เอเยนซี - สื่อต่างประเทศรายงานว่าการเยือนสหรัฐฯ ของ ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ในวันพุธที่ 19 ม.ค. นี้ คือการพบกันเพื่อหาและสลับตำแหน่งมหาอำนาจเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของประวัติศาสตร์โลก
วาระในการเยือนนี้ มีเรื่องที่ยังคงรอการหารือใหญ่ๆ อยู่ หลายเรื่อง โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจของจีนที่กระตุ้นผู้บริโภคและผู้ผลิตในประเทศ ไปจนถึงการตรึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวน ซึ่งเป็นนโยบายที่สหรัฐฯ เห็นว่า ทำให้สหรัฐฯ ตกที่นั่งลำบากยิ่ง
รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ทิโมธี ไกธ์เนอร์ ซึ่งประสบความสำเร็จระดับหนึ่งในการให้จีนปรับค่าเงินหยวนอย่างยืดหยุ่นขึ้นบ้างในปีที่แล้ว ได้กล่าวถึงข้อเสนอโอกาสที่จีนจะเข้าถึงสินค้าไฮเทคของสหรัฐฯ มากขึ้น รวมถึงการลงทุนการค้าอื่นๆ
ทิโมธี ไกธ์เนอร์บอกว่า การปรับค่าเงินหยวนของจีนเป็นเรื่องหนึ่งที่จำเป็น พร้อมกับกล่าวว่า รัฐบาลจีนควบคุมนโยบายการเงินอย่างเข้มงวด ไม่ปล่อยให้กลไกฯ ดังกล่าวทำงานไปตามธรรมชาติของระบบ ซึ่งหากจีนปล่อยเสรีจะทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามกลไก เศรษฐกิจโลกหมุนไปได้ดีขึ้น อีกทั้งโครงสร้างการค้าและระบบการเงินโลกจะมีสมดุลประสานปรองดองทั้งต่อเศรษฐกิจจีนเองด้วย
ผู้สังเกตุการณ์บางคน มองว่าอัตราค่าเงินฯ กลายเป็นสิ่งที่ยืนยันให้เห็นว่าจีนนั้น เติบโตเร็วกว่าที่ซีกตะวันตกคาดการณ์ จนบดบังสกุลเงินสหรัฐฯ และจะยิ่งแข็งแกร่งขึ้นหากผลของการมุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจโดยอาศัยการบริโภคในประเทศ มากกว่าการพึ่งพาภาคส่งออกสินค้าราคาถูกนั้น เริ่มบรรลุเป็นรูปธรรม
ฤา เงินหยวนปลอดภัยที่สุดในโลก
จิม โรเจอร์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท โรเจอร์ โฮลดิ้งส์ กล่าวว่า เวลานี้เงินหยวนของจีน เป็นหนึ่งในสกุลเงินที่มีเสถียรภาพที่สุดในโลก พร้อมกับแนะนำให้นักลงทุนถือครองเงินหยวนไว้ เขายังเสริมว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนขยายตัวอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่อง จีนกำลังเปลี่ยนแปลงโลก และจะยังคงเป็นผู้นำโลกต่อไปในอนาคต
โรเจอร์กล่าวถึงสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐว่า ถูกลดบทบาทเป็นเพียงสกุลเงินทางเลือก เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีหนี้สินสูงสุด และการใช้นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบสองของสหรัฐฯ ด้วยการพิมพ์ธนบัตรจำนวนมากเข้าสู่ระบบนั้น ยิ่งเพิ่มความสาหัสของปัญหา และถือเป็นความผิดพลาด
เจฟฟรีย์ เบิร์กสแตรนด์ ศาสตราจารย์ด้านการเงินจากมหาวิทยาลัย นอร์ทเทอ ดาม กล่าวว่า เป็นความจริงที่ต้องตระหนักว่าแรงเหวี่ยง และแรงดึงดูดของเศรษฐกิจโลกเวลานี้ ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปที่ทวีปเอเชียแล้ว และเรากำลังอยู่ในช่วงสำคัญของประวัติศาสตร์โลก จีนก้าวขึ้นมา และเป็นการก้าวขึ้นมาที่มีนัยยะสำคัญ ยิ่งใหญ่จริงจังกว่าเมื่อครั้งที่ญี่ปุ่นเคยทำได้ตอนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
เบิร์กสแตรนด์ ให้ความเห็นว่า การก้าวขึ้นมาใหญ่อย่างรวดเร็วของจีนอาจจะส่งผลความไม่สมดุลการเงินโลก เพราะหากจีนยังคงไม่สนใจปรับฯ ก็จะทำให้เกิดความเสียหายจากภาวะเงินเฟ้อ ที่ส่งผลในวงกว้างทั้งผู้ผลิตท้องถิ่น วัตถุดิบ จนถึงค่าครองชีพประชาชนทั่วไป
ปรับค่าเงินฯ จุดงัดข้อมหาอำนาจ
มาร์ติน จากส์ ผู้เชี่ยวชาญจีน กล่าวว่า เรื่องค่าเงินหยวนคงเป็นสิ่งที่เปรียบเสมือนการงัดข้อระหว่างสองประเทศ ยังไม่มีใครยอมใคร ทั้งที่เมื่อเทียบกันหนึ่งต่อหนึ่งแล้ว สหรัฐฯ อ่อนล้ากว่าจีนมากนัก จีนลังเลที่จะปรับอัตราแลกเปลี่ยนเพราะคำนึงถึงผลเสียหลายส่วน และมองว่าไม่ใช่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจโลกอย่างที่อีกฝ่ายอ้าง นอกจากนั้น ยังศึกษาประวัติศาสตร์การปรับค่าเงินเยนของญี่ปุ่น ดาวรุ่งเอเชียในอดีตมาอย่างดี ขณะที่สหรัฐฯ ยืนกรานมาตลอดว่าต้องปรับ นี่คือ ธงสำคัญที่ทำให้รู้ว่าเศรษฐกิจโลกตอนนี้ใครใหญ่จริง และดูเหมือนการกดดันจีนคงไม่ใช่วิธีที่ดี โดยเฉพาะในเวลานี้ที่จีนเริ่มเดินสายอุ้มหนี้ยุโรปไว้
ก่อนหน้านี้ บรรดานักวิเคราะห์ก็เคยลงความเห็นกันว่า ถ้าจีนจะทำอะไรก็จะทำเองเมื่อถึงเวลา และด้วยเหตุผลภายในของตนเอง ด้วยวิธีการของตนเอง ไม่ใช่เพราะแรงกดดันภายนอก หรือการตัดสินใจของคนอื่น
ณ วันนี้ หากพิจารณาตามการวิเคราะห์ของบรรดาผู้เชี่ยวชาญฯ และสถานการณ์จริงที่ปรากฎอยู่คงจะยิ่งเห็นชัดแล้วว่า ความต้องการของสหรัฐฯ คงยากเป็นจริง
จากส์ กล่าวว่า สหรัฐฯ อยู่ในภาวะกระอักกระอ่วนใจที่จะยอมรับสถานะป่วยไข้อ่อนแรงทางเศรษฐกิจของตนเองในตอนนี้ ซึ่งอาการทรุดเร็วกว่าที่คาดคิดด้วยซ้ำ แต่กระนั้น บรรดาผู้นำธุรกิจต่างก็พยายามให้เศรษฐกิจค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทรงตัวไปได้อย่างราบรื่น เหมือนการขี่จักรยานที่ไม่สามารถทรงตัวอยู่ได้ หากล้อหยุดหมุน
จอห์น ฟริสเบิล กรรมาธิการการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน กล่าวว่า สองชาติจำเป็นต้องผลักดันธุรกิจไปด้วยกัน เพราะในช่วงที่เป็นหัวเลี้ยวห้วต่อสำคัญของอนาคตโลกนี้ ยังมีปัญหาใหญ่อีกมากรออยู่