ไชน่าเดลี - แม้ว่าโครงการอาหารกลางวันที่ริเริ่มโดยชาวเน็ตจีนจะช่วยให้นักเรียนชนบทบางแห่งได้รับโภชนาการทางอาหารบ้างแล้ว แต่ใช่ว่าโรงเรียนทุกแห่งจะมีอาหารที่สะอาดและสารอาหารครบถ้วนให้กับนักเรียน
อี๋ว์ เจี้ยนทัว ผู้อำนวยการโครงการกองทุนพัฒนาและวิจัยของจีน ชี้ว่า “เรากำลังกัววลว่า โรงเรียนหลายแห่งมิอาจตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบที่ซื้อมาปรุงอาหารได้เอง ดังนั้นหากเกิดความเจ็บป่วยซึ่งมีเหตุมาจากอาหารที่รับประทานเข้าไป รัฐบาลก็ควรจะยุติโครงการอาหารกลางวันฟรี”
อี๋ว์แนะว่า “โครงการอาหารกลางวันฟรี หากจะดำเนินต่อไป ควรร่วมมือกับองค์กรให้คำปรึกษาด้านคุณภาพของภาครัฐอย่างใกล้ชิด ซึ่งองค์กรฯ จะมีความเชี่ยวชาญและเครื่องไม้เครื่องมือในการตรวจสอบคุณภาพอาหารได้”
นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญได้ตั้งคำถามว่า โครงการฯ ให้ประโยชน์แก่นักเรียนประถมฯ ในเขตชนบทเพียงเท่านั้นหรือ
จวง เว่ย เลขาธิการมูลนิธิฉือหงแห่งปักกิ่ง เห็นว่า “หากต้องการให้โครงการฯ ดำเนินต่อไป ควรยุบรวมโรงเรียนประถมฯ ในชนบทเข้าด้วยกัน เพื่อความสะดวกในการบริหารดูแล”
การลงทะเบียนเรียนของนักเรียนในชนบทลดน้อยลงนับแต่ทศวรรษ 1990 สืบเนื่องมาจากเหตุผล 2 ประการ ได้แก่ ชาวจีนชนบทจำนวนมากอพยพไปทำงานในพื้นที่เขตเมือง และนโยบายวางแผนครอบครัวทำให้จำนวนประชากรวัยเด็กลดลง
ทั้งนี้ เมื่อปี 2542 รัฐบาลจีนตัดสินใจเริ่มกระบวนการรวมศูนย์โรงเรียนประถมศึกษาระดับหมู่บ้านเข้าด้วยกัน โดยทางการเชื่อว่าการทำเช่นนี้จะช่วยให้ง่ายต่อการจัดสรรและแจกจ่ายทรัพยากร ตลอดจนการควบคุมมาตรฐานการสอน
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่บริหารโครงการอาหารกลางวันฟรีในโรงเรียนต่าง ๆ ให้สัมภาษณ์กับไชน่าเดลีว่า พวกเขาต้องการมากกว่าแค่อาหารกลางวันฟรี นักเรียนยังขาดอุปกรณ์การเรียนอื่น ๆ ที่จำเป็นอีกมาก
ฉี่ว์ ไคเว่ย หัวหน้าหมู่บ้านหงปั้นและผู้แทนโรงเรียนประถมศึกษาฯ ชี้ว่า “ครูอาจารย์ก็ไป ๆ มา ๆ ปีหนึ่งไม่ซ้ำกัน เพราะพวกเขาทนไม่ได้กับสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่เช่นนี้”
“ครูต้องอยู่ร่วมกัน 4 คนต่อ 1 ห้อง ครูที่ไหนจะทนได้ ซึ่งทางเราก็ต้องการครูมาก ศึกษาธิการอำเภอเชียนซีได้ตัดสินใจช่วยโรงเรียนสร้างหอพักให้ครูแล้ว แต่รัฐบาลท้องถิ่นก็ไม่สามารถหางบประมาณ มาสร้างหอพักครูได้ในทุกโรงเรียน”
ซ่ง เหวินเจิน ผู้อำนวยการด้านเด็กภายใต้คณะกรรมาธิการทำงานเพื่อเด็กและสตรีแห่งชาติ เผย “รัฐบาลจีนได้จ่ายเงินก้อนโตในการปรับปรุงคุณภาพอาหารให้กับนักเรียนประถมในระดับหมู่บ้าน โดยกำหนดงบฯ ไว้ที่ 50 หยวน ต่อเดือนสำหรับนักเรียนโรงเรียนประจำ”
“เราจะได้รับคำบอกเล่าว่า ภาวะขาดสารอาหารจะเกิดขึ้นไม่เฉพาะในกลุ่มนักเรียนในโรงเรียนประจำเท่านั้น แต่นักเรียนทั่วไปที่เดินทางไปกลับ ก็ขาดสารอาหารเหมือนกัน” ซ่งชี้
“ขณะนี้ รัฐบาลกำลังหาวิธีเพิ่มเงินสนับสนุนให้มากขึ้นอยู่”
ซ่ง ทิ้งท้ายว่า รัฐบาลกำลังให้ความสำคัญกับการสร้างโรงเรียนประจำให้มากขึ้นในแถบพื้นที่หุบเขาและพื้นที่ห่างไกล เพื่อลดปัญหาการเดินทางให้กับนักเรียนในเขตทุรกันดาร