xs
xsm
sm
md
lg

จีนสร้างกองทัพไฮ-เทคด้วยงบประมาณที่น้อยลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ - จีนเดินหน้าปฏิรูปกองทัพให้มีขีดความสามารถในการสู้รบทันสมัยภายในปี 2563 แม้งบประมาณด้านกลาโหมอาจได้ไม่ถึงร้อยละ 10 ต่อปีภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของจีนระยะ 5 ปีฉบับหน้า

เมื่อเดือนที่แล้ว กองทัพจีนได้เผยแพร่ภาพถ่ายเที่ยวบินแรกของเครื่องบิน “J-20” ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่สเตลท์รุ่นที่5 ต้นแบบ ซึ่งจีนพัฒนาขึ้น แม้คาดกันว่าคงอีกนานกว่าที่จีนจะผลิตเครื่องบินรุ่นนี้ แต่การเผยแพร่ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจีนตั้งเป้าหมายพัฒนาด้านเทคโนโลยีการทหารไว้สูงเพียงไร

แผนการพัฒนากองทัพจีนให้ทันสมัยภายในปี 2563 กำหนดโดยคณะกรรมการกลางด้านการทหารเมื่อปี 2549 ซึ่งรวมทั้งการเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมด้านการป้องกันประเทศ ในการผลิตนวัตกรรมด้านอาวุธยุทโธปกรณ์

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่จีนระบุว่า การบรรลุตามเป้าหมายนี้ดำเนินการภายใต้งบประมาณกลาโหม ที่ได้รับเพิ่มน้อยลงจากที่เคยได้รับงบประมาณโดยเฉลี่ยเพิ่มเป็นตัวเลข 2 หลัก เกือบร้อยละ 15 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่งบประมาณกลาโหมของจีนเมื่อปีที่แล้วเพิ่มเพียงร้อยละ 7.5

นายซู กวนอี้ว์ นักวิจัยอาวุโสของสมาคมควบคุมและปลดอาวุธแห่งจีน (China Arms Control and Disarmament Association) ในกรุงปักกิ่งคาดว่า การเพิ่มงบประมาณกลาโหมของจีนจะดำเนินไปทำนองเดียวกับการเติบโตของจีดีพีในช่วง 5 ปีข้างหน้า ซึ่งคาดว่าจะไม่เกินกว่าร้อยละ 10

นอกจากนั้น เขาระบุว่า กองกำลังภาคพื้นดิน ซึ่งปัจจุบันมีร้อยละ 60 ของกำลังพลทั้งหมดในกองทัพจะตัดลงเหลือร้อยละ 50 ขณะที่กองกำลังทางอากาศและทางเรือจะเพิ่มเป็นร้อยละ 25

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลหลายชาติเชื่อว่าแท้จริงแล้วจีนจัดสรรงบประมาณสูงกว่าตัวเลข ที่เผยแพร่ออกมา

ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี (2554-2558) ฉบับที่ 12 ของจีนระบุภารกิจหลักสำคัญ 7 ประการแรกในการพัฒนากองทัพแดนมังกรได้แก่

- พัฒนาการวิจัยและพัฒนาด้านอาวุธ
- เสริมสร้างขีดความสามารถของอุตสาหกรรรมด้านการทหาร
- เร่งการพัฒนาคิดค้นนวัตกรรม
- เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตอาวุธ
- บูรณาการงานวิจัยและพัฒนาของทหารและพลเรือนเข้าด้วยกัน
- ขยายความร่วมมือในระดับโลก
- เสริมสร้างแหล่งคิดค้นและพัฒนาสำหรับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทหาร

ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า การบูรณาการงานวิจัยและพัฒนาของทหารและพลเรือนเข้าด้วยกันของจีนนั้นจะกระทำมากน้อยแค่ไหน โดยผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่า จีนคงไม่ลอกรูปแบบของชาติตะวันตกมาทั้งหมด

ศาสตราจารย์ เฉิง ไท่หมิง ผู้เชี่ยวชาญด้านกองทัพจีนแห่งโรงเรียนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการศึกษาด้านแปซิฟิกของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก้ มองว่า แนวคิดในการส่งเสริมให้บริษัทพลเรือนมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ก็เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีของพลเรือนมีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพด้านต้นทุนมากกว่าอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ ที่มีแต่เดิม โดยเฉพาะในภาคที่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เช่นเทคโนโลยีสารสนเทศ, อิเล็กทรอนิกส์ และการคมนาคมสื่อสาร

อย่างไรก็ตาม นายซู แห่งสมาคมควบคุมและปลดอาวุธแห่งจีนชี้ว่า สำหรับจีนแล้ว บริษัทด้านการป้องกันประเทศของพลเรือนจะไม่พัฒนาไปถึงระดับเดียวกับบริษัทล็อกฮีด มาร์ติน และบริษัทโบอิ้งของสหรัฐฯ โดยบริษัทของรัฐบาลจะยังคงเป็นเสาหลักของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศอยู่

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา บริษัทพลเรือนของจีนมีบทบาทในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กองทัพ โดยในปี2547 ยานยนต์หุ้มเกราะ “นิว สตาร์” ซึ่งคิดค้นและผลิตโดยบริษัทเอกชนเป่าจี, มณฑลส่านซี สามารถเอาชนะบริษัทผู้ผลิตของรัฐบาลคู่แข่ง 4 บริษัท โดยได้รับเลือกจากกองทัพจีนให้นำไปใช้ในปฏิบัติการรักษาสันติภาพของกองทหารจีนภายใต้สหประชาชาติ

ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปีฉบับหน้า ยังคาดด้วยว่า จีนจะส่งเสริมให้บริษัทด้านการทหารของรัฐขยายส่วนแบ่งในตลาดต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ เฉิงชี้ว่า อุปกรณ์ของจีนยังสู้ของสหรัฐฯ ไม่ได้ ทั้งด้านคุณภาพและความทันสมัยด้านเทคโนโลยี

ทั้งนี้ รายงานล่าสุดของศูนย์เพื่อการวิเคราะห์การค้าอาวุธโลกของรัสเซียระบุว่า สหรัฐฯ ครองอันดับ 1 และรัสเซียครองอันดับ 2 ในการส่งออกอาวุธเมื่อปีที่แล้ว ส่วนจีนติดอันดับ 9 โดยมีมูลค่าส่งออกอาวุธ 1.87 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น