสหรัฐฯต่อปี สำหรับแรงงานหนุ่มสาวที่ขยันทำงานล่วงเวลาในโรงงานตัดเย็บและย้อมสียีนส์ จะมีรายได้เดือนละถึง 3,000 หยวน(ราว 14,000 บาท)

แรงงานจากซื่อชวนเริ่มไหลทะลักเข้ามายังซินถัง ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1990(2533) เนื่องจากการผลิตกางเกงยีนส์ต้องการแรงงานจำนวนมาก จึงเป็นการสร้างโอกาสทางอาชีพแก่กลุ่มแรงงานทักษะต่ำจากพื้นที่ด้อยพัฒนาในส่วนอื่นๆของจีน

หมู่บ้านต้าตุนซึ่งเป็นแหล่งผลิตยีนส์หลักแห่งหนึ่งในซินถัง มีชาวท้องถิ่นอยู่อาศัย 7,000 คน และมีแรงงานอพยพมากกว่า 60,000 คน

ชายอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย วัย 65 ปี เผยว่า “ผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้านต้าตุนเป็นแรงงานอพยพที่มาจากมณฑลซื่อชวน 60 เปอร์เซ็นต์ และมาจากมณฑลหูเป่ย อีก 30 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นเป็นคนท้องถิ่นก่วงตง"

"หมู่บ้านต้าตุนเป็นสถานที่โอบอุ้มแรงงานทุกประเภท ยกเว้นคนตาบอด ทุกๆคนสามารถหางานได้ที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นคนแก่ หูหนวก ใบ้เบี้ย หรือแขนด้วน ที่นี่มีที่ว่างสำหรับทุกคนที่ต้องการตัดเย็บกางเกงยีนส์”
กลุ่มผู้ประท้วงนับร้อยรวมตัวอยู่บนถนนในเทศบาลตำบลซินถัง ชานเมืองก่วงโจว เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.2554 (ภาพเอเอฟพี)
ปมฝังใจกับเหตุน้ำผึ้งหยดเดียว สู่การจลาจล
เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้วแรงงานอพยพที่ส่วนใหญ่เป็นชาวซื่อชวน ได้ก่อเหตุจลาจลครั้งรุนแรงสุดในมณฑลก่วงตงในรอบหลายปีผ่านมา ทำลายทรัพย์สินสาธารณะรวมทั้งยานพาหนะตามท้องถนนและสำนักงานรัฐบาลท้องถิ่นจนพังยับเยิน

สำหรับการก่อจลาจลในครั้งนี้ โดยหลักมาจากความคับแค้นใจของเหล่าแรงงานอพยพชาวซื่อชวน เนื่องจากมักถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในหมู่บ้านต้าตุน กดขี่ข่มเหงอยู่เป็นประจำ

หญิงต้าโจว มณฑลซื่อชวน วัย 52 ปี ซึ่งย้ายมาอยู่ที่หมู่บ้านต้าตุนตั้งแต่ปี 2540 เล่าว่า “ฉันเริ่มชินชากับการทำร้ายร่างกายที่เกิดขึ้นที่นี่ทุกวัน ตอนแรกฉันรู้สึกกลัวมากเมื่อเห็นแรงงานอพยพบางคนถูกทุบตีจนปางตาย”

ชายชาวหูเป่ย ซึ่งย้ายมาที่หมู่บ้านต้าตุนเพื่อช่วยกิจการยีนส์ของลูกชาย เผยว่า “เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของหมู่บ้านฯไม่ค่อยใส่ใจคนภายนอก แรงงานอพยพและเกษตรกรที่ย้ายมาอยู่ที่นี่และไม่รู้กฎหรือข้อกำหนด พอละเมิดกฎเพียงข้อหรือสองข้อ ก็จะถูกทุบตีทำร้ายร่างกาย มันเกินกว่าเหตุจริงๆ เราทุกคนเพียงพยายามมีชีวิตอยู่ที่นี่อย่างสงบ”

“พวกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยโหดเหี้ยมและป่าเถื่อนมาตั้งนานแล้ว ไม่มีใครสามารถควบคุมพวกเขาได้”

ขณะที่เหตุวิวาทะที่เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์(10 มิ.ย.) เป็นเสมือนน้ำผึ้งหยดเดียวที่จุดชนวนการจลาจลในครั้งนี้ เมื่อนางหวัง เหลียนเหม่ย หญิงท้องแก่วัย 20 ปี และนายถัง เสวียไช่ วัย 28 ปี คู่สามี-ภรรยาชาวซื่อชวน ได้มีปากเสียงกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของหมู่บ้านฯ ซึ่งกล่าวหาว่าทั้งคู่มาหาบเร่ขายของบนท้องถนนอย่างผิดกฎหมาย จนคู่กรณีได้ปะทะกัน และนางหวังถูกผลักล้มลงบนถนน
รถตำรวจและยานพาหนะที่จอดอยู่บนถนนในเทศบาลตำบลซินถัง เมืองเจิงเฉิง มณฑลก่วงตง ถูกกลุ่มผู้ประท้วงทำลายยยับ (ภาพเอเอฟพี)
ในตอนนั้นมีรถตำรวจหลายคันและรถฉุกเฉินเข้ามายังที่เกิดเหตุ และขณะที่นางหวังกำลังถูกส่งตัวไปโรงพยาบาล กลุ่มคนมากกว่า 100 คน ได้เข้ามากีดกันไม่ให้ส่งนางหวังไปโรงพยาบาล ขณะที่บางคนได้ขว้างขวด ก้อนหินและอิฐใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ

ชายซื่อชวน วัย 45 ปี ผู้ชำนาญการเย็บกระดุมยีนส์ เล่าว่า “เท่าที่ผมได้ยินมา เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่เป็นคู่กรณีกับคู่สามี-ภรรยาดังกล่าว ได้เรียกเงินจากนางหวัง แต่นางหวังให้เงินไปเพียง 20 หยวน จึงถูกทุบตี ขณะเดียวกันชายหนุ่มอายุราว 16-17 ปี ที่เดินผ่านไปในตอนเกิดเหตุและพยายามเข้าไปห้าม ก็ถูกเจ้าหน้าที่ฯซ้อมเสียน่วม”

ในวันถัดมา(11 มิ.ย.) เหตุการณ์ยิ่งบานปลายขึ้น เมื่อมีมือดีปล่อยข่าวลือออกมาว่านางหวังถูกทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บอย่างหนัก และนายถังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจปลิดชีพ ยิ่งโหมไฟแค้นที่ครุกรุ่นในจิตใจของเหล่าแรงงานอพยพชาวซื่อชวน

ล่าสุดสำนักพิทักษ์สันติราษฎร์ในเมืองก่วงโจว ได้ประกาศ(16 มิ.ย.)ว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมชายแซ่เฉิน มือดีปล่อยข่าวลือบิดเบือนความจริง โดยนายเฉินได้ยอมรับสารภาพแล้ว

ก่วงโจว เดลี รายงานว่า ในเดือนมิ.ย.2550 เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเคยเรียกเก็บเงินค่าออกใบอนุญาตขับขี่มอเตอร์ไซค์ในหมู่บ้านฯ 50 หยวน หากใครไม่มีใบอนญาตจะถูกปรับ 200 หยวน

นอกจากจะเผชิญปัญหากีดกันในสังคมแล้ว แรงงานอพยพในซินถัง ซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอน ยังจำต้องต่อสู้ดิ้นรนท่ามกลางสภาวะเงินเฟ้ออันส่งผลต่อการดำรงชีวิตในแต่ละวัน

แม้ว่าเหตุจลาจลในซินถังจะสงบลง ร่องรอยความเสียหายที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวอาจบูรณะซ่อมแซมใหม่ได้ แต่รอยแผลในใจของเหล่าแรงงานอพยพที่ฝังรากลึกมานานคงไม่จางหายไปง่ายๆ และยังเป็นเสมือนกองไฟที่อาจปะทุขึ้นได้ทุกเมื่อ
ภาพเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเดินขบวนลาดตระเวนในเทศบาลตำบลซินถัง เมืองเจิงเฉิง ชานเมืองก่วงโจว เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. (ภาพเซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์)
กำลังโหลดความคิดเห็น