xs
xsm
sm
md
lg

การลงทุนในจีนต้นทุนสูงขึ้น บริษัทไต้หวันหอบเงินกลับบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอัลเฟรด เฉิน ประธานกลุ่มNamchow Group ยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจภัตตาคาร ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในกรุงไทเป - เอเอฟพี
เอเอฟพี - บริษัทผู้ประกอบการของไต้หวัน ซึ่งเคยพยายามดิ้นรนเข้าไปลงทุนในแผ่นดินใหญ่ ขณะนี้หลายรายได้เบนหัวเรือ กลับสู่เกาะมังกรน้อย แม้ว่าในปัจจุบันโอกาสการเข้าลงทุนบนแดนมังกรใหญ่กำลังมีความสะดวกมากขึ้นก็ตาม

หนานเฉียว กรุ๊ป(Namchow Group/南桥集团)  ยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจภัตตาคาร ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในกรุงไทเป เป็นบริษัทหนึ่ง ที่หันมาส่งเสริมกิจการในไต้หวัน ขณะเดียวกันยังคงกิจการในจีนไว้ โดยนายอัลเฟรด เฉิน ประธานกลุ่มให้เหตุผลว่า เนื่องจากปัจจุบันชาวไต้หวันมีรายได้สูงขึ้น และผู้บริโภคในไต้หวันให้ประสบการณ์ ที่มีประโยชน์ในแง่พฤติกรรมการบริโภค ที่เกิดขึ้นลักษณะใหม่ ๆ

รายได้ของ หนานเฉียว กรุ๊ปเมื่อปีที่แล้ว ราวครึ่งหนึ่งจากทั้งหมด 9,600 ล้านไต้หวัน (325 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) มาจากแผ่นดินใหญ่ ขณะนี้นายเฉินกำลังสร้างอาณาจักรการทำอาหารในไต้หวัน โดยมีชาวจีนและชาวเยอรมัน 2 รายเปิดภัตตาคารในเครือ นอกจากนั้น เขายังมีโครงการเปิดโรงงานผลิตน้ำมันปรุงอาหารในไต้หวันอีกด้วย

ด้าน เจิ้งซินรับเบอร์อินดัวทรี้ (Cheng Shin Rubber Industries /正新橡胶工业 ) บริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์ของไต้หวัน ซึ่งมีโรงงานในจีน, เวียดนาม และไทย ได้ลงทุนจำนวน 10,000 ล้านดอลลาร์ไต้หวันในบ้านตัวเองเมื่อปีที่แล้ว เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตในท้องถิ่น และมีแผนเพิ่มการลงทุนอีก 20,000 ล้านดอลลาร์ไต้หวันในปีหน้า

นับเป็นการเริ่มต้นของแนวโน้ม ที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น โดยบริษัทไต้หวัน ซึ่งมีกิจการส่วนใหญ่อยู่บนแผ่นดินใหญ่ ได้หันมาลงทุนบนเกาะมังกรน้อยเป็นจำนวนถึง 40,900 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน หรือเพิ่มอีก 3 เท่าจากมูลค่าการลงทุนนับตั้งแต่ปี 2550 ขณะที่นักวิเคราะห์ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของไต้หวัน ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเอกชนในกรุงไทเปชี้ว่า ปรากฏสัญญาณหลายประการว่าการลงทุนทำนองนี้กำลังขยายใหญ่มากขึ้น

ปรากฎการณ์ดังกล่าวดูไปก็คล้ายการเล่นตลกของโชคชะตา เพราะเกิดขึ้นในภาวะที่มิตรภาพระหว่างจีนกับไต้หวันกำลังฟื้นฟูด้วยดี และทั้งสองฝ่ายเริ่มขจัดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปีที่แล้วรัฐบาลไต้หวันและจีนได้ลงนามข้อตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างสองฝ่ายที่ครอบคลุมมากที่สุดในรอบ 6 ทศวรรษที่ผ่านมา ขณะที่คาดว่าจะมีการทำข้อตกลงคุ้มครองการลงทุนตามมาในเร็ว ๆ นี้

ในช่วงทศวรรษ 1980 บรรดาบริษัทของไต้หวันเริ่มหอบเงินไปลงทุนในจีน เนื่องจากแรงดึงดูดใจในเรื่องของค่าแรง และที่ดิน ซึ่งมีราคาถูก อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันแม้จีนยังคงดึงดูดเงินลงทุนก้อนโตจากไต้หวัน แต่นักลงทุนก็ระบุว่า บรรยากาศการลงทุนที่นั่นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เช่นต้นทุนค่าแรง ที่พุ่งสูง การออกกฎระเบียบใหม่เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีจากรายได้ธุรกิจ และกฎหมายการทำสัญญาว่าจ้างแรงงาน ที่เงื่อนไขรายละเอียดรุงรังมากกว่าเดิม สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้บริษัทไต้หวันจำนวนมากต้องปิดโรงงานบนแผ่นดินใหญ่

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า บริษัทเหล่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดเล็ก หากกลับมาไต้หวันก็ไม่สามารถแข่งขันได้ เว้นเสียแต่จะสามารถยกระดับเทคโนโลยีอุตสาหกรรมของตนเอง ซึ่งก็เป็นเรื่องยากมาก ดังนั้น ส่วนใหญ่จึงเลือกย้ายการลงทุนไปยังชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือมณฑลในภาคตะวันตกของจีนแทน ซึ่งค่าแรงถูกกว่า เพื่อความอยู่รอด
กำลังโหลดความคิดเห็น