เอเอฟพี - ชาวบ้านในแถบอารามกีรติของทิเบต เล่าให้นักข่าวฟังวานนี้ (17 มี.ค.) ว่า ตำรวจจีนล้อมอารามฯ อย่างแน่นหนา หลังจากมีเหตุพระหนุ่มจุดไฟอัตวินิบาตกรรม ท้ายที่สุดก็มรณภาพที่โรงพยาบาล เหตุการณ์นี้ได้จุดไฟประท้วงให้ลุกโชนขึ้นอีก
กลุ่มนักสิทธิกล่าวถึงเหตุการณ์จุดไฟเผาตัวเมื่อวันพุธ (16 มี.ค.) ในการชุมนุมประท้วงเพื่อรำลึกถึงการต่อต้านรัฐบาลจีนครั้งที่ 3 ใกล้อารามกีรติ ที่เคยเกิดเหตุนองเลือดจากการปราบปรามของรัฐบาลจีนอย่างรุนแรงเมื่อปี 2551
สำนักข่าวซินหวายกคำกล่าวของโฆษกรัฐบาลท้องถิ่น ที่ออกมายืนยันเหตุเผาตัวและมรณภาพของพระหนุ่มฉายา “พันธสก” อายุประมาณ 24 ปี ขณะที่กลุ่มนักสิทธิบอกว่า พระเพิ่งจะอายุ 20-21 ปีเท่านั้น
พนักงานโรงแรมใกล้ ๆ กับวัด ในมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) บอกกับนักข่าวว่า “ตำรวจปิดล้อมถนนบริเวณที่จะเดินไปยังอารามแล้ว”
ชายผู้หนึ่งในย่านนั้นให้สัมภาษณ์ว่า “ผู้คนสามารถเข้าไปข้างในอารามได้ แต่พระจากข้างในห้ามออกมาข้างนอก วานนี้(16 มี.ค.) ร้านรวงต่าง ๆ ริมถนนหยุดกิจการทั้งหมด” พร้อมเสริมว่า เห็นตำรวจทำร้ายชายหนุ่ม 2 คน และภิกษุอีก 1 รูป ในระหว่างการชุมนุมประท้วง
การมรณภาพของภิกษุพันธสก ก่อให้เกิดการรวมตัวของชาวทิเบตประมาณ 500 คน ที่เมืองธรรมศาลา ที่องค์ทะไลลามะ ผู้นำจิตวิญญาณของทิเบตตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นด้วย
เจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นแถลงพร้อมกับฉายภาพพระหนุ่มที่มรณภาพ ประกาศว่า “การมรณภาพและการปราบปรามของรัฐบาลจีนนำมาสู่การส่งเสียงร้องและการสวดมนต์ของฝูงชนเพิ่มขึ้น”
ผู้จัดการประท้วงส่งตัวอย่างแถลงการณ์ของพวกเขาให้กับเอเอฟพี ซึ่งเนื้อหาระบุว่า “ต้องการเตือนรัฐบาลจีนว่า คลื่นกระแสล้มรัฐบาลจากตะวันออกกลางได้มาถึงทิเบตแล้ว”
การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่โค่นล้มรัฐบาลอัล-อาบิดีน เบนอาลี ของตูนีเซียในเดือนม.ค. ก็เริ่มจากพ่อค้าขายผักวัย 26 ปี จุดไฟเผาตัว จนก่อให้เกิดคลื่นกระแสประท้วงไปทั่วภูมิภาค
ภิกษุรูปหนึ่งในอารามทิเบตกล่าวว่า “เมื่อวันพฤหัส (17 มี.ค.) มีตำรวจอยู่นอกอาราม และกล่าวว่าไม่สามารถให้ข้อมูลอะไรไปมากกว่านี้เนื่องจากอยู่ภายใต้การจับตามองของเจ้าหน้าที่จีน”
“ตอนนี้อาตมายังพูดอะไรไม่ได้ ตอนนี้ข้าง ๆ อาตมามีประชาชนอยู่เยอะทีเดียว” ภิกษุโทรศัพท์บอกเอเอฟพี
โฆษกรัฐบาลท้องถิ่นชี้แจงถึงการมรณภาพของพระหนุ่มว่า ตำรวจจีนได้เร่งรุดส่งตัวพระไปยังโรงพยาบาล แต่พระรูปอื่น ๆ ก็ใช้กำลังมาพาตัวเขาไป และซ่อนตัวเขาไว้ในอาราม จนท้ายที่สุดก็สิ้นลม
ขณะที่กลุ่มรณรงค์เพื่อทิเบตสากล (ICT) รายงานว่า เหล่าพระภิกษุกำลังช่วยพระพันธสกจากตำรวจจีนที่เริ่มทำร้ายซ้ำหลังจากจุดไฟเผาตัว และยื้อร่างของภิกษุมาไว้ในอาราม จากนั้นพระในอารามก็นำตัวส่งโรงพยาบาล แต่ต่อมาก็มรณภาพในที่สุด
กลุ่มรณรงค์ฯ ชี้ว่า “จากนั้นภิกษุและพลเมืองทิเบตหลายร้อย จึงเริ่มประท้วงใกล้กับอาราม ซึ่งอยู่ในเขตอาบา อย่างไรก็ตามชาวบ้านละแวกนั้นที่ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีก็ไม่สามารถยืนยันจำนวนของผู้ประท้วงได้
ข้อมูลจากกลุ่มรณรงค์ฯ ชี้อีกว่า ตำรวจกักตัวภิกษุไว้ไม่ทราบจำนวน และปล่อยตัวออกมาแล้ว 7 รูป ซึ่ง 3 ใน 7 เป็นภิกษุที่เคยถูกกักตัวมาแล้วก่อนหน้าการประท้วง และมี 1 รูปที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างหนัก
ความไม่พอใจและต่อต้านรัฐบาลจีนฝังลึกลงในทิเบต
ชาวทิเบตจำนวนมากไม่พอใจเกี่ยวกับการครอบงำจากจีนฮั่น และกล่าวโทษรัฐบาลจีนว่า กำลังจะกลืนกลายวัฒนธรรมทิเบต
ทั้งนี้ ศึกขัดแย้งจีนและชนชาติทิเบตได้ปะทุรุนแรงเป็นจลาจลนองเลือดในเดือนมี.ค. 2551 ที่นครลาซา เมืองเอกของทิเบต และยังขยายวงกว้างไปยังชุมชนทิเบตในมณฑลใกล้เคียง อาทิ มณฑลชิงไห่ โดยจีนเผยข้อมูลผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้นว่ามีเพียง 21 คน ขณะที่กลุ่มทิเบตพลัดถิ่นชี้ว่า มีผู้เสียชีวิตกว่า 200 คนด้วยน้ำมือของกองกำลังจีน หลักจากนั้นผู้ประท้วงชาวทิเบตก็ถูกติดตามจับกุมในภายหลังอีกหลายพันคน
รัฐบาลจีนแถลงว่าได้ใช้งบพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานลงไปในโครงการพัฒนาทิเบตหลายพันล้านดอลลาร์ จนทำให้ทศวรรษที่ผ่านมามาตรฐานการครองชีพของทิเบตขยับขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ตามข้อมูลของกลุ่มรณรงค์ฯ การจุดไฟเผาตัวของพระในอารามกีรตินับเป็นครั้งที่ 2 นับแต่เกิดเหตุนองเลือดเมื่อปี 2551 โดยภิกษุรูปแรกได้ฌาปนกิจตนเองเมื่อปี 2552 แต่รอดชีวิต
เอเอฟพีโทรไปที่เจ้าหน้าที่รัฐและสถานีตำรวจเขตอาบา แต่ติดต่อไม่ได้