xs
xsm
sm
md
lg

จีนเล็งเดินหน้าเขื่อนนู่เจียง ผู้เชี่ยวชาญจีนเบรก ชี้เสี่ยงแผ่นดินถล่ม

เผยแพร่:   โดย: สุรัตน์ ปรีชาธรรม

เทือกเขาโตรกผาแม่น้ำนู่เจียง ที่เป็นแหล่งความหลากหลายทางชีววิทยาชั้นหนึ่งของโลก (ภาพเอเจนซี)
เอเอสทีวีผู้จัดการออน์ไลน์-ในต้นปีนี้ มีรายงานข่าวในจีนเกี่ยวกับการขยับเดินหน้าเขื่อนใหญ่บนแม่น้ำนู่เจียง ซึ่งไหลผ่านดินแดนด้านตะวันตกเฉียงใต้ในมณฑลอวิ๋นหนัน หรือยูนนาน ข่าวชิ้นนี้ได้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาสองคน คือ สีว์ เต้าอี และ ซุน เหวินเผิง เต้นผาง ลุกขึ้นมาเบรกสุดตัว เผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อ ชี้ความเสี่ยงจากการก่อสร้างเขื่อนยักษ์บนลำน้ำนู่เจียง จนในปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาสำนักงานของสีว์ เต้าอี ก็คึกคัก ด้วยมีกลุ่มผู้สื่อข่าวที่มาสัมภาษณ์ผู้เฒ่าสองท่านนี้

การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่บนแม่น้ำนู่เจียงนั้น ไม่เพียงเป็นที่สนใจและวิพากษ์วิจารณ์ในประเทศจีน นานาชาติต่างจับตาการสร้างเขื่อนใหญ่ในบริเวณนี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากความสำคัญอย่างเอกอุของนู่เจียง ซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติที่มีต้นกำเนิดจากที่ราบสูงในทิเบต ไหลผ่านมณฑลอวิ๋นหนัน, พม่า และไทย บริเวณลำน้ำนู่เจียง ยังเป็นเขตที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญที่สุดของโลก เป็นส่วนหนึ่งของ “แดนน้ำสามสาย” ที่องค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแล้ว

องค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมในไทยก็เคยออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านเช่นกัน เพราะการสร้างเขื่อนบนนู่เจียงอาจจะส่งกระทบต่อสายน้ำตอนล่างที่ไหลผ่านพม่า และไทย ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “สาละวิน”
แผนที่แสดงจุดสร้างเขื่อนบนลำน้ำนู่เจียงในข้อเสนอ โดยสัญลักษณ์สีแดงเป็นจุดที่ตั้งเขื่อน สีเขียวเป็นเขตมรดกโลกทางธรรมชาติ (ภาพ เอเจนซี)
จีนได้ประกาศศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่นู่เจียงนี้มาตั้งแต่ปี 2546 และก็ได้กลายเป็นประเด็นร้อนโต้เถียงกันระหว่างกลุ่มที่สนับสนุนและคัดค้านโครงการฯ กลุ่มที่คัดค้านนั้นชี้ว่านู่เจียงเป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพชั้นหนึ่งของโลก และจีนก็ควรที่จะสงวนรักษาสายน้ำที่มีระบบนิเวศน์วิทยาพร้อมมูลที่ไร้เขื่อนแพ้วพานไว้สักสักสายหนึ่ง ส่วนกลุ่มที่สนับสนุนนั้น โครงการเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าบนนู่เจียงจะสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าสูงกว่า สามแสนล้านหยวนในแต่ละปี ทั้งยังสามารถขจัดความยากจนในท้องถิ่น และยังช่วยประเทศชาติลดการพึ่งพิงพลังงานฟอสซิล

มาในปี 2547 ผู้นำรัฐบาลจีนได้พิจารณารายงานการพัฒนาแม่น้ำนู่เจียง และได้ลงความเห็นในเอกสารว่า เนื่องจากโครงการก่อสร้างเขื่อนฯเป็นที่สนใจของสังคมมาก และยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากในด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงควรการมีศึกษาวิจัยอย่างระมัดระวัง ดังนั้นโครงการฯจึงถูกแขวนไว้

ในต้นปีนี้ โครงการฯดังกล่าวถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา โดยสำนักงานพลังงานแห่งรัฐ ได้ออกมาแถลงว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในบริเวณแม่น้ำนู่เจียงจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และยังแสดงความหวังว่าโครงการก่อสร้างเขื่อนบนนู่เจียงจะคืบหน้าระหว่างการดำเนินแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะเวลา 5 ปี ฉบับที่ 12 นี้ (2554-2558)

หลังจากที่มีรายงานข่าวการปัดฝุ่นโครงการพัฒนาเขื่อนพลังงานไฟฟ้าบนนู่เจียง ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สีว์ เต้าอี วัย 77 ปี และซุน เหวินเผิง วัย 78 ปี ก็ได้ออกโรงเป็นทัพหน้าในการคัดค้านการก่อสร้างเขื่อน สีว์ เต้าอี เจ้าหน้าที่รัฐปลดเกษียณ เคยเป็นนักวิจัยของหน่วยเฝ้าระวังแผ่นดินไหวของสำนักงานธรณีวิทยาจีน เขาทำงานในหน่วยพยากรณ์แผ่นดินไหวถึง 40 ปี ปัจจุบันยังเป็นรองผู้อำนวยการของคณะกรรมการข้อมูลเพื่อการพยากรณ์แผ่นดินไหว สีว์ และซุน เป็นเพื่อนนักศึกษาในมหาวิทยาลัย และยังเป็นเพื่อนนักเรียนนอกขณะศึกษาที่มหาวิทยาลัยมอสโค ซุนนั้นเรียนวิชาเอกโครงสร้างธรณีวิทยา หลังจากจบการศึกษาก็ได้ทำงานในสถาบันวิจัยธรณีวิทยาในกรุงปักกิ่งมาโดยตลอด

“บริเวณแดนน้ำสามสายนี้เป็นเขตโครงสร้างใหม่ของเปลือกโลกที่มีการเคลื่อนตัวมากที่สุดในโลก จะมาสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในบริเวณนี้ได้อย่างไร” ซุน เหวินเผิง เต้นผาง

สองผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านแผ่นดินไหวและธรณีวิทยา ได้แจงเหตุผลการคัดค้านฯว่า การก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่บนนู่เจียงมีความเสี่ยงใหญ่สามประการ ได้แก่ เขตนู่เจียงเป็นเขตเคลื่อนไหวโครงสร้างใหม่ของเปลือกโลกที่ยังมีการเคลื่อนตัวอย่างคึกคักที่สุด ดังนั้นจึงมักเกิดแผ่นดินไหวบ่อยๆ ประการที่สอง คือเป็นเขตที่เกิดแผ่นดินถล่มและภัยพิบัติทางธรณีบ่อยมาก ประการที่สาม เมื่อไม่นานมานี้การเคลื่อนไหวของโครงสร้างใหม่ยิ่งมีมากขึ้น ดังนั้นแนวโน้มแผ่นดินไหว และภัยพิบัติทางธรณีก็ยิ่งน่าวิตก

เมื่อสื่อได้เผยแพร่คำแจกแจงดังกล่าว ก็มีผู้คัดค้านว่า แม่น้ำแห่งไหนๆก็ล้วนเกิดขึ้นจากรอยเลื่อนของเปลือกโลก ถ้าไม่สามารถสร้างเขื่อนบนรอยเลื่อน ก็ไม่สามารถสร้างเขื่อนพลังงานไฟฟ้าในที่แห่งใดของโลกได้เลย

ซุน เหวินเผิงโต้กลับไปว่าเคยมีผู้ถามประเด็นนี้กับเขาเช่นกัน นครโตเกียวนั้นตั้งอยู่บนรอยเลื่อน จึงไม่อาจสร้างตึกสูงได้อย่างนั้นหรือ? ในเมื่อนครโตเกียวมีตึกสูงระฟ้าได้ ทำไมนู่เจียงจะมีเขื่อนขนาดใหญ่ไม่ได้?

ซุนตอบว่า รอยเลื่อนตามที่ต่างๆบนนู่เจียงนั้นไม่ใช่รอยเลื่อนธรรมดาทั่วไป โดยประการแรกนั้นมันเป็นรอยเลื่อนที่ยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ ประการต่อมาคือมันเป็นรอยเลื่อนที่เกิดจากการแยกตัวของเปลือกโลกที่ลึกมากๆ ด้วยความพิเศษทางธรณีวิทยาที่พบเห็นได้ยากของนู่เจียงนี้เอง ความเสี่ยงในการสร้างเขื่อนบนลำน้ำแห่งนี้จึงมีมากกว่าที่อื่นๆ “การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่บนลำน้ำนู่เจียงนี้เปรียบดั่งการสร้างเขื่อนยักษ์บนปากกรรไกร นี่มิใช่ความเสี่ยงหรือ” ซุน เหวินเผิง เปรียบ

นอกจากนี้ไม่ว่าเขื่อนจะมีโครงสร้างแข็งแรงเพียงไรก็ตาม ก็ไม่อาจต้านทานการเคลื่อนไหวอย่างแปรปรวนของรอยเลื่อนที่ลึกมากของนู่เจียงได้ และก็ไม่มีใครอาจควบคุมกระแสโคลนไหลดินถล่มขนาดใหญ่ตามสองฝั่งแม่น้ำนู่เจียงที่ปรากฏขึ้นบ่อยๆ และเมื่อมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ก็จะยิ่งทำให้ดินตามชายฝั่งอ่างเก็บน้ำไม่มั่นคง และอาจทำให้เกิดแผ่นดินถล่มเป็นบริเวณกว้างตามมา

ในท้ายที่สุดสองผู้เชี่ยวชาญอาวุโสยืนยันว่าพวกเขาไม่ได้มุ่งแต่คัดค้านเขื่อนลูกเดียว การที่พวกเขาออกโรงชี้ถึงความเสี่ยงนี้ด้วยหวังว่าจะมีการถกเถียงในวงกว้างเกี่ยวกับปัญหาความเสี่ยงด้านแผ่นดินไหวและภัยพิบัติทางธรณี โดยมีผู้เชี่ยวชาญหลายด้านเข้าร่วมในการศึกษาวิจัย และตรวจสอบข้อมูล และถกเถียงกันอย่างจริงจัง.
เทือกเขาโตรกผาแม่น้ำนู่เจียง ที่เป็นแหล่งความหลากหลายทางชีววิทยาชั้นหนึ่งของโลก (ภาพเอเจนซี)
เทือกเขาโตรกผาแม่น้ำนู่เจียง ที่เป็นแหล่งความหลากหลายทางชีววิทยาชั้นหนึ่งของโลก (ภาพเอเจนซี)
เทือกเขาโตรกผาแม่น้ำนู่เจียง ที่เป็นแหล่งความหลากหลายทางชีววิทยาชั้นหนึ่งของโลก (ภาพเอเจนซี)
กำลังโหลดความคิดเห็น