เอเอฟพี - ทางการจีนเปิดเผยผลสรุปด้านเศรษฐกิจวันนี้ (10 เม.ย.) ชี้ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 จีนขาดดุลการค้าเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี อันเนื่องจากราคาสินค้าที่สูงขึ้นส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นด้วย แม้ว่าในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาจีนจะได้เปรียบดุลการค้าขึ้นมาเล็กน้อยก็ตาม
ในไตรมาสแรกของปี 2554 จีนทุบสถิติขาดดุลการค้าในรอบ 7 ปี นับแต่ปี 2547 โดยมียอดรวม 1,020 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่นักวิเคราะห์ชี้ว่า อย่างไรก็ตามจีนจะได้เปรียบดุลการค้าในปีนี้ เพราะการส่งออกของจีนมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงกลางและปลายปีเสมอ
หวัง เถา นักเศรษฐศาสตร์ของยูบีเอส ให้สัมภาษณ์กับดาวโจนส์ นิวส์ไวรส์ ว่า “แม้ปริมาณความต้องการสินค้าในจีนจะเพิ่มมาก แถมราคาสินค้าก็กำลังเพิ่มสูงในขณะนี้ แต่สถานการณ์ก็ไม่ได้เข้าตาจนเสียทีเดียว เพราะว่าการส่งออกของจีนมักจะมาทำยอดขึ้นพรวดพราดในครึ่งหลังของปีเป็นประจำ”
ในไตรมาสแรก ปีนี้ การส่งออกของจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.5 ต่อปี ขณะเดียวกันการนำเข้าก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.6 ต่อปี
กรมศุลกากรจีนเผยในแถลงการณ์ว่า สาเหตุการขาดดุลการค้าไตรมาสแรก เนื่องจากอัตราการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น โดยมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสแรกทุบสถิติสูงสุด กว่า 400,000 ล้านดอลลาร์
สำหรับเดือนมี.ค. 2554 จีนก็กลับลำได้เล็กน้อย เนื่องจากพลิกเกมมาได้เปรียบดุลการค้า 140 ล้านดอลลาร์ หลังจากที่ขาดดุลการค้าในเดือนก.พ. ถึง 7,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยสาเหตุการขาดดุลการค้าในเดือนก.พ. เนื่องจากเป็นเดือนเทศกาลของจีน โรงงานพากันปิดและบรรดาแรงงานเดินทางกลับบ้านในวันตรุษจีนนั่นเอง
การส่งออกในเดือนมี.ค. เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 35.8 จากเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า และเพิ่มจากเดือนก.พ. ปีนี้ ร้อยละ 2.4 ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.3 จากร้อยละ 19.4 ในเดือนก.พ. เนื่องจากราคาวัสดุภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้นจึงส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การได้เปรียบดุลการค้าในเดือนมี.ค. ทำให้บรรดานักวิเคราะห์ประหลาดใจไม่น้อย เนื่องจากโพลสำรวจของนักเศรษฐศาสตร์ 13 คนของดาวโจนส์ ได้ทำนายไว้ดิบดีว่า “ในเดือนมี.ค. 2554 จีนจะขาดดุลการค้าลดลงมาจากเดือนก.พ.มาอยู่ที่ 4,000 ล้านดอลลาร์”
ใน เดือนมี.ค. ปี 2553 จีนขาดดุลการค้า 7,240 ล้านดอลลาร์ เมื่อบรรดาบริษัททั้งหลายแห่ซื้อวัสดุภัณฑ์จากการนำเข้า และต่อมาหลังจากแปรรูปแล้ว สินค้าเหล่านั้นก็ถูกส่งออกไปขาย ทำให้ผลสรุปทั้งปี 2553 จีนได้เปรียบดุลการค้าถึง 183,100 ล้านเหรียญสหรัฐ