เอเอฟพี - ศาลจีนตัดสินประหารชีวิตคนขับรถยกบริษัทเหมืองถ่านหิน จากกรณีเจตนาขับรถชนชาวมองโกล ผู้ร่วมประท้วงต่อต้านการทำเหมืองถ่านหินในเขตปกครองตนเองมองโลกเลียใน จนถึงแก่ชีวิต
สำนักข่าวซินหวารายงาน(21 มิ.ย.)ว่า ศาลประชาชนชั้นกลางเมืองซีหลินเฮ่าเท่อ(Xilinhot) เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ได้ตัดสินประหารชีวิตนายซุน ซู่หนิง คนขับรถยกของบริษัทอุตสาหกรรมเหมืองแร่อาปากาฉี ฐานเจตนาขับรถชนนายเหยียน เหวินหลง ซึ่งเป็นชาวมองโกล จนเสียชีวิต ระหว่างเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงต่อต้านการทำเหมืองถ่านหินในท้องถิ่นดังกล่าว เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา
สำนักข่าวซินหวาอ้างคำกล่าวของศาลฯว่า “การกระทำของนายซุน โหดเหี้ยมและร้ายแรงอย่างมาก ศาลฯจึงตัดสินโทษสถานหนัก”
รายงานข่าวระบุ เมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา เกิดเหตุกลุ่มชนชาติมองโกล ได้แก่ นาย Mergen และคนอื่นๆ ได้ชุมนุมต่อต้านการทำเหมืองแร่ใกล้หมู่บ้านตนและได้ขวางขบวนรถบรรทุกถ่านหินของนายหลี่ หลินตง คนขับรถบรรทุกถ่านหินชาวจีนฮั่น แต่นายหลี่กลับตัดสินใจเหยียบคันเร่งปลิดชีพนาย Mergen อย่างไร้ความปราณี และเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้จุดชนวนการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่สุดรอบ 20 ปี ในเขตปกครองตนเองมองโลกเลียใน
ศาลประชาชนชั้นกลางเมืองซีหลินเฮ่าเท่อได้ตัดสินประหารชีวิตนายหลี่ หลินตง จากกรณีเจตนาขับรถฯพุ่งชนนาย Mergen จนเสียชีวิต ขณะที่นายหลู เสียงต้ง ซึ่งนั่งมาในรถคันเดียวกัน ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต โดยศาลได้ระบุความผิดจำเลยทั้งสองสังหารโดยเจตนา
ขณะที่ชายจีนอีก 2 คน ได้แก่ นายอู๋ เสี่ยวเว่ย และนายหลี่ หมิงกัง ซึ่งช่วยนายหลี่และนายหลูหลบหนีจากที่เกิดเหตุ(10 พ.ค.) ถูกศาลตัดสินจำคุก 3 ปี ในข้อหามีความผิดฐานขัดขวางกระบวนการยุติธรรม
ทั้งนี้ ชนเชื้อสายมองโกลในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ซึ่งมีวัฒนธรรมและภาษาที่ผูกพันกับสาธารณรัฐมองโกเลีย มองว่า พวกตนถูกชาวจีนฮั่นกดขี่ข่มเหงทั้งด้านการเมืองและวัฒนธรรม ตลอดจนถูกรุกล้ำทุ่งนาเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นวิถีการดำรงชีวิตตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่อดีต เพื่อให้ชนเชื้อสายฮั่น ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในจีน เข้ามาทำเหมืองแร่และขุดเจาะแหล่งพลังงาน
อย่างไรก็ตามเมื่อช่วงกลางเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ในการประชุมคณะมุขมนตรีจีนโดยมีนายเวิน จยาเป่า นายกรัฐมนตรีจีนเป็นประธาน ได้หารือถึงการแก้ปัญหาที่เป็นสาเหตุของการชุมนุมประท้วงในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน โดยได้ข้อสรุปว่ารัฐบาลจะดำเนินนโยบายยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวมองโกลในพื้นที่ดังกล่าว พัฒนาระบบประกันสังคม ส่งเสริมการจ้างงาน เร่งพัฒนาด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล การกีฬาและวัฒนธรรม อีกทั้งพัฒนาบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นภายในปี 2558 และจะส่งเสริมการอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้และระบบนิเวศให้มีความสมดุลภายในปี 2563