ไชน่า เดลี - กระทรวงสิ่งแวดล้อมจีน สั่งการระงับการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงสายเทียนจิน-ฉินหวงเต่า และสายชิงเต่า-จี่หนาน เนื่องจากละเมิดกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม
กระทรวงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจีนได้โพสต์ประกาศบนเว็บไซต์(18 พ.ค.) สั่งการระงับการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงสายเทียนจิน-ฉินหวงเต่า มณฑลเหอเป่ย เนื่องจากโครงการรถไฟดังกล่าว เปลี่ยนแปลงสถานที่ก่อสร้าง โดยไม่ได้ทำเรื่องขอทำการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม
ก่อนหน้าการประกาศครั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา ทางกระทรวงฯ ได้สั่งระงับการให้บริการรถไฟโดยสารเจียวจี้สายชิงเต่า-จี่หนาน เนื่องจากยังไม่ผ่านการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม
หนังสือพิมพ์ทเวนตี้เฟิร์ส เซ็นจูรี่ เฮอรัลด์ แห่งนครก่วงโจว(กวางเจา) อ้างคำกล่าวคนวงในว่า ในปี 2549 โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายชิงเต่า-จี่หนาน ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมมาธิการการพัฒนาและการปฏิรูปแห่งชาติจีน เพื่อขอทำการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมหลังจากก่อสร้างเสร็จ แต่ก่อนที่จะเปิดให้บริการ โครงการดังกล่าวต้องผ่านการประเมินฯเสียก่อน
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายชิงเต่า-จี่หนาน ก่อสร้างแล้วเสร็จ ในปี 2551 และได้เปิดให้บริการแล้ว แต่ยังไม่มีการส่งหนังสือขอทำการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่ บริษัทก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายดังกล่าว ได้โต้แย้งว่า ดำเนินมาตรการหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว และหากระงับการให้บริการรถไฟสายนี้ อาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและสังคม
ขณะที่ กระทรวงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจีน ได้เรียกร้องให้บริษัทก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายชิงเต่า-จี่หนาน ปฏิบัติตามกฎหมายฯ ก่อนสิ้นเดือนพ.ค.นี้ มิเช่นนั้น ทางกระทรวงฯจะยื่นฟ้องต่อศาลให้สั่งปิดเส้นทางรถไฟฯ
หม่า จวิน ผู้อำนวยการสถาบันกิจการสาธารณะและสิ่งแวดล้อม เชื่อว่า ประกาศของกระทรวงฯจะช่วยให้โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงของจีนดูสมเหตุสมผลมากขึ้น ทั้งยังแสดงให้เห็นว่า การประเมินด้านสิ่งแวดล้อม มีบทบาทที่สำคัญมากขึ้น
นายหม่า เผยว่า “แม้ว่า จีนได้เริ่มใช้ระบบการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมมาเป็นเวลา 30 ปี แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ผลเท่ากับชาติตะวันตก โครงการรถไฟฯหลายโครงการ เริ่มสร้างก่อนขอทำการประเมินฯ และการประเมินในบางโครงการก็ไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อม”
พร้อมกล่าวเสริมว่า “ชาติตะวันตก ทำประเมินด้านสิ่งแวดล้อม โดยเปิดให้กลุ่มบุคคลผู้เกี่ยวข้องเข้ามาหารือกัน และตัดสินโดยการใช้มติของเสียงส่วนใหญ่ แต่ในจีน มันเป็นกระบวนการเชิงเทคนิค ซึ่งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้สำรวจและประเมิน โดยผลการประเมินจะมีแนวโน้มเอนไปทางกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์ อาทิ รัฐบาลท้องถิ่น และบริษัทผู้รับเหมา ดังนั้นยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าระบบการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมในจีนจะได้ผล”