เอเอฟพี - เว็บเสิร์ชเอ็นจิ้นยักษ์ใหญ่จีน ไป่ตู้ เผยเมื่อวันพุธ (30 มี.ค.) ว่า ทางเว็บไซต์ได้ลบข้อมูลเกือบ 3 ล้านชิ้นจากห้องสมุดออนไลน์ หลังจากถูกบรรดาบล็อกเกอร์และนักเขียนโจมตีเรื่องปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์
นาย กัว อี๋ก่วง (Kaiser Kuo) โฆษกไป่ตู้ให้สัมภาษณ์เอเอฟพีว่า ไป่ตู้ลบข้อมูลไปแล้วราว 2.8 ล้านชิ้น หลังจากนั้น เอเอฟพีก็เข้าไปตรวจสอบในหน้าเว็บห้องสมุดของไปตู้ หรือ “ไปตู้เหวินคู่” พบว่า เหลือผลงานของนักเขียนไม่ถึง 1,000 ชิ้น ในวันนี้
กัวย้ำว่า “งานนี้ทำให้พนักงานไป่ตู้ทำงาน 3 วันติดต่อแทบไม่ได้หลับได้นอน และก็บอกได้เลยว่า ส่วนที่เหลืออยู่ในเว็บเป็นงานเขียนที่ได้รับอนุญาต และส่วนที่จะอัพโหลดขึ้นไปใหม่ ก็จะตรวจสอบก่อนอย่างระมัดระวัง”
ก่อนหน้านั้น นักเขียนบล็อกชาวจีนกว่า 40 คน รวมทั้งหาน หาน บล็อกเกอร์ชื่อดัง ได้ลงนามในจดหมาย ซึ่งระบุว่า “ไป่ตู้นำผลงานของพวกเขาไปปล่อยให้ดาวน์โหลดโดยไม่เสียเงิน ในหน้าเว็บห้องสมุดของไปตู้ โดยปราศจากการได้รับอนุญาต”
การเจรจาระหว่างไป่ตู้และบรรดานักเขียนล้มเหลวไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่ไป่ตู้ก็ออกมาขอโทษขอโพย และสัญญาว่าจะลบข้อมูลที่ละเมิดลิขสิทธิ์ออกให้หมดภายในสองสามวัน
หน้าเว็บห้องสมุดของไป่ตู้ หรือ “ไปตู้ เหวินคู่” เปิดให้บริการในปี 2552 โดยอนุญาตให้ผู้ใช้สามารถอ่านเอกสารได้อิสระ ทั้งอ่าน แบ่งให้คนอื่นอ่าน หรือโหลด หรือคัดลอกโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผู้อ่านสามารถสั่งซื้อหนังสือออนไลน์ในราคาที่ถูกกว่าราคาหน้าปกได้อีกด้วย
ก่อนหน้านั้นไป่ตู้ได้เรียกร้องให้นักเขียนหรือผู้ตรวจสอบลิขสิทธิ์ หากพบปัญหาเกี่ยวกับเนื้อหาที่โพสต์ในเว็บไป่ตู้เหวินคู่ สามารถแจ้งมาที่ศูนย์รับฟังปัญหาของบริษัทได้ทันที และเนื้อหาเหล่านั้นจะถูกลบภายใน 48 ชั่วโมง
ไปตู้เคยอ้างก่อนหน้านี้ว่า ผู้ที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายคือผู้อัพโหลดข้อมูล แต่บรรดาบล็อกเกอร์ทั้งหลายเห็นว่าไป่ตู้กำลังปัดความรับผิดชอบให้พ้นตัว
จัง หงปัว รองผู้อำนวยการของ สมาคมลิขสิทธิ์งานเขียน (Written Works Copyright Society) ซึ่งเป็นองค์กรที่เชื่อมโยงกับรัฐบาล กล่าวถึงการจัดการกับไป่ตู้ขั้นต่อไปว่า ทางกลุ่มจะรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ และจะยื่นฟ้องร้องทางกฏหมายต่อไป่ตู้
ก่อนหน้าในปลายปี 2552 สมาคมฯ ได้กล่าวหากูเกิล คู่แข่งตัวเอ้ของไป่ตู้ในตลาดสืบค้นข้อมูลออนไลน์ในจีน โดยชี้ว่ากูเกิลได้สแกนหนังสืองานเขียนของนักเขียนจีนเข้าไปไว้ในห้องสมุดออน์ไลน์ของกูเกิล แต่ข้อพิพาทดังกล่าวได้เงียบไป หลังจากที่กูเกิลได้ลดบทบาทในจีนเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่เกิดกรณีกูเกิลวิวาทกับรัฐบาลจีนเรื่องเซ็นเซอร์
อย่างไรก็ตาม กัว ชี้ว่า ขณะนี้ไป่ตู้กำลังหาหนทางทำงานร่วมกับบรรดานักเขียนและบล็อกเกอร์อย่างถูกกฎหมายต่อไป