เอเยนซี - กระทรวงวัฒนธรรมจีนเปิดทางให้ บ็อบ ดีแลน ศิลปินโฟล์กร็อกระดับตำนานของวงการดนตรีโลก โชว์ฝีไม้ลายมือ ณ กรุงปักกิ่ง ซึ่งนับเป็นการแสดงคอนเสิร์ตบนแดนมังกรครั้งแรกของศิลปินผู้มีสมญาว่า “ราชาเพลงประท้วง”
สื่อรายงาน(13 มี.ค.)ว่า กระทรวงวัฒนธรรมจีนได้อนุมัติให้ บ็อบ ดีแลน นักร้อง นักแต่งเพลงชาวอเมริกันชื่อดัง จัดแสดงคอนเสิร์ตที่กรุงปักกิ่งในช่วง 30 มี.ค.- 12 เม.ย.2554 แต่ยังไม่ได้อนุมัติให้แสดงฯที่เซี่ยงไฮ้
พร้อมระบุ ว่า ราชาเพลงประท้วง(Protest Songs) จะต้องแสดงดนตรีตามโปรแกรมที่วางไว้อย่างเคร่งครัด
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา Gehua-LiveNation บริษัทผู้สนับสนุนการจัดคอนเสิร์ต “50 ปี บ็อบ ดีแลน” เผยว่า บ็อบ ดีแลน ซึ่งจะมีอายุครบ 70 ปี ในเดือนพ.ค.นี้ จะเล่นคอนเสิร์ตภายในยิมเนเซียมแรงงาน ณ กรุงปักกิ่ง วันที่ 6 เม.ย.54 จากนั้นแสดงคอนเสิร์ตต่อที่เซี่ยงไฮ้ แกรน สเตจ ในวันที่ 8 เม.ย.54
สำหรับการแสดงคอนเสิร์ตที่จีน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการตระเวนทัวร์คอนเสิร์ตแถบเอเชียของบ็อบ ดีแลน ซึ่งจะเริ่มต้นที่กรุงไถเป่ย(ไทเป) ไต้หวัน ในวันที่ 3 เม.ย.54 นอกจากนี้ เขายังมีโปรแกรมแสดงคอนเสิร์ตต่อที่ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ อีกทั้งยังมีรายงานอย่างไม่เป็นทางการว่า ดีแลน อาจไปโชว์คอนเสิร์ตที่นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ในวันที่ 10 เม.ย.54
ขณะที่ ในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง จะได้ชมคอนเสิร์ตของบ็อบ ดีแลน ถึง 2 วันเต็มๆ ในวันที่ 12 และ 13 เม.ย.54
ทั้งนี้ เมื่อปีที่ผ่านมา(2553) บ็อบ ดีแลน มีโปรแกรมมาทัวร์คอนเสิร์ตในจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ทว่า เป็นอันต้องยกเลิกไป หลังจากรัฐบาลจีนไม่อนุมัติการแสดงคอนเสิร์ตดังกล่าว โดยผู้จัดคอนเสิร์ตประจำท้องถิ่นเปิดเผยว่ากระทรวงวัฒนธรรมของจีนซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบความเหมาะสมของการแสดงคอนเสิร์ตของเหล่าศิลปินต่างชาติ ได้แสดงความเป็นกังวลต่อภาพลักษณ์ในอดีตของดีแลน ที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของขบวนการ "วัฒนธรรมต่อต้าน"
อนึ่ง บ็อบ ดีแลน หรือชื่อจริงคือ โรเบิร์ต อัลเลน ซิมเมอร์แมน ศิลปินราชาโฟล์กซองเจ้าของฉายาพระเจ้าหัวฟู ซึ่งเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วโลก จากการแต่งเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง สังคม ปรัชญา อันโดดเด่น
ตลอด 5 ทศวรรษที่ผ่านมา บ็อบ ดีแลนได้ฝากผลงานบนถนนสายดนตรีไว้มากกว่า 40 อัลบั้ม สำหรับผลงานเพลงที่โด่งดังส่วนใหญ่อยู่ในช่วงทศวรรษ1960(2503) อาทิ เพลง "Blowin' in the Wind" และ "The Times They Are a-Changin'" ที่เสมือนเพลงชาติของการเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน