xs
xsm
sm
md
lg

‘เทพบุตรยาจก’ ในโลกของขอทาน

เผยแพร่:   โดย: สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เทพบุตรยาจก แววตาคม ที่โด่งดังจนเป็นข่าว (ภาพเอเยนซี)
ราวกลางปีที่แล้ว ภาพของ ‘ซีลี่เกอ’ เทพบุตรยาจก โผล่เป็นข่าวเกรียวกราวตามเวบไซต์ต่างๆ ภาพของขอทานสุดหล่อ แววตาคมนี้ ทำให้คนหันมาสนใจชีวิตของขอทานจีนมากขึ้น กระทั่งมีการไล่ติดตามค้นหาชีวประวัติของซีลี่เกออย่างละเอียด กระทั่งค้นพบว่ายาจกผู้มีฉายา ‘ซีลี่เกอ’ (อาเฮียตาคม) นั้นมีนามกรแท้จริงว่า เฉิน กั๋วหรง เป็นแรงงานอพยพที่เข้าสู่เมืองใหญ่ เพื่อสร้างอนาคต ทว่ากลับประสบกับปัญหานานัปการ (เช่นภรรยาถูกรถชนเสียชีวิต ถูกไล่ออกจากงาน) จนต้องผันตัวมาเป็นขอทาน

ความสนใจที่ผู้คนมีต่อขอทานจีน จากปรากฏการณ์เทพบุตรยาจก นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ทว่านอกจากการรับรู้ว่าพวกเขาเป็นใครแล้ว ความรู้ว่าขอทานจีนมองโลก และอาชีพของพวกเขาอย่างไร และเขาสัมพันธ์กับคนอื่นๆอย่างไร นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่งกว่า

โลกของขอทานจากมุมมองขอทาน

แม้ผู้คนจะมองอาชีพขอทานว่าต่ำต้อย แต่สำหรับผู้ที่เข้าสู่วงการ และประกอบอาชีพมาได้นานระดับหนึ่งแล้ว มุมมองที่พวกเขามีต่ออาชีพขอทานกลับแตกต่างออกไป จากการสำรวจของนักวิชาการพบว่า ขอทานในเมืองจำนวนไม่น้อย มองว่าการประกอบอาชีพของพวกเขาเป็น ‘วิชาชีพ’

การสัมภาษณ์ขอทานจีนที่ทำโดยนักหนังสือพิมพ์จีนนาม อี้ว์ ซิ่ว และงานเขียนของนักวิชาการตะวันตกเรื่อง ‘ขอทานในระบบเศรษฐกิจตลาดสังคมนิยม’ (Beggars in the Socialist Market Economy) ให้ภาพที่น่าสนใจว่า ขอทานไม่ได้มองอาชีพของพวกเขาเลวร้ายอย่างที่คนทั่วไปมอง บางคนที่เข้าสู่อาชีพขอทานก็เพราะมองว่าเป็นอาชีพอิสระที่ไม่ต้องทนฟังคำสั่งใคร กล่าวในอีกนัยหนึ่ง การเป็นขอทานในมุมมองของผู้ประกอบอาชีพขอทานคือ การปลดเปลื้องตัวเองออกจากพันธนาการทางสังคม ซึ่งเมื่อต้องแบกรับไว้ก็สร้างภาระให้มากมาย

กรณีของ เฉิน กั๋วหรง ที่อพยพสู่เมืองใหญ่โดยมีภาระที่ต้องแบกรับมากมาย สะท้อนว่าเมื่อเผชิญกับแรงกดดัน และปัญหาอันหนักหน่วง จนไม่สามารถหาทางออกภายในระเบียบกฎเกณฑ์ทางสังคมปกติได้ การเข้าสู่อาชีพขอทานจึงกลายเป็นทางเลือกหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ในแง่อีกมุมหนึ่ง การเข้าสู่อาชีพขอทานก็อาจเป็นเพราะพันธนาการทางสังคมได้เช่นเดียวกัน
คนสนใจมากขนาดมีเวบไซต์เผยแพร่ข้อมูลเชิงลึกมากมาย (ภาพเอเยนซี)
จากการสัมภาษณ์ชีวประวัติขอทานนามหลู ซิ่วเหม่ย โดย อี้ว์ ซิ่ว พบว่า ขอทานสาวแซ่หลู่ เข้าสู่อาชีพขอทานเนื่องจาก สามีของเธอป่วย จนไม่สามารถทำงานได้ แถมยังมีภาระค่ารักษาพยาบาลต้องจ่ายอีก ส่วนลูกสาวก็อยู่ในวัยเรียน จึงย่อมมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นเธอจึงตัดสินจากบ้านเกิดในชนบทเข้าหางานทำในมหานครปักกิ่ง โดยใช้บริการคนบ้านเดียวกันให้เป็นผู้จัดหางานให้ แต่การที่ตลาดแรงงานงานมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ท้ายที่สุดคนบ้านเดียวกันจึงจัดแจงให้ซิ่ว เหม่ยเข้าสู่อาชีพขอทาน เนื่องจากเขามองว่าซิ่วเหม่ยมีหน่วยก้านเหมาะเจาะ

ซิ่วเหม่ยให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อประกอบอาชีพขอทานตัวคนเดียวในเมือง เธอกลับมีอิสระมากกว่าการมีสถานะเป็นแม่บ้านแม่เรือนในสังคมชนบท ขณะเดียวกันเงินทองที่หาได้ ก็มากพอที่จะส่งเสียทางบ้าน และเมื่อคิดคำนวณแล้วรายได้ก็นับว่าสูงกว่าการประกอบอาชีพแรงงานไร้ทักษะอื่นๆ การเป็นขอทานจึงไม่ได้เป็นเรื่องอัปยศอดสูสำหรับเธอ แต่กลับเป็น ‘วิชาชีพ’ ที่เธอสามารถดึงเอาความสามารถในการเรียกความสงสาร ขอเงินบริจาค เพื่อที่จะนำเงินเหล่านี้ส่งกลับไปยังบ้านเกิด เติมเต็มภาระหน้าที่ที่เธอต้องแบกรับในฐานะหัวหน้าครอบครัวจำเป็น

ความสัมพันธ์ภายในโลกขอทาน

กล่าวสำหรับความสัมพันธ์ภายในโลกของขอทานจะพบว่า ในบรรดาขอทานที่ประกอบอาชีพตามเมืองใหญ่ จะมีทั้งผู้ที่ฉายเดี่ยว และสังกัดกลุ่ม ซึ่งส่วนมากแล้ว มักจะมีการสังกัดกลุ่มตามภูมิลำเนา การสังกัดกลุ่มทำให้สมาชิกกลุ่มขอทานได้รับการคุ้มครองจากหัวหน้ากลุ่ม ซึ่งทำหน้าที่ออกหน้าต่อรอง แก้ไขปัญหาให้กับสมาชิก อาทิ ความขัดแย้งในเรื่องการแย่งชิงพื้นที่ขอทานกับกลุ่มอื่นๆ ปัญหากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากนี้ในยามป่วยไข้สมาชิกในกลุ่มก็จะช่วยเหลือโดยการแบ่งเงินที่ได้ให้กับสมาชิกที่เจ็บป่วยจนไม่สามารถออกไปทำงานได้ อย่างไรก็ตาม สมาชิกจะต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กับหัวหน้ากลุ่มเพื่อแลกกับความคุ้มครองดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม สมาชิกกลุ่มขอทานบางคนก็ได้เผยให้เห็นความตึงเครียดว่า การที่ต้องอยู่ใต้สังกัดกลุ่มทำให้เขาต้องเชื่อฟังคำบัญชาและแบ่งรายได้ให้หัวหน้ากลุ่ม ซึ่งทำให้ชีวิตของเขาขาดอิสระ และขอทานที่รวยๆก็มักเป็นระดับพวกหัวหน้า เพราะมีรายได้จากค่าหัวคิวสมาชิกด้วย บางกรณีจะพบว่ามีการรวมกลุ่ม ระหว่างกลุ่มขอทานหลายกลุ่มเป็นกลุ่มใหญ่ โดยมีหัวหน้าคอยกำกับดูแลปัญหาต่างๆ อาทิ ปัญหาการปล้นกันเองระหว่างขอทาน

การสำรวจเผยให้เห็นว่าบรรดาขอทาน ส่วนมากมักรู้สึกเปลี่ยวเหงา ดังนั้นพวกเขาจึงมักรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อคลายความเหงา นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องความมั่นคง บรรดาขอทานมักรู้สึกว่าพวกเขาเป็นปลาเล็ก ในโลกที่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก พวกเขาไม่สามารถไว้วางใจใครที่อยู่นอกสังกัดกลุ่มได้ ดังนั้นการรวมกลุ่มจึงให้ทั้งความมั่นคงทางกายภาพและจิตใจ

จากมุมมองดังกล่าวจะพบว่า ชีวิตของขอทานซึ่งเป็น ‘คนชายขอบ’ ในเมืองใหญ่เป็นชีวิตที่ซับซ้อน และน่าสนใจ ไม่น้อยกว่าชีวิตของชนชั้นกลางในเมือง การทำความเข้าใจชีวิตของคนชายขอบเหล่านี้ จะทำให้เกิดการมองปัญหาต่างๆรอบตัวได้อย่างลึกซึ้งขึ้น กระทั่งนำไปสู่การคิดถึงปัญหาสังคมต่างๆรอบตัวแบบไม่มักง่าย
กำลังโหลดความคิดเห็น