เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์—ปัญหาสิ่งแวดล้อมในจีนที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยตรงนั้น เป็นประเด็นที่พูดกันซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นระลอก จนดูเหมือนคลื่นกระทบฝั่งจนไม่มีใครอยากฟังอีก แต่ถึงอย่างไรมันก็เป็นเรื่องจริงที่น่ากลัว ด้านผู้นำจีนเองก็ไม่ได้ปกปิดและนับวันก็ยิ่งร้อนใจ ล่าสุดก่อนที่จีนจะเปิดม่านการประชุมเต็มคณะของผู้แทนประชาชนประจำปีในวันเสาร์ที่ 5 มี.ค.นี้ รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม นาย โจว เซินเสียน ก็เขียนบทความผ่านเว็บไซต์ เตือนภัยสิ่งแวดล้อมด้วยถ้อยคำที่แรงกว่าครั้งใดๆ
เป็นที่รู้กันว่าสิ่งแวดล้อมจีนถูกทำลายย่อยยับจากการพัฒนาเศรษฐกิจด้านเดียวในช่วง 30 กว่าปีมานี้ ทั้งอากาศ แหล่งน้ำ และดิน นาย โจวได้เตือนว่าผลกระทบจากการพัฒนาต่อสิ่งแวดล้อมกำลังทำลายการเติบโตเศรษฐกิจระยะยาว และเสถียรภาพสังคม หากรัฐบาลยังไม่รุดชิงบทบาทในการไฟเขียวความริเริ่มการพัฒนาต่างๆ จัดตั้งระบบใหม่สำหรับการประเมินความเสี่ยงการพัฒนาที่จะส่งผลเสียหายต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“หากรัฐบาลยังอ้อยอิ่งดูดาย ก็จะประสบหายนะกันแน่!” นายโจว ระบุในบทความที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของกระทรวงฯเมื่อวันจันทร์(28 ก.พ.)
“ในประวัติศาสตร์อารยธรรมจีนนับพันปี ไม่มีเคยมีช่วงไหนเลยที่ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติจะเลวร้ายอย่างเช่นในวันนี้แล้ว สิ่งแวดล้อมเน่าเฟะ ทรัพยากรร่อยหรอ ระบบนิเวศยิ่งแย่ลงๆ ปัญหาเหล่านี้กำลังกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม” บทความของนายโจว ระบุ และเผยแพร่ก่อนที่การประชุมเต็มคณะของผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน หรือรัฐสภาจีน เปิดม่านในวันเสาร์นี้(5 มี.ค.)นี้ โดยที่ประชุมมีวาระใหญ่ที่ต้องผ่านประทับตราคือ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะเวลา 5 ปี ฉบับที่ 12 ซึ่งจะดำเนินระหว่างปี 2554-2558
ก่อนหน้าที่รัฐมนตรีโจวเผยแพร่บทความฯดังกล่าว นายกรัฐมนตรีเวิน จยาเป่าก็ได้ประกาศลดเป้าการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี ลงมาที่ระดับ 7 เปอร์เซนต์ จากที่ตั้งเป้าไว้ที่ระดับ 7.5 เปอร์เซนต์ พร้อมชี้ว่าจีนจะต้องปรับเปลี่ยนแนวทางที่มุ่งเน้นการขยายตัวเศรษฐกิจสำคัญเหนือสิ่งใดๆทั้งหมด
“เราจะต้องไม่สังเวยสิ่งแวดล้อมให้แก่การขยายตัวเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วโดยที่ไม่สนใจผลกระทบต่อด้านอื่น เพราะมันเป็นการขยายตัวที่ไม่ยั่งยืน ทั้งก่อให้เกิดการผลิตล้นเกินและการผลาญทรัพยากรอย่างมากมาย” เวิน กล่าวผ่านห้องสนทนาทางอินเทอร์เน็ตเมื่อวันอาทิตย์ (27 ก.พ.)
นายโจวได้เสนอให้มีการพิจารณาปัจจัยอย่างผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาก่อนที่จะอนุมัติการสร้างโรงงานใหม่ โดยรัฐบาลควรประกาศนโยบายออกมารับรองความสำคัญของปัจจัยเหล่านี้อย่างชัดเจน เนื่องจากนโยบายการพัฒนาใดๆนั้นอยู่ในมือหน่วยวางแผนเศรษฐกิจสูงสุดคือ คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและการปฏิรูปแห่งรัฐ (National Development and Reform Commission-NDRC) ที่ไม่ค่อยอยากจะสังเวยการขยายตัวเศรษฐกิจให้แก่การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม
พรรคคอมมิวนิสต์ที่ติดตามเสถียรภาพสังคมอย่างใกล้ชิดมากขึ้นทุกวัน ก็ควรได้ตระหนักถึงการปรับดุลผลประโยชน์ระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับเสียงเรียกร้องของประชาชนที่ต้องการอาหารและน้ำที่ปราศจากสารพิษปนเปื้อน ในไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีรายงานข่าวด้านสิ่งแวดล้อมที่น่าตกใจหลายชิ้น อาทิ ข่าวระดับหมอกควันพิษในกรุงปักกิ่ง และข่าวรายงานการศึกษาที่พบว่า 10 เปอร์เซนต์ของนาข้าวในจีนปนเปื้อนโลหะหนัก
สำนักงานข้อมูลด้านพลังงานแห่งสหรัฐอเมริการะบุว่า จีนแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มขึ้น 32.5 เปอร์เซนต์ ระหว่างปี 2549-2552 และในที่สุดผู้นำมังกรก็ยอมรับเมื่อปีที่แล้วว่าจีนเป็นชาติที่แพร่ก๊าซความร้อนมากที่สุดในโลก และก๊าซความร้อนที่แพร่ออกสู่สิ่งแวดล้อมจีนนั้นส่วนใหญ่มากจากถ่านหิน ซึ่ง 70 เปอร์เซนต์ของแหล่งพลังงานที่จีนใช้อยู่นั้นมาจากถ่านหิน และความกระหายน้ำมันของจีนก็ยิ่งหนักขึ้น
รัฐบาลจีนได้พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการออกมาตรการตัดลดการบริโภคพลังงานต่อหน่วยจีดีพี 40-45 เปอร์เซนต์ ในปี 2563 เทียบกับเมื่อปี 2548 โดยปฏิเสธที่จะจำกัดเพดานการแพร่กระจายความร้อน
ปัญหาใหญ่อีกประการที่ก่อความล้มเหลวในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ก็คือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในมณฑลเขตการปกครองต่างๆมักละเมิดมาตรการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมที่รัฐบาลกลางประกาศออกมาเป็นกฎหมายและนโยบาย การละเมิดฯดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากระบบที่ส่งเสริมการขยายตัวเศรษฐกิจมากกว่าความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็แสดงความเชื่อมั่นว่าพวกเขาสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ในฤดูร้อนปีที่แล้ว นายกฯเวินลั่นวาจาว่า “จะใช้มาตรการเหล็ก” เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศ และไม่กี่เดือนต่อมาในฤดูใบไม้ร่วง โรงงานหลอมเหล็ก โรงงานผลิตซีเมนต์ และโรงงานอื่นๆที่สูบผลาญพลังงาน รวม 2,000 กว่าแห่ง ก็ถูกปิดกิจการไป
“ประเด็นสิ่งแวดล้อมจะมีบทบาทหลักในการปรับแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างการดำเนินแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 12 ซึ่งการดำเนินแผนพัฒนาฯฉบับนี้นับว่าท้าทายมาก เนื่องจากจีนจะถอยออกจากแนวการพึ่งพิงการส่งออกและการลงทุน ไปสู่แนวทางที่ยั่งยืน สมดุล และมั่นคงมากขึ้น” ผู้อำนวยการกองทุนพิทักษ์สิ่งแวดล้อมจีน นาย จัง เจี้ยนอี๋ว์ กล่าว.