ไชน่าเดลี - ผู้เชี่ยวชาญเผย ประชาชนบนแผ่นดินจีนกว่าร้อยละ 60 สู้ไม่ไหวกับราคาอพาร์ทเมนต์ที่แพบลิบลิ่ว เนื่องจากกระแสราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงพุ่งสูงในหลายเมือง
รองศาสตราจารย์หลี่ เอินผิง ประจำสถาบันศึกษาชุมชนเมืองเมืองและสิ่งแวดล้อม สำนักสังคมศาสตร์จีนเผยเมื่อวันพฤหัส (5 พ.ค.) ว่า “แรงงานอพยพของจีนขณะนี้ไม่สามารถซื้ออพาร์ทเมนต์ได้ในหลายหัวเมือง ซึ่งก็เท่ากับบีบให้พวกเขากลับบ้านเกิดเมืองนอนไปสร้างบ้านอยู่ในชนบท”
รศ.หลี่ ปราศรัยในงานเปิดตัว “สมุดปกน้ำเงิน” ซึ่งเป็นหนังสืออ้างอิงเรื่องอสังหาริมทรัพย์ที่รายงานตลาดการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของจีนในแต่ละปี โดยปีนี้นับเป็นปีที่ 8 ที่สำนักสังคมศาสตร์จีนพิมพ์เผยแพร่รายงานฯ ดังกล่าว
หลี่ชี้ว่า “คนเมืองประมาณร้อยละ 30 เป็นเจ้าของอาคารพาณิชย์กว่าร้อยละ 50 บนแผ่นดินจีน และคนร้อยละ 30 ดังกล่าวนี้มีบ้านมากกว่า 1 แห่ง”
ความเสี่ยงจากการลงทุนเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ราคาบ้านในเขตเมืองพุ่งสูงลิบ
สืบเนื่องจากแผนพัฒนาฯ 5 ปี (2011-2015) ของจีน นั้น รัฐบาลกลางเคยลั่นก่อนหน้านี้ว่าจะสร้างบ้านเอื้ออาทรราคาถูกจำนวน 10 ล้านหน่วยภายในปี 2554 เพื่อช่วยให้คนมีรายได้ปานกลางลงไปสามารถซื้อบ้านได้ และกำหนดไว้ที่ 36 ล้านหน่วยภายในปี 2558 ขณะเดียวกันก็พยายามลดความร้อนแรงของตลาดอสังหาริมทรัพย์ด้วย
จากข้อมูลของกระทรวงการเคหะและการพัฒนาเขตเมือง-ชนบทของจีนเผยว่า ทางการจีนตั้งงบประมาณสร้างบ้านเอื้ออาทร 10 ล้านหน่วยภายในปีนี้ไว้ที่ 1.3 ล้านล้านหยวน (197,000 ล้านดอลลาร์) และเพื่อให้ได้งบประมาณตามที่ตั้งไว้ รัฐบาลกลางจับมือรัฐบาลท้องถิ่นเทงบมาก่อน 500,000 ล้านหยวน ส่วนที่เหลือก็รอรับบริจาคจากสถาบันฯ ต่าง ๆ และผู้มีจิตศรัทธาทั่วไป
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ยังคงตกอยู่ภายใต้แรงกดดันในการแบกภาระหาเงินส่วนที่เหลือมาเป็นทุนก่อสร้างอพาร์ทเมนต์ขนาดมหึมาเช่นนั้น
หวัง อี้ว์หลิน รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบาย ภายใต้กระทรวงการเคหะฯ เผยว่า “เงินสนับสนุนฯ ควรมาจากรัฐบาล ธนาคาร และสถาบันต่าง ๆ เป็นหลัก โดยที่รัฐวิสาหกิจภายใต้การควบคุมของรัฐ ควรแสดงบทบาทนำในการลงทุนโครงการก่อสร้างบ้านเอื้ออาทร”
นอกจากนั้น หลี่ หยัง รองผู้อำนวยการสำนักสังคมศาสตร์จีน เผยในวันเดียวกันว่า ประชาชนจีนควรจะหันมาพิจารณาการมีที่อยู่โดยการเช่า มากกว่าจะซื้อขาด “ในประเทศจีนนั้น มีประชาชนที่เช่าที่อยู่อาศัยเพียงร้อยละ 10 ซึ่งน้อยมาก หากเทียบกับสหรัฐฯที่มีการเช่าถึงร้อยละ 38 และเยอรมนีร้อยละ 70”