xs
xsm
sm
md
lg

หลุยส์ วิตตองฉลอง 20 ปีในจีน จัดงานใหญ่ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แพทริก-หลุยส์ วิตตอง, อีฟ คาร์แซล ซีอีโอของหลุยส์ วิตตอง, เฉิน หลู่เซิง ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ปักกิ่ง, กงลี่ ดาราภาพยนตร์จีน และคริสโตเฟอร์ ซานาร์ดี-ลันดี ประธานหลุยส์วิตตองประจำจีน ขณะตัดริบบิ้นเปิดงานนิทรรศการ Louis Vuitton Voyages การเดินทางของหลุยส์วิตตอง ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ กรุงปักกิ่ง วันที่ 1 มิ.ย.(ภาพเอเยนซี)
หลังจากที่หลุยส์ วิตตอง ได้ร่วมจัดนิทรรศ​การ​แสดงประวัติศาสตร์ ​​การ​เดินทางอันยาวนาน​ในอดีต ของหลุยส์ วิตตอง ที่ห้างสรรพสินค้า​เซี่ยง​ไฮ้ พลาซ่า 66 ​เพื่อ​เฉลิมฉลองงานมหกรรม​แสดงสินค้า​โลก ​ในงาน​เซี่ยง​ไฮ้ ​เอ็กซ​์โป 2010 สาธารณรัฐประชาชนจีน ปีที่แล้ว ซึ่งสร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ผู้เข้าชม ด้วยนวัตกรรมการแสดงนิทรรศการสมัยใหม่

ล่าสุดปีนี้ หลุยส์ วิตตอง ซึ่งเข้ามาเปิดร้านฯ ขายในจีนครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2535 ได้ตอกหลักหมายการตลาดครั้งสำคัญอีกครั้ง เมื่อได้รับอนุญาตจากทางการจีน ให้เปิดแสดงนิทรรศการฉลอง 20 ปี ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติจีน ในกรุงปักกิ่ง ด้วยชุดนิทรรศการ "The Louis Vuitton Voyages " หรือการเดินทางของหลุยส์ วิตตอง โดยงานนี้จะมีตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน - 30 สิงหาคม ปีนี้ นับเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่แบรนด์สินค้าหรูได้รับจากจีน ประเทศซึ่งมีอารยธรรมยิ่งใหญ่ยาวนาน และสิ่งที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ ล้วนพิสูจน์ความล้ำค่าผ่านกาลเวลา


คลิปวิดีโอ โหมโรง "นิทรรศการการเดินทางของหลุยส์ วิตตอง"
ห้องนิทรรศการที่ออกแบบเป็นบอลลูนเดินทางสไตล์อาร์ตเดคโค (Art Deco) สไตล์เอกลักษณ์ของแบรนด์หลุยส์ วิตตอง(ภาพเอเยนซี)
นอกจากนี้ ยังเป็นการประกาศทางอ้อมว่า หลุยส์วิตตอง แบรนด์สินค้าหรูนี้ ได้ครองใจตลาดจีนแล้วอย่างที่สุด โดยบรรดานักวิเคราะห์ กล่าวว่า การแสดงนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นหัวใจของวัฒนธรรมในแผ่นดินมังกรได้ ย่อมนับว่า หลุยส์ วิตตองนี้ ครองตลาดจีนได้อย่างเบ็ดเสร็จแล้ว โดยข้อมูลพบว่า ลูกค้าของหลุยส์ มีตั้งแต่คนฐานะปานกลางไปจนถึงมหาเศรษฐีทีเดียว

งานนี้ ยังสะท้อนแนวโน้มการตลาดของสินค้าหรูหรา ที่ใช้ประโยชน์จากสถานที่อย่างพิพิธภัณฑ์ อาร์ทแกลเลอรี่ และเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ ในการจัดกิจกรรมโปรโมทสินค้า และสร้างแบรนด์ของตน โดยเชื่อมเข้ากับค่านิยมทางศิลปะวัฒนธรรมสมัยใหม่ได้อย่างแนบเนียน อีกทั้งมีแรงดึงดูดใจกลุ่มผู้บริโภคสูง ซึ่งหลุยส์ วิตตอง ขนกระเป๋าเดินทางและกระเป๋าถือในคอลเลคชั่นตั้งแต่ยุคแรก ปีพ.ศ. 2403 จนถึงปัจจุบัน หลายร้อยใบมาแสดงทีเดียว

นอกจากหลุยส์ฯ เมื่อต้นปีนี้ ดีไซเนอร์ชาวอเมริกัน ไดแอน ฟอน เฟอร์สเตนเบิร์ก (Diane von Furstenberg) ยังได้ เปิดแสดงงานออกแบบของตน ชื่อ "การเดินทางของเครื่องแต่งกาย" ที่ 798 art district ในกรุงปักกิ่ง

แซม มุลลิแกน ผู้อำนวยการฯ Data Driven Marketing Asia ในเซี่ยงไฮ้ พูดถึงงานแสดงนิทรรศการฯ ของหลุยส์ วิตตองในปีนี้ว่า "เป็นการตลาดที่ฉลาดแหลมคมมาก เพราะความยิ่งใหญ่ของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติจีนนี้ จะยกระดับสินค้าของหลุยส์ให้ดูมีเรื่องราว และกลายเป็นวัตถุล้ำค่าโดยปริยาย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของตลาดสินค้าประเภทนี้"

เช่นเดียวกับ ณอนน์ ไรน์ ผู้อำนวยการฯ China Market Research Group ซึ่งบอกว่า "ลูกค้าของหลุยส์ วิตตอง หลงใหลในเรื่องราวอันประหนึ่งมรดกล้ำค่าที่ผ่านกาลเวลา และผมคิดว่า นี่แหล่ะคือความฉลาดในการทำตลาดของ หลุยส์ วิตตอง ที่ประชาสัมพันธ์และนำเสนอเรื่องราวของตน ผ่านพิพิธภัณฑ์ฯ"

พีเพิลเดลีย์ สื่อของทางการจีนยกคำกล่าวของ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติฯ เฉิน หลู่เซิง ที่ระบุถึงพิพิธภัณฑ์แห่งชาติจีนนี้ ที่บริเวณจตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่อได้รับการตกแต่งใหม่ครั้งล่าสุด ว่าเพื่อจรรโลงวัฒนธรรม และสร้างแรงบันดาลใจให้กับอุตสาหกรรมออกแบบภายในประเทศ" โดยวิจารณ์การอนุญาตให้จัดงานของหลุยส์ ในครั้งนี้ว่า "เป็นการค้า" มากเกินไป

พิเพิลเดลี่ แสดงความเห็นว่า พิพิธภัณฑ์ระดับชาตินี้ ควรส่งเสริมในการจัดงานฯ ที่เป็นหัวใจของวัฒนธรรม ขณะที่คนจีนรุ่นใหม่หลายๆ คนต่างชื่นชมยกนิ้วให้กับการจัดงานนี้

หวงเฉิน ผู้เข้าชมงานคนหนึ่งกล่าวว่า "ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า การมีกระเป๋าหลุยส์ สักใบก็เป็นความสุขความภูมิใจอย่างหนึ่ง และคนที่ได้ใช้จะรู้ว่า เป็นกระเป๋าที่ออกแบบมาดีมาก และการจัดนิทรรศการนี้ ให้ความรู้ และสร้างความรู้สึกผูกพันกับเรื่องราวของหลุยส์วิตตองทีเดียว"

หวง ซึ่งมาชมนิทรรศการกับลูกสาววัย 18 ปี ยังกล่าวว่า "คนรุ่นใหม่จะได้เข้าใจด้วยว่า ทำไมหลุยส์ วิตตอง ถึงเป็นแบรนด์ชั้นนำ"

ก่อนหน้านี้ งานสำรวจของไพรซ์ วอเตอร์เฮ้าส์ฯ คาดกันว่า ภายใน 5 ปี (พ.ศ.2558) จีนจะครองจ้าวตลาดสินค้าหรูหราทั้งหลาย ตั้งแต่ กระเป๋าถือ นาฬิกา รองเท้า และเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และก็คงไม่แปลกใจว่าทำไมคนจีนรุ่นใหม่ถึงชอบหลุยส์ วิตตอง เพราะย้อนดู ตลอด 20 ปี ของหลุยส์ในจีน สินค้าแบรนด์นี้ โตมาพร้อมกับฐานะของคนจีนรุ่นใหม่ ซึ่งก็เติบโตมาพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจอันร้อนแรงตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสร้างฐานะความมั่งคั่งใหม่ สร้างคนชั้นกลางรุ่นใหม่ๆ ให้สามารถออกไปจับจ่ายสินค้าหรูต่างประเทศ ในแต่ละปีมากกว่า 4,000 - 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และจับจ่ายในประเทศมากกว่า 2,000 ล้านเหรียญฯ

แต่สิ่งที่นักการตลาดฯ สนใจคือ หลังจากนี้ 5 ปี ในเวลาที่ผู้บริโภคจีนครองตลาดสินค้าหรู แบรนด์ใดจะอยู่ในใจคนจีนนั้น ยังมีความหลากหลายอยู่ โดย ณอนน์ ไรน์ ผู้อำนวยการฯ China Market Research Group ยังบอกว่า "ตอนนี้ หลุยส์ วิตตองอาจเป็นแบรนด์ในใจคนส่วนใหญ่ แต่หลังจากนี้ อีก 5 ปี อาจไม่ใช่ เพราะลูกค้าจะต้องมีการซื้อกระเป๋าใบที่สอง ที่สาม ซึ่งก็เป็นไปได้ว่ามีแบรนด์อื่นๆ หลากหลายให้เลือกมาก และจะมีที่ทางให้สินค้าจีนบ้างหรือไม่"
คอลเลคชั่นกระเป๋าถือ ส่วนหนึ่งของคอลเล็กชั่นต่างๆ ที่นำมาแสดงตั้งแต่คอลเลคชั่นแรกในปี พ.ศ. 2403 จนถึงปัจจุบัน




โปสเตอร์นิทรรศการฯ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 พ.ค. ไปจนถึง 30 ส.ค. (ภาพเอเยนซี)
กำลังโหลดความคิดเห็น