xs
xsm
sm
md
lg

แฉ มังกรโชว์ใหญ่ ใช้อิทธิพลเจ้าหนี้บีบอินทรีเรื่องไต้หวัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครื่องยิงขีปนาวุธแพทริออตของไต้หวัน ใช้งบประมาณในการพัฒนากว่า 27 ล้านดอลลาร์ ซึ่งนอกจากแพทริออตแล้ว สหรัฐฯ ยังขายเฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอล์ก และยุธภัณฑ์สำหรับจรวดต่อต้านเครื่องยิงเอฟ-16 ให้ไต้หวัน แต่ไม่ได้รวมถึงเรือลำน้ำ หรือเครื่องบินขับไล่ (ภาพเอเยนซี)
เอเอฟพี - วิกิลิกส์เผยข้อมูลลับสัมพันธภาพจีน-มะกัน แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นของจีนที่จะใช้ความเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ มาเป็นอิทธิพลทางการเมืองมากดดันอเมริกาทั้งด้านเอกราชไต้หวัน ไปถึงนโยบายการเงินการคลังของวอชิงตัน

อิทธิพลของพญามังกรสืบเนื่องจากการถือครองพันธบัตรเมริกันมูลค่ามหาศาลเกือบ ๆ 900,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น กำลังเป็นที่พูดถึงหนาหูในดินแดนมะกันเอง แต่ครั้งนี้วิกิลีกส์ได้เผยให้เห็นเฉพาะอิทธิพลของจีน และความกังวลของสหรัฐฯ

ในครั้งนี้วิกิลิกส์ เว็บไซต์จอมแฉ ได้เผยข้อมูลเมื่อเดือนต.ค. 2551 ระบุเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของจีนได้เชื่อมโยงคำถามเกี่ยวกับการลงทุนของจีน (ซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ) กับการขายอาวุธให้แก่ไต้หวัน

ในตอนที่สหรัฐฯ กำลังมีปัญหาล้นพ้น จากการล้มละลายของสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่เลห์แมน เมื่อปี 2551 และตามติดมาด้วยปัญหาวิกฤติสภาพคล่อง แต่ทว่า หลิว จยาหวา เจ้าหน้าที่ด้านการจัดการเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของจีน (ในขณะนั้น) ก็สงวนท่าทีเรื่องช่วยซื้อหนี้สหรัฐฯ โดยหลิวได้ยกประเด็นถกเถียงร้อนแรงในอินเทอร์เน็ตมาอ้างว่า “ผู้นำจีนก็ต้องฟังความเห็นประชาชนอย่างถี่ถ้วนก่อนกำหนดนโยบายอะไรก็ตาม เหมือนอย่างในอเมริกาเช่นกัน”

“กรณีที่สหรัฐฯ ประกาศแสดงเจตจำนงขายแพคเกจอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ไต้หวัน ทำให้รัฐบาลจีนประสบความยากลำบากในการอธิบายเรื่องนี้ให้คนจีนรับรู้” หลิว กล่าวหลังจากที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้แจ้งให้สภาคองเกรสรับทราบว่า รัฐบาลได้รับรองการขายอาวุธให้กับไต้หวัน มูลค่า 6,500 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ การไฟเขียวการขายอาวุธแก่ไต้หวันในครั้งนั้นถูกเลื่อนล่าช้ามายาวนาน จนในที่สุดสหรัฐฯ ก็ค่อยๆขายอาวุธให้ไต้หวันโดยที่ไม่มีรายการเครื่องบินขับไล่ เอฟ 16 ที่ไต้หวันร้องขอซื้อมานาน

ไต้หวันและแผ่นดินใหญ่ต่างจัดตั้งรัฐบาลปกครองดินแดนแยกจากกันตั้งแต่สิ้นสุดสงครามกลางเมืองในปี 2492 แต่ผู้นำจีนยังยืนกรานว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน และจะต้องกลับมารวมชาติในที่สุด โดยอาจใช้กำลังถ้าจำเป็น

ในการประชุมระหว่างหลิว กับตัวแทนมะกัน หลิวได้ระมัดระวังถึงผลประโยชน์ของจีนอย่างมาก โดยหลิว ยังคงสงวนท่าทีในเรื่องการลงทุนในสถาบันการเงินสหรัฐฯ แต่ก็ตกลงไปว่าสำนักปริวรรตเงินตราแห่งรัฐของจีน (SAFE) มีความมั่นใจในสถาบันการเงินของสหรัฐฯ เหล่านั้น และจะรับพิจารณาช่วยเหลือสถาบันการเงินสหรัฐฯ ที่มีเฟด หรือหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯให้การรับรอง

เพื่อสร้างความไว้ใจมากขึ้น คู่เจรจาฝ่ายสหรัฐฯ ก็ลั่นว่า รัฐบาลสหรัฐฯ มั่นใจพร้อมรับรองหนี้ของธนาคาร และสามารถแก้ปัญหาความเสี่ยงในระบบการเงินได้

วิกิลีกส์เผยอีกว่า จากเดือน มี.ค. 2552 สหรัฐฯ กังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการถือครองหนี้ของจีน ซึ่งจะส่งผลสะท้อนกลับไปสู่ระบบการเงินสหรัฐฯอย่างแน่นอน

จีนเป็นประเทศที่อุ้มหนี้สหรัฐฯไว้มากสุด ซึ่งถือว่าช่วยเหลือปัญหาด้านการใช้จ่ายของสหรัฐฯ ทั้งนี้จีนเป็นเจ้าหนี้กระทรวงการคลังมะกันเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า นับแต่ปี 2550

และในสัปดาห์หลังจากที่ นายกรัฐมนตรีจีน เวิน จยาเป่า แถลงว่า เขากำลังกังวลเรื่องการอุ้มหนี้สหรัฐฯไว้ สถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงปักกิ่งก็ส่งคำกล่าวของเวิน ไปที่วอชิงตัน เพื่อหวังจะให้วิเคราะห์ว่า “เวินหมายความว่าอย่างไรกันแน่”

ความเห็นของเวินอาจสะท้อนได้ว่า จีนกำลังสังเกตและปรับแก้นโยบายการจัดการเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ของตนอย่างระมัดระวัง ทั้งนี้วิกิลีกส์ระบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ กำลังควานหาความกระจ่างในเรื่องนี้อยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น