xs
xsm
sm
md
lg

“บ้านกรง” คฤหาสน์ยามยากคนจรจัดฮ่องกง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้อยู่อาศัยในบ้านกรง ซึ่งเป็นการจัดที่อยู่อาศัยอีกรูปแบบหนึ่งให้กับคนไร้บ้านของทางการฮ่องกง - เอเจนซี่
เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ -นักวิจัยเกี่ยวกับคนจรจัดถึงกับอึ้ง เมื่อเห็นสภาพ“บ้านกรง” ในฮ่องกง ระบุเลวร้ายยิ่งกว่าการนอนข้างถนน

“ผมช็อกจริงๆ และประหลาดใจ เมื่อได้ไปเห็นบ้านกรง และการกั้นคอกสำหรับเป็นห้องนอนที่นี่ ช่างน่าตกใจ” นายเกอร์ฮาร์ด คอร์นาโตว์สกี้ นักวิจัยของมหาวิทยาลัยโอซาก้าซิตี้ระบุ

เขาพูดถึงการแบ่งพื้นที่นอนพักอาศัย ซึ่งกั้นด้วยกำแพงลวด สำหรับคนไร้บ้านในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ที่ได้ไปเห็นมา

นายคอร์นาโตว์สกี้ศึกษาเกี่ยวกับคนจรจัดในฮ่องกง ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีมานานสิบปีแล้ว โดยมีโอกาสไปฮ่องกงกว่า 10 ครั้งในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา
สภาพของบ้านกรง ซึ่งไร้ความเป็นส่วนตัว ไร้สุขอนามัย - เอเจนซี่
เขาเล่าว่าได้ลองให้นักศึกษาชาวอินเดีย ซึ่งศึกษาด้านการพัฒนาเมือง เข้าไปอยู่ในบ้านกรง

“เธอบอกว่านี่เป็นครั้งแรกที่เธอเคยเห็นสภาพที่อยู่อาศัย ที่เลวร้ายยิ่งกว่าสลัมในอินเดียเสียอีก ผมยอมรับไม่ได้อีกแล้วครับ … นอนบนถนนยังดีกว่านอนในบ้านกรง” นายคอร์นาโตว์สกี้กล่าว

“มันเหลือทน ไม่มีความเป็นส่วนตัวเลยสักนิด ทุกคนต้องอัดอยู่รวมกันในสถานที่แคบ ๆ สุขอนามัยแย่มาก ไม่มีหน้าต่าง ไม่มีเครื่องปรับอากาศ การระบายอากาศจึงไม่ดี ซึ่งเป็นผลเสียต่อสุขภาพของคนเรา”

ปัจจุบันมีชาวฮ่องกราว 1 แสนคนอาศัยอยู่ในบ้านกรง และห้องนอนกั้นคอกในเขตชัมสุ่ยโป (Sham Shui Po) , มงก๊ก (Mong Kok) , กุ๊นถอง (Kwun Tong), โต กวา วัน (To Kwa Wan) และหว่านไจ๋ (Wan Chai) จากข้อมูลของสมาคมเพื่อองค์การชุมชน

กระนั้นก็ตาม พื้นที่แออัดเหล่านี้ในแต่ละตารางฟุตก็จัดว่ามีราคาสูงทีเดียว โดยมีราคาสูงถึงตารางฟุตละ 93.30 ดอลลาร์ฮ่องกง ขณะที่ห้องชุดหรูหราขนาด 4 ห้องนอนในเขตสแตนลีย์ มีราคาตารางฟุตละ 72 ดอลลาร์ฮ่องกง

ที่ญี่ปุ่นนั้น ค่าเช่าต่อเดือนสำหรับบ้านอาคารสงเคราะห์ ซึ่งคนจนมีกำลังหาเช่าได้มากที่สุด และมีสภาพดีกว่าบ้านกรงมากนัก ต้องใช้เงินประมาณร้อยละ 25 จากเงินสวัสดิการ ที่ได้รับ ส่วนบ้านกรงในฮ่องกงต้องใช้เงินสวัสดิการถึงร้อยละ 40

นายคอร์นาโตว์สกี้บรรยายสภาพของบ้านกรงว่า “แทบไม่มีความเป็นมนุษย์” แต่ “ที่น่าปวดหัวมากที่สุดก็คือถ้าการจัดหาที่พักอาศัยสำหรับคนยากจนแบบนี้ถูกกำจัดไปเสียแล้ว คนเหล่านี้จะเป็นอยู่ที่ไหน” เขาตั้งคำถาม

เขายังเสนอว่า ทางการฮ่องกงควรกำหนดความหมายของคนไร้บ้านเสียใหม่ โดยนอกจากคนนอนข้างถนนแล้ว ควรครอบคลุมถึงพวกที่อาศัยในบ้านกรง

“จากนั้น ควรดำเนินการช่วยเหลือประชาชน ที่มีชีวิตไม่มั่นคงเหล่านี้ให้มากขึ้น”

บ้านอาคารสงเคราะห์คือทางออกของปัญหาในความคิดของนายคอร์นาโตว์สกี้ โดยปัจจุบัน ชาวฮ่องกงเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรทั้งหมดพักพิงในที่อยู่อาศัยประเภทนี้

อย่างไรก็ตาม นายคอร์นาโตว์สกี้ยอมรับว่า การที่ผู้อาศัยในบ้านกรง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนโดดเดี่ยว จะย้ายเข้าไปยังบ้านอาคารสงเคราะห์ได้นั้น เป็นเรื่องที่ยากมากทีเดียว

“ปัจจุบันมีราว 152,0008 ครอบครัว หรือ 320,000 คน ที่กำลังรอบ้านอาคารสงเคราะห์ โดยระยะเวลารอคอยสำหรับครอบครัวหนึ่งเฉลี่ย 3 ปี ส่วนผู้ยื่นขอรายเดียวจำนวน 63,400 ราย ต้องรอนานกว่า 10 ปี” เจ้าหน้าที่ของสมาคมเพื่อองค์การชุมชนระบุ

นายคอร์นาโตว์สกี้กล่าวว่า เขาต้องการเชื่อมช่องว่างระหว่างงานวิจัยภาคสนามกับการกำหนดนโยบายของรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือคนไร้ที่อยู่อาศัยในฮ่องกง โดยที่ญี่ปุ่นนั้น มีการแบ่งปันข้อมูลกันในเรื่องนี้ระหว่างมหาวิทยาลัย, ภาครัฐ และองค์กรนอกภาครัฐ เพื่อหาทางช่วยเหลือปรับปรุงชีวิตคนจรจัดให้ดีขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น