เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ - หลังจากขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยถูกบดขยี้ย่อยยับเมื่อปี 2532 การกล่าวขวัญถึงการปฏิรูปการเมืองตามแบบโลกตะวันตกก็กลายเป็นสิ่งต้องห้ามบนแผ่นดินจีน ใครขืนละเมิดมีอันต้องถูกลงโทษกันเป็นแถว
ทว่าสำหรับกรณีของนายเวิน จยาเป่า นายกรัฐมนตรีเมืองมังกรคนปัจจุบัน ที่กล้าออกหน้ารณรงค์เรียกร้องเรื่องดังกล่าว ทำไมจึงยังไม่ถูกใบสั่งจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน และมิได้ถูกถอดจากอำนาจเหมือนอย่างที่ผู้นำในอดีตคือนาย หู เย่าปัง และนายเจ้า จื่อหยัง โดนเล่นงานมาแล้ว โทษฐานเรียกร้องเสรีภาพในประเทศ
หลายคนเชื่อว่า ที่รอดตัวได้ เพราะนายเวินจวนจะปลดเกษียณในต้นปี 2556 นี้อยู่แล้ว
แต่นักวิเคราะห์อีกจำนวนหนึ่งกลับมองว่า การที่นายเวินยังรักษาสถานภาพของตนไว้ได้ เป็นปรากฏการณ์สำคัญ ที่ส่งสัญญาณว่า ระบบการเมืองของจีน ซึ่งไม่เคยยอมใจกว้างให้กับผู้มีความเห็นแตกต่าง ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญมานับตั้งแต่ปี 2532 นั่นเอง
การเรียกร้องปฏิรูปการเมืองของนายเวิน ซึ่งล่าสุดปรากฏในสุนทรพจน์ระหว่างเยือนมาเลเซีย และอินโดนีเชียเมื่อเดือนที่แล้ว รวมทั้งการแช้ตทางอินเทอร์เน็ตกับคนหนุ่มสาวในกรุงปักกิ่ง ก่อนหน้าวันเยาวชนจีนเพียง 1 วันนั้น
นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งระบุว่า คือเสียงสะท้อนก้องของเสียง ที่กำลังดังขึ้นทุกทีทั้งจากภายในและภายนอกพรรคคอมมิวนิสต์ ที่เรียกร้องการปฏิรูป โดยมีเจ้าหน้าที่พรรคระดับล่างมากมาย และนักวิชาการในสถานบันนักคิดของรัฐบาลเองเข้าร่วมวงด้วย
ศาสตราจารย์ จัง หมิง ซึ่งสอนรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเหรินหมินชี้ว่า การแสดงความคิดเห็นของนายเวินหลายครั้งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ถูกเซ็นเซอร์นั้น แสดงว่านายเวินคิดแตกต่างจากบรรดาผู้นำระดับสูงคนอื่น ๆภายในพรรค
ประธานาธิบดี หู จิ่นเทา ผู้นำอันดับหนึ่งในคณะกรรมการประจำของกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Politburo StandingCommitee) ปฏิเสธหลายครั้งเรื่องประชาธิปไตยแบบตะวันตกบนแผ่นดินใหญ่
ผู้นำคนอื่น ๆ ก็มีความเห็นคล้ายกันไม่ว่าจะเป็นนาย อู๋ ปังกั๋ว ประธานสภาผู้แทนประชาชน ผู้นำอันดับ 2 รองประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำอันดับ 4 และมองกันว่าเป็นทายาทของประธานาธิบดีหู สำหรับนายเวินนั้นเป็นผู้นำอันดับ 3
นักวิเคราะห์ระบุว่า ในการวิพากษ์วิจารณ์ของนายเวินนั้นได้พูดถึงคน 3 ประเภทในพรรคคอมมิวนิสตฺจีน กลุ่มแรกได้แก่พวกหัวอนุรักษ์ ที่ต่อต้านการปฏิรูป ปฏิเสธทุกอย่างที่จะเป็นภัยต่อการปกครองระบอบสังคมนิยมและระบอบคอมมิวนิสต์ กลุ่มที่ได้สองได้แก่พวกชาตินิยมรุนแรง หรือประกาศตัวว่ารักชาติ ซึ่งปฏิเสธสิ่งใดก็ตาม ที่คล้ายคลึงกับคุณค่าที่โลกตะวันตกยกย่อง และกลุ่มสุดท้ายได้แก่พวกชนชั้นที่กุมอำนาจ ซึ่งกลัวสูญเสียสิทธิพิเศษ ที่เคยได้รับ หากมีการปฏิรูปการเมือง
ศาสตราจารย์ หลิว คัง นักสังเกตการณ์ด้านจีนแห่งมหาวิทยาลัยดุ๊กในสหรัฐฯ ระบุว่า แม้เวินทำได้แต่พูด แต่ก็แสดงถึงความก้าวหน้าด้านประชาธิปไตยในจีน และเจ้าหน้าที่ระดับสูงมีโอกาสแสดงความคิดมากขึ้นในปัจจุบันก็เพราะจีนไม่มีผู้นำซึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จสูงสุดอย่างเหมา เจ๋อตง หรือเติ้ง เสี่ยวเผิงอีกต่อไปแล้ว แต่มติเอกฉันท์จะเกิดขึ้นได้ก็มาจากการเล่นเกมการเมืองของเหล่าผู้นำระดับสูงเท่านั้น
อีกไม่ถึง 2 ปี ก็จะเกิดการเปลี่ยนผ่านอำนาจอีกครั้งภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีน และขณะนี้กำลังมีการยักย้ายอำนาจกันอยู่ข้างหลังฉากของเจ้าหน้าที่ทุกระดับภายในพรรค ซึ่งนักวิเคราะห์ชี้ว่า เป็นสิ่งแตกต่างจากในอดีตสมัยที่ผู้นำสูงสุดของพรรคเป็นผู้ตัดสินทุกสิ่งทุกอย่าง และมีอำนาจบังคับให้เป็นไป
ศาสตราจารย์ จังยกตัวอย่างนาย ปั๋ว ซีไหล เลขาธิการพรรคประจำสาขามหานครฉงชิ่ง ซึ่งมีความเห็นต่างจากพวกผู้นำพรรคคนอื่น ๆ โดยนายปั๋วเป็นตัวแทนของพวกหัวอนุรักษนิยมซ้ายจัด และกำลังเป็นหัวหอกฟื้นฟูวัฒนธรรมการปฏิวัติ และความรุ่งโรจน์ในสมัยเหมา เจ๋อตง
การเคลื่อนไหวของนายปั๋วคืออีกบททดสอบหนึ่งสำหรับการมีบทบาทของเจ้าหน้าที่ในพรรคคอมมิวนิสต์ในยุคที่ไม่มีผู้นำสูงสุดอีกต่อไปแล้ว
“นึ่คือประชาธิปไตยแบบจีน ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมภายใต้ระบบพรรคการเมืองเดียว” ศาสตราจารย์ จังระบุ