เอเอฟพี - บล็อกเกอร์ชื่อดังของจีนหลายสิบคน กล่าวโทษเว็บเสิร์ชเอ็นจิ้น “ไป่ตู้” ว่าละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญาพร้อมตราหน้าว่าเป็น “หัวขโมย”
นักเขียนบล็อกชาวจีนกว่า 40 คน รวมทั้งหาน หาน บล็อกเกอร์ชื่อดัง ได้ลงนามในจดหมาย ซึ่งระบุว่า “ไป่ตู้นำผลงานของพวกเขาไปปล่อยให้ดาวโหลดโดยไม่เสียเงิน ในหน้าเว็บห้องสมุดของไปตู้ (ไป่ตู้ เหวินคู่) โดยปราศจากการได้รับอนุญาตจากพวกเขา”
บรรดาบล็อกเกอร์ได้โพสต์ข้อความเป็นร่างจดหมายไว้ในเว็บลิขสิทธิ์งานเขียนของรัฐบาลจีน (CWWCS) เมื่อวันอังคาร (15 มี.ค.) ระบุว่า “ไป่ตู้กลายเป็นบริษัทหัวขโมยไปแล้ว”
ข้อความเขียนว่า “มันขโมยงานของพวกเรา ลิขสิทธิ์ของพวกเรา และในหน้าเว็บไปตู้ เหวินคู่ ก็กลายเป็นแหล่งขายสินค้าเถื่อนที่ไป่ตู้ไปขโมยมา”
หน้าเว็บห้องสมุดของไป่ตู้ หรือ “ไปตู้ เหวินคู่” เปิดให้บริการในปี 2552 โดยอนุญาตให้ผู้ใช้สามารถอ่านเอกสารได้อิสระ ทั้งอ่าน แบ่งให้คนอื่นอ่าน หรือโหลด หรือคัดลอกโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผู้อ่านสามารถสั่งซื้อหนังสือออนไลน์ในราคาที่ถูกกว่าราคาหน้าปกได้อีกด้วย
สถิติของบริษัทไป่ตู้ เผยว่า “ข้อมูลทั้งหมดอัพโหลดโดยผู้ใช้อินเทอร์เน็ต และในเดือนพ.ย. ไป่ตู้ เหวินคู่ ก็มีทั้งหนังสือและเอกสารในคลังกว่า 10 ล้านชิ้น ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนในตลาดเอกสารออนไลน์ของจีนถึง 70 เปอร์เซ็นต์”
ไกเซอร์ กั๋ว โฆษกของไป่ตู้ กล่าวว่า “ไป่ตู้ได้ระงับเอกสารที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และได้ลบเอกสารที่ละเมิดลิขสิทธิ์ไปแล้วนับหมื่นชิ้น ซึ่งเอกสารเหล่านั้น ผู้ใช้เน็ตเป็นผู้อัพโหลดขึ้นเอง”
กั๋ว กล่าวแถลงวันพุธ (16 มี.ค.) ว่า เรา (ไปตู้) ให้สัญญาว่า นักเขียนหรือผู้ที่เห็นปัญหาที่ปรากฏในห้องสมุดไป่ตู้ สามารถแจ้งได้ที่ศูนย์รับแจ้งของไป่ตู้ทันที และเราจะลบข้อมูลที่ละเมิดฯ เหล่านั้นภายใน 48 ชั่วโมง
ไป่ตู้บอกปัดไปว่า “ผู้ที่นำข้อมูลละเมิดลิขสิทธิ์มาอัพโหลดจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบสำหรับค่าปรับ หากเกิดกรณีฟ้องร้องขึ้น”
อย่างไรก็ตาม บล็อกเกอร์ทั้งหลายก็ยืนกรานว่า “ไป่ตู้ ควรจะรับความรับผิดชอบ เพราะได้ประโยชน์จากการอัพโหลด ซึ่งถือเป็นการขยายอิทธิพลของตนเอง ตลอดจนสามารถกำหนดราคาสินค้าในคลัง และเพิ่มผลกำไรอีกด้วย”
บรรดาบล็อกเกอร์เขียนว่า “พวกเราไม่ประณามเพื่อน ๆ ที่อัพโหลดเอกสาร พวกเราประณามเฉพาะปีศาจไป่ตู้เท่านั้น”
ไป่ตู้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เคารพกฎหมายลิขสิทธิ์มานานแล้ว กอปรกับเว็บค้นหาเพลง เอ็มพี 3 ของไป่ตู้ก็มักจะมีลิ้งก์เชื่อมไปยังการดาวโหลดฟรี ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งกำลังถูกวิจารณ์อย่างหนักจากบริษัทค่ายเพลง
เมื่อเดือนที่ผ่านมา สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ได้ขนานนามไป่ตู้ว่า “เป็นตลาดสินค้าปลอมและละเมิดลิขสิทธิ์รายใหญ่ของโลก” ซึ่งจะมีซ่อนลิ้งก์ดาวโหลดไว้ภายใน
ไป่ตู้กินสัดส่วนในตลาดเว็บเสิร์ชในจีนถึง 75 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับกูเกิลที่มีเพียง 19.6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งกูเกิลต้องพ่ายให้กับรัฐบาลจีนเมื่อปีที่ผ่านมา สืบเนื่องกรณีปัญหาการเซ็นเซอร์ประเด็นอ่อนไหวต่าง ๆ ของจีน จนกูเกิลประกาศถอนกิจการออกจากจีน