เพลง "ซื่อจี้เกอ(四季歌)" หรือ "บทเพลงสี่ฤดู" เดิมเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง "หม่าลู่เทียนสื่อ(马路天使)" หรือ "นางฟ้าข้างถนน" ปี 1937 ประพันธ์ทำนองโดย "เฮ่อ ลี่ว์ทิง(贺绿汀)" ประพันธ์เนื้อร้องโดย "เถียน ฮั่น(田汉)" ต้นฉบับร้องโดยนักร้องสาว "โจว เสวียน(周璇)" ผู้แสดงเป็นนางเอกในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว
เนิ้อหาของภาพยนตร์เป็นเรื่องราวความรักของ "เสี่ยวหง" สาวน้อยผู้อาภัพที่มีอาชีพร้องเพลงในร้านน้ำชาแห่งหนึ่งในเมืองเซี่ยงไฮ้ ซึ่งภาพยนตร์เรื่อง "หม่าลู่เทียนสื่อ" นี้ ได้รับการยกย่องจากวงการภาพยนตร์จีนให้เป็นหนึ่งในภาพยนตร์เกียรติยศในรอบ 90 ปีแห่งศตวรรษที่ 20 และเพลง "ซื่อจี้เกอ" ก็เป็นหนึ่งในเพลงที่ส่งให้ โจว เสวียน กลายเป็นนักร้องหญิงอมตะลำดับต้นๆ ที่แผ่นดินจีนมิอาจลืมเลือน
เกี่ยวกับชาติกำเนิดของนักร้องสาว โจว เสวียน นั้น แรกทีเดียวเป็นปริศนาลึกลับ โดยตัวเธอเองเคยกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า "ก่อนอายุ 6 ขวบฉันเป็นลูกสาวของบ้านไหนตัวฉันเองก็ไม่ทราบได้ และคงเป็นเรื่องที่ไม่มีวันทราบตลอดไป" อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เธอเสียชีวิตไปแล้วหลายปี จากการเปิดเผยข้อมูลของ "โจว เหว่ย(周伟)" บุตรชายคนเล็กของเธอที่ทำการสืบเสาะหาชาติกำเนิดของผู้เป็นมารดา ค่อยพบว่า โจว เสวียน เกิดที่เมืองฉังโจว มณฑลเจียงซู ในปี ค.ศ.1920 เดิมชื่อซูผู ต่อมาเมื่ออายุได้ 3 ขวบถูกญาติขโมยไปขายให้กับครอบครัวแซ่หวัง จากนั้นเปลื่ยนชื่อเป็น "หวัง เสี่ยวหง" ต่อมาเมื่อมารดาแซ่หวังแต่งงานใหม่ เธอจึงถูกส่งมาให้กับครอบครัวพ่อ-แม่บุญธรรมแซ่โจว และเปลื่ยนแซ่กลายเป็น "โจว เสี่ยวหง"
จากการบอกเล่ารำลึกอดีตของ โจว เสวียนเอง เมื่อเธออายุได้เพียง 7-8 ขวบ เกือบจะประสบเคราะห์กรรมครั้งใหญ่ เมื่อครอบครัวโจวฐานะยากจนลง ทำให้บิดาบุญธรรมซึ่งเสพฝิ่นจนล้มป่วยพาเธอไปขายให้กับซ่องโสเภณีเพื่อหวังแลกเงิน โชคยังดีที่มารดาบุญธรรมมาขัดขวางเอาไว้ได้ทัน แต่อย่างไรก็ตาม เธอก็ผ่านช่วงเวลาวัยเด็กนั้นมาอย่างอดๆ อยากๆ มีเพียงการร้องเพลงซึ่งเป็นพรสวรรค์ของเธอและเปรียบเสมือนสิ่งมีค่าชิ้นเดียวที่คอยปลอบประโลมจิตใจของโจว เสวียนให้มีชีวิตอยู่ต่อไป
ปี 1932 โชคชะตาพลิกผัน โจว เสวียน ได้มีโอกาสเข้าร่วมวงดนตรีของ "หลี จิ่นฮุย(黎锦晖)" นักแต่งเพลงชื่อดังแห่งยุค ผู้เปลี่ยนชื่อของเธอจาก โจว เสี่ยวหง เป็น โจว เสวียน เนื่องเพราะเขาประทับใจเสียงร้องของเธอที่ร้องวรรคหนึ่งในเพลงปลุกใจเพื่อต่อต้านทหารญี่ปุ่น ซึ่งในเนื้อร้องมีคำว่า "โจว เสวียน" อยู่ด้วย
โจว เสวียนเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในปี ค.ศ.1934 เมื่อเธอเข้าร่วมการประกวดร้องเพลง ที่จัดโดยความร่วมมือของสถานีวิทยุต่างๆ ในเซี่ยงไฮ้ และด้วยแก้วเสียงหวานใส ไพเราะเป็นเอกลักษณ์ของเธอ ทำให้บรรดาสถานีวิทยุเซี่ยงไฮ้ต่างให้คำจำกัดความเธอว่า "นักร้องเสียงทองคำ" ซึ่งขณะนั้นเธอมีอายุเพียง 14 ปี
ปี ค.ศ.1937 ยุคที่ภาพยนตร์เซี่ยงไฮ้กำลังเฟื่องฟู โจว เสวียนโด่งดังยิ่งขึ้นเมื่อ รับบท "เสี่ยวหง" ในภาพยนตร์เรื่อง "หม่าลู่เทียนสื่อ" ทั้งยังร้องเพลงประกอบ 2 เพลง ที่กลายเป็นเสมือนสัญลักษณ์ประจำตัวเธอ นั้นคือเพลง "ซื่อจี้เกอ" และ "เทียนหยาเกอหนี่ว์(天涯歌女)" ซึ่งภายหลัง ทั้งสองเพลงล้วนเป็นบทเพลงอมตะที่ถูกนำมาร้องซ้ำหลายต่อหลายฉบับจวบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน และถึงแม้ตลอดชีวิตการทำงานของโจว เสวียนจะแสดงภาพยนตร์มาแล้ว 43 เรื่อง และร้องเพลงมากกว่า 200 เพลง แต่ภาพยนตร์เรื่องหม่าลู่เทียนสื่อ ยังคงเป็นหนึ่งในใจของเธอ โดยในปี ค.ศ.1947 หนังสือ "แมกกาซีนภาพยนตร์(电影杂志)" แห่งเซียงไฮ้ เคยสัมภาษณ์ โจว เสวียน ว่าเธอพอใจในบทบาทการแสดงของตนในภาพยนตร์เรื่องใดมากที่สุด? ซึ่งเธอตอบว่า "ฉันคิดว่ายังไม่มีเรื่องไหนที่ฉันพอใจ แต่อย่างไรก็ตาม "หม่าลู่เทียนสื่อ" เป็นภาพยนตร์ที่ควรค่าให้ฉันระลึกถึงมากที่สุด เนื่องเพราะมิตรสหายของฉันล้วนชมชอบภาพยนตร์เรื่องนี้"
การประสบความสำเร็จในวิชาชีพตั้งแต่เยาว์วัย ทำให้โจว เสวียนกลายเป็นสาวน้อยที่เพียบพร้อมทั้งความสวย รวย และมีชื่อเสียง แต่อีกด้านหนึ่ง ชีวิตรักของเธอกลับพบแต่ความผิดหวัง โจว เสวียน แต่งงานครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1938 ขณะที่อายุได้เพียง 18 ปี กับ"เหยียน หวา(严华)" นักแสดงและนักแต่งเพลง แต่จากนั้นเพียง 2-3 ปีให้หลังทั้งคู่ก็หย่าร้างกันด้วยเหตุผลส่วนตัว ต่อมาเท่าที่ปรากฏข้อมูล เธอคบหาดูใจกับชายหนุ่มอีก 2-3 ราย แต่ล้วนต้องแยกทางกันในท้ายที่สุด โดยบางรายถูกมองว่าเข้ามาพัวพันกับเธอเพียงเพราะหวังปอกลอกชื่อเสียงเงินทองเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่คบหาดูใจกับคนรัก โจว เสวียนได้ให้กำเนิดบุตรชายต่างบิดา 2 คนคือ "โจว หมิน(周民)" และ "โจว เหว่ย(周伟)"
ปี 1950 หลังจากคลอดบุตรชายคนที่ 2 ไม่นาน โจว เสวียนเริ่มมีอาการทางประสาทจนต้องเข้ารับการรักษา และเสียชีวิตในปี ค.ศ.1957 ด้วยวัยเพียง 37 ปี จากนั้นในปี 2006 เรื่องราวชีวิตโศกซึ้ง หวานปนขมประดุจนิยาย ของ โจว เสวียน ถูกนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ โดยมี จาง ปั๋วจือ(张柏芝) รับบทนำ
เพลง "ซื่อจี้เกอ" หรือ "บทเพลงสี่ฤดู"
《四季歌》
春季到来绿满窗
chun1 ji4 dao4 lai2 lv3 man3 chuang1
ชุนจี้เต้าไหล ลี่ว์หม่านชวง
ถึงวสันตฤดู นอกหน้าต่างล้วนเขียวขจี
大姑娘窗下绣鸳鸯
da4 gu1 niang chuang1 xia4 xiu4 yuan1 yang1
ต้ากูเหนี่ยงชวงซย่าซิ่วยวนยัง
หญิงสาวปักลายเป็ดแมนดารินคู่ ณ ริมหน้าต่าง
忽然一阵无情棒
hu1 ran2 yi1 zhen4 wu2 qing2 bang4
ฮูหรานอีเจิ้นอู๋ฉิงปั้ง
พลันหนึ่งกระบองไร้ไมตรี
打得鸳鸯各一方
da3 de yuan1 yang1 ge4 yi4 fang1
ต่าเตอยวนยังเก้ออี้ฟัง
ฟาดโบยเป็ดแมนดารินแยกไปคนละทาง
夏季到来柳丝长
xia4 ji4 dao4 lai2 liu3 si1 chang2
ซย่าจี้เต้าไหลหลิ่วซือผัง
ถึงคิมหันตฤดู กิ่งหลิวทอดสายยาว
大姑娘漂泊到长江
da4 gu1 niang piao1 bo2 dao4 chang2 jiang1
ต้ากูเหนี่ยงเพียวปั๋วเต้าฉังเจียง
หญิงสาวเร่ร่อนถึงฉังเจียง(แม่น้ำแยงซีเกียง)
江南江北风光好
jiang1 nan2 jiang1 bei3 feng1 guang1 hao3
เจียงหนานเจียงเป่ยเฟิงกวงเห่า
ลุ่มน้ำเหนือ-ใต้ทิวทัศน์งามยิ่ง
怎及青纱起高粱
zen3 ji2 qing1 sha1 qi3 gao1 liang2
เจิ่นจี๋ชิงซาฉี่เกาเหลียง
ฤาจะสู้แพรเขียวของทุ่งเกาเหลียง
秋季到来荷花香
qiu1 ji4 dao4 lai2 he2 hua1 xiang1
ชิวจี้เต้าไหลเหอฮวาเซียง
ถึงสารทฤดู ดอกบัวกรุ่นกลิ่นกำจาย
大姑娘夜夜梦家乡
da4 gu1 niang ye4 ye4 meng4 jia1 xiang1
ต้ากูเหนี่ยงเยี่ยเยี่ยเมิ่งจยาเซียง
หญิงสาวเฝ้าฝันถึงบ้านเกิดทุกคืนค่ำ
醒来不见爹娘面
xing3 lai2 bu2 jian4 die1 niang2 mian4
สิ่งไหลปู๋เจี้ยนเตียเหนียงเมี่ยน
ตื่นลืมตากลับมิอาจพบหน้าบิดรมารดา
只见窗前明月光
zhi3 jian4 chuang1 qian2 ming2 yue4 guang1
จื่อเจี้ยนชวงเฉียนหมิงเย่ว์กวง
เพียงพบแสงจันทราส่องสว่างนอกบานหน้าต่าง
冬季到来雪茫茫
dong1 ji4 dao4 lai2 xue3 mang2 mang2
ตงจี้เต้าไหลเสวี่ยหมังหมัง
ถึงเหมันตฤดู หิมะขาวโพลนสุดสายตา
寒衣做好送情郎
han2 yi1 zuo4 hao3 song4 qing2 lang2
หานอีจั้วเห่าซ่งฉิงหลัง
บรรจงเย็บเสื้อกันหนาวมอบให้ชายคนรัก
血肉筑出长城长
xue4 rou4 zhu4 chu1 chang2 cheng2 chang2
เซวี่ยโร่วจู้ชูฉังเฉิงฉัง
กำแพงเมืองจีนทอดยาวก่อสร้างจากเลือดเนื้อ
侬愿做当年小孟姜
nong2 yuan4 zuo4 dang1 nian2 xiao3 meng4 jiang1
หนงย่วนจั้วตังเหนียนเสี่ยวเมิ่งเจียง
ข้าขอเป็นเช่นดั่ง "สาวเมิ่งเจียง" ในครั้งนั้น
อธิบายศัพท์
大姑娘(da4 gu1 niang3) หมายถึงหญิงสาวที่ยังไม่ได้แต่งงาน /ลูกสาวคนโต
鸳鸯(yuan1 yang1) หมายถึงเป็ดแมนดาริน ซึ่งถือเป็นสัตว์มงคลของจีน เป็นสัญลักษณ์ของความรักเดียวใจเดียว เพราะชาวจีนโบราณเชื่อกันว่าเป็ดแมนดารินเป็นสัตว์ที่มีผัวเดียวเมียเดียวไม่เปลี่ยนคู่จนตัวตาย เมื่อตัวใดตัวหนึ่งตายคู่ของมันก็จะตายตามไปด้วย แม้ว่าต่อมาจะมีการค้นพบว่าจริงๆ แล้วมิได้เป็นเช่นนั้น เพราะเป็ดแมนดารินมิได้ตกตายตามกัน ทว่าชาวจีนก็ยังคงยึดตามธรรมเนียมโบราณ ใช้ภาพเป็ดแมนดารินคู่ เป็นสัญลักษณ์ในวันมงคลอันแสดงถึงคู่รัก
漂泊(piao1 bo2) แปลว่า ร่อนเร่ พเนจร
长江(chang2 jiang1) แปลว่า แม่น้ำแยงซีเกียง(ฉังเจียง)
江南(jiang1 nan2) แปลว่า ดินแดนตอนใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียง
江北(jiang1 bei3) แปลว่า ดินแดนตอนเหนือของแม่น้ำแยงซีเกียง
长城(chang2 cheng2) แปลว่า กำแพงเมืองจีน
侬(nong2) แปลว่า ฉัน(ศัพท์โบราณ)
孟姜(meng4 jiang1) หมายถึง หญิงสาวนาม เมิ่งเจียงหนี่ว์ ซึ่งอยู่ในตำนานเกี่ยวกับการสร้างกำแพงเมืองจีน ซึ่งเล่ากันว่า เมิ่งเจียงหนี่ว์ หญิงชาวบ้านที่ฝ่าลมหนาวมุ่งขึ้นเหนือตามหาสามีรักนามฟ่านสี่เหลียง ผู้ถูกเกณฑ์ไปเป็นแรงงานก่อสร้างกำแพงเมืองหลังแต่งงานได้เพียง 3 วัน การเดินทางครั้งนี้นางหวังเพียงเพื่อจะได้มอบเสื้อกันหนาว ที่ตนเองบรรจงเย็บขึ้น ทว่านางกลับต้องพบกับข่าวร้าย...สามีอันเป็นที่รักของนางนั้นได้เสียชีวิตไป เนื่องจากทนทรมานกับความยากลำบาก และศพก็ถูกฝังอยู่ภายใต้กำแพงเมือง นางร่ำไห้คร่ำครวญน้ำตาแทบเป็นสายเลือดอยู่ 7 วัน 7 คืน (บ้างว่า 3 วัน 3 คืน) จนในที่สุดทำให้กำแพงเมืองยาวหลายร้อยลี้พังทลายลงมาแถบหนึ่งเผยให้เห็นร่างอันไร้วิญญาณของสามี เมื่อนั้นเอง นางจึงตัดสินใจกระโดดเอาศีรษะพุ่งชนกำแพงตายอยู่เคียงสามี ณ ที่แห่งนั้น (บ้างว่ากระโดดน้ำตาย)---อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ "ย้อนรอย 3 ปริศนาแห่ง “มหากาพย์กำแพงหมื่นลี้”"