xs
xsm
sm
md
lg

แตกฉาน 6 ศิลป์จีนโบราณ เป็นผู้เลิศแห่งแผ่นดินมังกร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไชน่าเดลี - ผู้ปกครองหลายคนส่งลูกหลานไปเรียนศิลปะตะวันตก บ้างก็เรียนดนตรี บ้างก็เรียนภาษา ฯลฯ วันนี้มุมจีนขอเสนอวัฒนธรรมจีนสมัยโบราณที่นักเรียนจีนจะต้องเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง นั่นคือ แก่นแห่งศิลป์และหลักการใช้ชีวิตหกประการ ภาษาจีนเรียกว่า “ลิ่วอี้” (六艺) อันได้แก่ รีต ดนตรี การยิงธนู ขับรถม้า คัดลายมือ และการคำนวณ
(ภาพไชน่าเดลี่)
ประการแรก คนจีนโบราณดำเนินชีวิตตามหลักการของขงจื่อ คือปฏิบัติตาม “รีต” (หลี่ 礼) โดยเชื่อว่าทุกคนต้องทำหน้าที่ของตน กษัตริย์ทำหน้าที่กษัตริย์ บิดาทำหน้าที่บิดา มารดาทำหน้าที่มารดา บุตรทำหน้าที่บุตร นักเรียนก็ควรตั้งใจเรียน หากทุกคนทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แล้ว ประเทศชาติก็จะสงบสุขก้าวหน้า ไร้ซึ่งสงครามและความแตกแยก ดังนั้นเมื่อมนุษย์รู้ว่าตนอยู่ในสถานะอะไรก็จะรู้จักวางตนให้เหมาะสม เช่น ผู้เป็นบุตรกตัญญูต่อบิดามารดา พลทหารรับฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ฯ สิ่งเหล่านี้จึงนำมาซึ่งแบบแผนการปฏิบัติในราชสำนัก และเกิดเป็นมารยาททั่วไป อาทิ ระเบียบการเข้าเฝ้า พิธีบวงสรวงฟ้าดิน เป็นต้น
(ภาพไชน่าเดลี่)
นอกจากนั้นแล้ว เพื่อให้จิตใจเข้าถึงความละเอียดอ่อน คนจีนจะศึกษาดนตรีกวีกานท์ (เย่ว์ 乐) ครั้งหนึ่งขงจื่อเคยกล่าวไว้ว่า “การศึกษา ควรจะเริ่มจากบทกวี สอนระเบียบแบบแผน และจบด้วยบทกวี” จากคำกล่าว จึงอนุมานได้ว่า มนุษย์จะไม่สามารถเรียนรู้ได้เลย หากไม่เรียนรู้บทกวีและดนตรี ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเมื่อการสอบจอหงวนของจีน บัณฑิตจะต้องเรียนรู้และท่องจำบทกวีจำนวนมาก
(ภาพไชน่าเดลี่)
ย้อนสมัยไปสู่ราชวงศ์ซัง (ศตวรรษที่ 17-11 ก่อนค.ศ.) ราชวงศ์โจวตะวันตก (ศตวรรษที่11 - 771 ปี ก่อนคริสตกาล) และยุคชุนชิว จั้นกั๋ว (770-221 ปี ก่อนค.ศ.) ซึ่งเต็มไปด้วยการรบพุ่ง ดังนั้นการยิงธนู (เซ่อ 射) ถือเป็นอีกหนึ่งศิลปะที่ต้องเรียนรู้ สำหรับบุรุษ โดยต้องเรียนรู้ทั้งการยิงธนูและมารยาทที่เกี่ยวข้อง ไม่เพียงถูกฝึกให้มีทักษะชำนาญสงครามเท่านั้น ที่สำคัญพวกเขายังได้เก็บเกี่ยววิถีของการเป็นผู้ดีในระหว่างการเรียนรู้อีกด้วย ศิลปะการยิงธนูจึงจัดเป็นศิลปะชั้นสูงสำหรับผู้ดีจีนโบราณเท่านั้น
(ภาพไชน่าเดลี่)
ศิลปะที่สำคัญอีกประการคือ การเป็นสารถีบังคับรถม้า (อี้ว์ 御) ซึ่งต้องผ่านการฝึกฝนมาดี ศิลปะชนิดนี้อาศัยทั้งความเฉลียวฉลาดและร่างกายที่ทรงพลัง
(ภาพไชน่าเดลี่)
สำหรับสองศิลปะสุดท้ายอันได้แก่การคัดลายมือ การประพันธ์ (ซู 书) และการคิดคำนวณ (ซู่ 数) มีผลช่วยขัดเกลาจิตใจของผู้เรียน การคัดลายมือทำให้นักเรียนลดความก้าวร้าวและขัดเกลาจิตใจที่หยาบกระด้าง ขณะที่คณิตศาสตร์ช่วยให้สมองรวดเร็วคล่องแคล่ว

---

ใครที่ชำนาญศิลปะจีนทั้งหกนี้ ถือว่าเป็นผู้เลิศของประเทศจีนในสมัยโบราณอย่างแท้จริง โดยศิลปะทั้งหก มีรากฐานจากปรัชญาขงจื่อเป็นหลัก ซึ่งได้วางระเบียบการพัฒนาทั้งจิตใจ การศึกษา วิชาการ พละศึกษา มารยาททางสังคม อย่างครบถ้วนและแยบคาย
กำลังโหลดความคิดเห็น